ทีมข่าว นปช.
26 สิงหาคม 2556
บรรยากาศในช่วงเช้าหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ ท่านวราเทพ รัตนากร รอต้อนรับแขกผู้มาเข้าร่วมในครั้งนี้
เมื่อวานนี้(25 สิงหาคม) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการเปิดเวที "เดินหน้าปฏิรูปประเทศ พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน" นัดแรก โดยมีบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพและกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าร่วม 70 คน ประกอบด้วยอดีตนายกฯ อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตประธานและรองประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมือง ตัวแทนเครือข่าย และกลุ่มการเมือง ได้แก่ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภาคธุรกิจเอกชน ตัวแทนสื่อมวลชน ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์วงจรปิดให้สื่อมวลชนทำข่าวและสังเกตการณ์ตลอดการหารือ อีกห้องหนึ่ง
ในช่วงเช้า อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ก่อนเข้าร่วมประชุมเวทีปฎิรูปการเมืองหาทางออกประเทศไทย ว่า ตนคิดว่าประชาชนคงจะมีความสุขที่มีการประชุมแบบนี้จึงเป็นเหตุผลให้ความร่วมมือ ซึ่งสังคมไทยต้องมาตั้งเป้าหมายว่าคนอยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหน ถ้าหากมีภาพที่ตรงกันแล้ว จะเดินไปอย่างไร ต่อไปให้ถึงเป้าหมายเพราะฉะนั้น ความหวังที่จะเห็นว่าภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเห็นตรงกัน หรือถึงแม้ว่าความเชื่อจะต่างกัน ก็ยังสามารถพูดคุยกันได้ ทั้งนี้เมื่อมองที่เป้าหมายแล้วไม่น่าจะมีความแตกต่างกัน และนปช.ก็ไม่ได้เห็นต่าง เพราะนปช.ก็ต้องการประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อเป้าหมายตรงกันก็อยู่ที่ว่าจะเดินไปอย่างไร เมื่อเริ่มที่จุดนี้ก็จะสามารถพูดคุยต่อไปได้
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้าร่วมพุดคุยจะทำให้การประชุมมีปัญหาหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า ไม่เป็นไร เพราะการประชุมเปิดเผยอยู่ ประชาชนทั้งหมดจะได้เรียนรู้ และประชาชนทั้งประเทศได้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งถ้าเวทีนี้สามารถเสนอความคิดเห็นนี้ที่ดี และประชาชนยอมรับ คงไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับพรรคประชาธิปัตย์
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนมาในฐานะประชาชนจำนวนหนึ่งที่เป็นรากหญ้า ตนขอทำหน้าที่ประชาชน คนอาจจะบอกว่า นปช.ต้องสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ นปช.ต้องการให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยที่สมบรูณ์ หลายคนคงสงสัยว่า กลุ่มนั้นยุติการเคลื่อนไหวแล้ว นปช.จะยุติหรือไม่ เป้าหมายของ นปช.ชัดเจนว่าจะยุติการเคลื่อนไหวต่อเมื่อยุติการรัฐประหารทุกรูปแบบ ความไม่เชื่อมั่นต่อเวทีนี้มี แม้รัฐบาลนี้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ความขัดแย้งในประเทศไทยร้าวลึก ตนมาเพื่ออยากให้เวทีนี้ได้ผลมีการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง ตนต้องการให้การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและได้รับรู้ทั่วประเทศ
อ.ธิดากล่าวอีกว่า ตนอยากให้เวทีปฏิรูปการเมืองเป็นวาระของประชาชนทั้งประเทศ เป็นเวทีของประเทศไทย มีการเรียนรู้ใช้ความรู้และสติปัญญามากกว่าการมาต่อรองเพื่อถอยคนละก้าว คนไทยมีธาตุดีในตัว ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ หรือมวลชนรากฐาน เวทีปฏิรูปควรเริ่มที่เป้าหมายประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สังคมจะเป็นอย่างไร เพราะทุกอย่างมีผลต่อกันและกัน เราอาจมีโมเดลการเมืองที่ดี แต่ผลักดันไม่ได้ เพราะสังคมยังไม่พร้อมที่จะผลักดันให้เป็นไปได้
อ.ธิดากล่าวอีกว่า เราต้องการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อำนาจเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง เป็นการเมืองการปกครองที่เป็นสากล รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อาจมีบัญญัติเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีความเสมอภาค ชนชั้นนำในสังคมชอบพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่เคยพูดถึงความเสมอภาค ประชาชนต้องการความเสมอภาคทางการเมือง ส่วนด้านเศรษฐกิจควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนในสังคมเราต้องการอุดมการณ์เสรีนิยมที่ทุกคนมีความเชื่อต่างกันได้ แต่อยู่ร่วมกันได้ด้วยเหตุผล ซึ่งการปฏิรูปการเมืองคงหนีไม่พ้นเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกติกาสูงสุดทางการเมือง รวมถึงกฎหมายและกลไกความยุติธรรม เรื่องเศรษฐกิจ เราคงต้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลทำไปส่วนหนึ่ง
สำหรับกระบวนการปฏิรูปสังคมเรายึดถือหลักการส่งเสริมความเสมอภาคตามอุดมการณ์เสรีนิยมรากฐานเศรษฐกิจปัจจุบันขัดแย้งกับโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงทางออกของประเทศ ความขัดแย้งของประเทศต้องออกจากวาทะกรรมทั้งระบออบทักษิณแลทุกเรื่อง ส่วนกลุ่มคนเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชั้นน้ำที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับคนส่วนใหญ่ถ้าความแตกต่างเดินไปด้วยกันได้จะไปยังเป้าหมายประเทศไทยที่เจริญที่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง
เอกสารประกอบการบรรยาย
1.การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมั่นคงแข็งแรง
2.มีความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามสิทธิที่แต่ละกลุ่มควรได้รับ
3.มีกลไกการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลัก ธรรมาภิบาลที่ดี
4.สร้างกระบวนการให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่ละกลุ่มในสังคมควรได้รับ ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม
5.มีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย
6.สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และบรรยากาศที่ดีของการไว้วางใจกัน และ
7.ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมบนความถูกต้อง
นายกฯ กล่าวว่า ยังให้ยึดแนวทางการปฏิบัติโดยรวบรวมผลงานการศึกษาจากทุกหน่วยงานที่เสนอมาเพื่อให้เกิดการตกผลึก หัวข้อใดไม่มีความขัดแย้งทุกฝ่ายเห็นตรงกันให้ดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาไม่ได้ข้อสรุปมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแล และต้องศึกษาปัญหารากเหง้า ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยมอบหมายให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรฯ ดูแล
ท่านนายกยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังให้กำหนดแผนโรดแม็ปปฏิรูปประเทศ ทั้งการปฏิรูปการเมืองให้ครอบคลุมการเมือง การปกครอง การบริหารส่วนท้องถิ่น ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ควบคู่กับการปฏิรูปการเมือง ควบคู่กับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่ต้องดำเนินการตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันรองรับประชาคมอาเซียน และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน และการปฏิรูปสังคม สร้างจริยธรรม วัฒนธรรม รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมและศาสนา แต่ละด้านจะต้องกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยาว