'มาร์ค'เบิกความคดี'ฮิโรยูกิ' ศอฉ.อนุญาตให้ใช้ปืน และกระสุนหลายแสนนัด

ข่าวสด 7 สิงหาคม 2556


 'มาร์ค' เป็นพยานเบิกความไต่สวนคดี 'ฮิโรยูกิ' อ้างชุดดำยิงทหารและประชาชน ยกรายงาน 'กก.สิทธิฯ' ยันผู้ตายไม่ได้ถูกกระสุนที่ใช้ในราชการ มารู้ภายหลัง ศอฉ.อนุญาตให้ใช้ปืน และกระสุนหลายแสนนัด 

ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมนปช. ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 โดยอัยการนำพยานขึ้นเบิกความ 1 ปาก คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ 


นายอภิสิทธิ์เบิกความโดยสรุปว่า ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ รัฐบาลกำหนดนโยบายและมีแนวทางว่าจะคลี่คลายสถานการณ์โดยไม่เข้าไปสลายการชุมนุม และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยใช้มาตรฐานตามหลักสากล เริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก พยานไม่ได้เป็นกรรมการของศอฉ. แต่จะเข้าไปฟังสรุปรายงานสถานการณ์เวลาที่มีการประชุม เพื่อรับทราบสถานการณ์เป็นครั้งคราว ในวันที่ 10 เม.ย. พยานติดตามสถาน การณ์ว่าทหารปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การจราจรตามแนวถนนราชดำเนิน ไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตั้งแต่ถนนดินสอ ไปจนถึงถนนประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดอาวุธ 



อ้าง'ชุดดำ'ยิงทหาร-ผู้ชุมนุม 


นายอภิสิทธิ์เบิกความว่า กระทั่งช่วงค่ำ ขณะเจ้าหน้าที่เตรียมถอยร่น เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในช่วงกลางคืนตามหลักสากล ก็เกิดเหตุระเบิดเข้ามาโดนทหารที่เข้าไปปฏิบัติการ เช่น พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปว่าน่าจะเป็นการวางแผนฆาตกรรม โดยหลังจากนั้นมีความพยายามจะนำเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บออกจากในพื้นที่ แต่ถูกปิดล้อมโดยกลุ่มผู้ชุมนุม จึงเกิดเหตุปะทะกัน ทำให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกรณีนายฮิโรยูกิ 

อดีตนายกฯ เบิกความต่อว่า ในวันถัดมาพยานทราบข่าวจากรายงานของศอฉ. และสื่อมวลชนว่านายฮิโรยูกิ เสียชีวิต และนายวสันต์ถูกยิงเสียชีวิตขณะถือธง โดยไม่ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของผู้ตายที่ 3 และหลังจากนั้นยังทราบจากสื่อ และรายงานของศอฉ.อีกว่ามีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่าชายชุดดำมีอาวุธปืน และระเบิดเข้ามายิงใส่ทหารและประชาชน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยการปฏิบัติการของชายชุดดำจะแอบแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเรื่องที่พยานได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการหลายชุดที่ตั้งขึ้น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และจากบันทึกจากคำสอบ สวนพบว่ามีกองกำลังเข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งใกล้โรงเรียนสตรีวิทยา ตั้งแต่ช่วงเย็น วันที่ 10 เม.ย.



ยกรายงานกก.สิทธิฯยืนยัน 

พยานเบิกความอีกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ รายงานว่ากรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกินั้น มีผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ากระสุนที่ใช้ยิงไม่ใช่กระสุนที่ใช้ในราชการ ส่วนการหาทิศทางกระสุนสามารถทำได้ยาก เนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งของนายฮิโรยูกิ นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่าการ์ดความจำภายในกล้องถ่ายรูปของนายฮิโรยูกิหายไป แต่ต่อมาได้คืนจากผู้ชุมนุม แต่พบว่ามีการลบภาพเหตุการณ์ก่อนที่นายฮิโรยูกิจะเสียชีวิตออกไป 


นายอภิสิทธิ์เบิกความว่า พยานไม่ทราบรายละเอียดในวิธีปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ว่ามีการใช้อาวุธอะไร ในช่วงเวลาใดบ้าง และไม่ทราบว่าใช้กำลังทหาร 10 กองร้อย และอาวุธหรือไม่ รวมถึงไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมดในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสากลจากเบาไปหาหนักหรือไม่ ในกรณีที่การชุมนุมปราศจากอาวุธ แต่พยานเชื่อว่าหากในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่สงบ และไม่ปราศจากอาวุธ พนักงานสามารถใช้อาวุธเพื่อป้องกันชีวิต และทรัพย์สิน ของตัวเองและประชาชนได้เท่าที่จำเป็น โดยปฏิบัติตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ตามที่คำสั่งศอฉ.ได้ระบุไว้



ใช้กระสุนจริงหลายแสนนัด 

นายอภิสิทธิ์เบิกความอีกว่า พยานไม่ได้เข้าประชุมกับศอฉ. แต่ทราบรายงานเป็นระยะที่ศูนย์บัญชาการศอฉ. และทราบภายหลังว่าศอฉ.อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนและกระสุน และทราบว่ามีการเบิกใช้กระสุนจริงหลายแสนนัด แต่ไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการถึงเรื่องดังกล่าว และพยานไม่เชื่อว่าการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เม.ย.2553 จะสามารถทำได้โดยไม่ใช้กำลังทหาร


พยานเบิกความต่อว่า หลังจากเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ แต่ร่องรอยการยิงจะมาจากแยกสะพานวันชาติ มุ่งหน้ามายังวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ และไม่สามารถสรุปได้ว่าวิถีกระสุนของนายวสันต์ และนายฮิโรยูกิมาจากฝั่งทหารหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้ จากรายงานของคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ระบุวิธีการสืบสวนไว้ว่ามีการดำเนินการสอบสวนอย่างไรบ้าง


'เทือก'เลื่อนเบิกความศาล 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 15 พ.ย. เนื่องจากนายสุเทพ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ. ในฐานะพยานที่มีกำหนดเข้าเบิกความในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ไม่สามารถมาได้ โดยนายสุเทพแจ้งว่าติดภารกิจ ศาลจึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 15 พ.ย. แต่ยังไม่ทราบว่าใครจะมาเป็นพยานเบิกความในวันดังกล่าว

ส่วนนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ภายหลังเบิกความว่า มาเบิกความเป็นพยาน ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เป็นการเบิกความตามความเป็นจริง เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้เขียนเช่นนั้น เพียงแต่บอกว่ามาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้บอกว่ามาจากฝีมือเจ้าหน้าที่

ต่อข้อถามถึงกรณีที่ทั้ง 6 ศพไม่มีคราบเขม่าดินปืน และไม่มีชายชุดดำอยู่ในบริเวณวัดปทุมฯ อดีตนายกฯ กล่าวว่ายังไม่ทราบ และยังไม่ได้อ่าน ต้องอ่านก่อน



สื่อนอกตีข่าว 6 ศพวัดปทุมฯ 

วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศนำเสนอข่าว 6 ศพวัดปทุมฯ ด้วยเช่นกัน อาทิ สำนักข่าวเอพี ดิอินดิเพนเดนต์ เดอะวอชิงตันโพสต์ ซินหัว เดอะสเตรทไทมส์ และเซี่ยงไฮ้เดลี่ โดยสำนักข่าวเอพีอ้างคำพูดของนายณัทพัช อัคฮาด น้องชายน.ส.กมนเกด หนึ่งในผู้เสียชีวิตว่า ดีใจกับคำตัดสิน และหวังว่าเจ้าหน้าที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อคำตัดสินในวันนี้ 


ด้านสำนักข่าวซินหัวของประเทศจีน และหนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้เดลี่ ระบุว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เตรียมเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าพบเพื่อตั้งข้อหาออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานก่อเหตุดังกล่าวแล้ว โดยทุกสำนักระบุว่าคำตัดสินครั้งนี้นั้น มีขึ้นในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศอีกครั้ง โดยอ้างถึงการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะนำเข้าสู่สภาในวันที่ 7 ส.ค. นี้