ข่าวสด
16 สิงหาคม 2556
รายงานพิเศษ
ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สำหรับผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มี นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน
กรณีตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.53 ที่สรุปผลไปในทางลบกับประชาชนผู้ชุมนุม กลายเป็นม็อบรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นเสียเอง
ขณะเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการจนมีคนเสียชีวิต 99 ศพ กสม.กลับชี้ว่าเป็นการปฏิบัติการที่ชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับสถานการณ์ ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รับรองอำนาจของนายกฯ และรองนายกฯความมั่นคงในขณะนั้น
จะมีละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้างก็เรื่องการออกคำสั่งปิดเว็บไซต์ ปิดกั้นการแสดงความเห็นเท่านั้น
ที่สำคัญยังยืนยันเรื่อง "ชายชุดดำ" ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมก็พิสูจน์แล้วหลายคดีว่า ไม่มี ซึ่งผลสอบดังกล่าวสร้างความคลางแคลงใจให้กับสังคม โดยเฉพาะญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ต่างผิดหวังกับท่าทีของกสม.ชุดนี้
เพราะนอกจากไม่ยืนเคียงข้างประชาชน ยังเห็นดีเห็นงามกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมองว่า เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน
ประกอบกับภาพในอดีตของนางอมราที่มอบดอกไม้แสดงความยินดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งรับตำแหน่งนายกฯ ยิ่งตอกย้ำแนวคิดและท่าทีของกสม.ได้เป็นอย่างดี
ย้อนกลับไปสมัยการชุมนุมของ ม็อบเสื้อเหลือง ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกฯ ก็เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
กสม.ยุคนั้นที่มี นายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี นาย สุทิน นพเกตุ นางสุนี ไชยรส นายสุรสีห์ โกศลนาวิน คุณหญิงอัมพร มีศุข และน.ส.อาภร วงษ์สังข์ เป็นกรรมการ
ก็ตรวจสอบการสลายการชุมนุมด้วยเช่นกัน ตามคำขอของผู้ร้องคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งผลสอบระบุชัดว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นการกระทำรุนแรงที่เกินความจำเป็น เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมาย
โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2551
สรุปเรื่อง ความรุนแรงสูญเสียจากกรณีการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551
สืบเนื่องจากกรณีการสลายการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่เข้าร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถีและถนนอู่ทองในรอบๆรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.2551 เวลาประมาณ 06.00 น.
รวมทั้งการสลายฝูงชนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณถนนศรีอยุธยาด้าน บช.น. ในช่วงบ่ายและเย็นตามลำดับ
จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตด้วย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พิจารณาตรวจสอบจากเอกสารและคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ตลอดจนพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
รวมทั้งประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแห่งสหประชาชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดประเด็นการตรวจสอบดังนี้
ประเด็นที่ 1 การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมหรือไม่
เห็นว่า ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสส่วนใหญ่ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนใช้อาวุธระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง
โดยมีหลักฐานปรากฏตามวัตถุพยานที่เป็นทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อาวุธปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาในระยะใกล้ โดยยิงในแนวราบที่มีเป้าหมายคือประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือแม้การยิงในวิถีโค้งจากพื้นสู่อากาศและตกลงสู่พื้นดิน แต่ก็ยังเป็นการยิงในระยะใกล้
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและวัตถุระเบิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวเกิดจากการถูกยิงหรือถูกขว้างด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งมีจุดระเบิดจุดชนวนถ่วงเวลา และช่วยขยายการระเบิด ระเบิดแบบนี้จะมีอันตรายต่อชีวิต
ดังนั้น ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตดังกล่าว
ประเด็นที่ 2 การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนในวันที่ 7 ต.ค.2551 เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
เห็นว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาที่ส่วนใหญ่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงระดมยิงและขว้างใส่เป้าหมายประชาชน อีกทั้งเป็นการยิงและขว้างในระยะใกล้
รวมทั้งการลอบยิงระเบิดแก๊สน้ำตาออกมาจากภายในรัฐสภาและ บช.น.นั้น เป็นการกระทำอันไม่เป็นไปตามหลักการสากลในการสลายการชุมนุม และการใช้แก๊สน้ำตา
ทั้งเป็นการปฏิบัติการเกินความจำเป็น เข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนต่อกฎหมาย
ประเด็นที่ 3 การกระทำเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่
เห็นว่า การระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการเล็งปืนเข้าสู่เป้าหมายคือประชาชนโดยตรง หรือเป็นการขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง รวมทั้งการลอบยิงออกมาจาก บช.น. ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลคือ อาจทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ โดยมีวัตถุพยานที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกภาพการสลายการชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน
นับเป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม
ทั้งหมดนี้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 295 297 288 289 83
ประเด็นสุดท้าย บุคคลใดจะต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 บ้างหรือไม่ เพียงใด
เห็นว่า
1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุม และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ที่ได้รับมอบให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม
รวมทั้งรัฐมนตรีที่ร่วมอยู่ด้วยในการประชุมครม. แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และละเมิดต่อกฎหมาย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 295 297 288 289 84
2.เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ปฏิบัติการ และผู้ควบคุมกำลังหน่วยที่มีระเบิดแก๊สน้ำตา ได้แก่หน่วยกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบังคับการปราบปราม
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 295 297 288 289 83
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้ พึงต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานและกลไกการบริหารจัดการ สลายการชุมนุมประท้วงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และภาคพลเมืองในฐานะที่เป็นผู้ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันตำรวจ ซึ่งจะต้องเป็นบทบาทสำคัญในยามที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตของการขัดแย้งแตกแยกอย่างกว้างขวางและรุนแรงภายในสังคมเช่นทุกวันนี้
ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก
ทั้งนี้เห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองสิทธิมนุษชน กรณีนี้ควรได้รับการพิจารณาแก้ไข และดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542