เทียบพรบ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย-ฉบับประชาชน

จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2556

รายงานพิเศษ

ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่นายวรชัย  เมหะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยเป็นหัวหอกจ่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาในช่วงเปิดสมัยประชุมเดือน ส.ค. นี้แล้ว

ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553  นำโดยนางพะเยาว์  อัคอาด และนายพันธ์ศักดิ์  ศรีเทพ  ก็นำเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน หรือฉบับเหยื่อ 99 ศพ

เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายนิรโทษฯ ที่มีการเสนอขึ้นมาหลายฉบับก่อนหน้านี้  ล้วนมีเจตนาเพื่อนิรโทษกรรมแบบเหมายกเข่ง  ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย  และญาติเหยื่อในเหตุการณ์รุนแรงไม่ได้มีส่วนร่วม

อีกทั้งไม่มั่นใจการผลักดันร่างกฏหมายนิรโทษฯ ที่เสนอไปก่อนหน้าจะสำเร็จ  และมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไร

เนื้อหาของร่างฉบับญาติเหยื่อ 99 ศพที่แตกต่างจากร่างของนายวรชัย  คือไม่นิรโทษให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ

แต่พลันที่แถลงเปิดร่างดังกล่าว  ก็มีเสียงท้วงติงอย่างห่วงใยจากคนกันเอง ทั้งจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จาก ส.ส.เพื่อไทย

เพราะเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับญาติเหยื่อ 99 ศพ ยังมีจุดบอด  อาจทำให้ฝ่ายมวลชนเสียเปรียบและไม่ได้รับความช่วยเหลือ

แต่อาจกลายเป็นการช่วยเหลือฝ่ายตรงข้ามโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ส่วนประเด็นไม่นิรโทษฯ ให้เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำเกินกว่าเหตุ  ก็เป็นการเพิ่มเงื่อนไขที่จะทำให้การเดินหน้าเรื่องนิรโทษฯ ทำได้ยากลำบากมากขึ้น

และการเสนอร่างนิรโทษฯ หลายฉบับเข้าสภา  อาจเป็นการเพิ่มขั้นตอน  ทำให้การพิจารณาล่าช้าไปอีก

มีความเห็นจากภาคประชาชนและนักวิชาการที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อความเห็นที่แตกต่างข้างต้น ดังนี้

สมบัติ  บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด

ในแง่เวลาของกระบวนการเสนอกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของญาติเหยื่อที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553  ต้องใช้เวลารวบรวมและตรวจสอบรายชื่อ  ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ทันในการประชุมรัฐสภาสมัยนี้

ส่วนร่างนิรโทษกรรมของนายวรชัย  นั้นได้รับการบรรจุเพื่อพิจารณาในการประชุมรัฐสภาในสมัยนี้แล้ว

สำหรับเรื่องเนื้อหา  ร่างพ.ร.พ.นิรโทษกรรมของญาติเหยื่อ  จะทำให้การช่วยเหลือคนเสื้อแดงทำได้แคบลง  หรือช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่เป็นนักโทษทางการเมืองหรือผู้ต้องโทษคดีอาญาได้น้อยลง

แต่ร่างนิรโทษกรรมของนายวรชัย  สามารถช่วยคนที่ต้องคดีทางการเมืองได้มากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อเหลืองหรือคนเสื้อแดง  ทำให้พวกเขาหลุดพ้นข้อหาและคดีทางการเมือง

อีกทั้งร่างของนายวรชัยไม่ได้สร้างความเสียหายกับใครมาก  เห็นควรว่าต้องยอมให้ผ่านไป  ทั้งยังจะช่วยลดความวุ่นวายลงได้มาก  เพราะคนที่จะได้รับโทษคือผู้มีอำนาจสั่งการ

ที่สำคัญร่างดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นจริงในการช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองมากกว่า

ยอมรับว่าสับสนกับกระบวนการคนเสื้อแดง  เนื่องจากที่ผานมามีการต่อต้านร่างพ.ร.บงปรองดองของร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุงมาแล้ว  และคิดว่าหลังจากนั้นคงเดินหน้าในการนิรโทษกรรมได้เต็มที่

แต่เมื่อมีการเสนอร่างนิรโทษกรรมของญาติเหยื่อขึ้นอีก  ก็ต้องนำกลับมาถกเถียงและขบคิดเพิ่มกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

แต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวคงไม่ทำให้กระบวนการคนเสื้อแดงแตกแยกกัน  คงถกเถียงกันในแง่ของเหตุผลมากกว่า  รายละเอียดในร่างนิรโทษกรรมของญาติเหยื่อ  อาจนำไปอภิปรายถกเถียงกันได้ในชั้นกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้

อยากให้ช่วยนิรโทษฯ คนที่ได้รับโทษจากคดีทางการเมือง  ทั้งการบุกยึดสนามบิน  การบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที  หรือจะเป็นการเผาศาลากลาง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มาจากหตุผลทางการเมืองและถูกปลุกปั่นจากแกนนำ  เชื่อว่าการให้อภัยจะทำให้เรื่องดังกล่าวจบลงไปได้

สุดสงวน  สุธีสร
สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย  ดูแล้วมีความเหมาะสมที่สุดในการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นเหยื่อนทางการเมือง

เนื่องจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนเพิ่มบทบัญญัติว่า  ยกเว้นการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ  ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของทหารได้รับความชอบธรรมจาก พ.ร.บ.ความมั่นคง  ซึ่งต้องทำตามสายบังคับบัญชา

เพราะฉะนั้นปัญหาที่ต้องแก้ คือ กองทัพเองต้องออกกฎหมายว่าผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หากคำสั่งนั้นทำเกินกว่าเหตุ  จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดับไปแต่ต้นลม

ส่วนเรื่องสำคัญที่ปรากฎอยู่ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน  กรณียกเว้นการนิรโทษกรรมกับคนที่ใช้อาวุธประทุษร้ายคนอื่น  จึงเป็นที่สงสัยว่ากรณีนี้นอกจากทหารแล้วใครเป็นผู้ใช้อาวุธประทษร้ายผู้อื่น

อาจครอบคลุมและตีความได้ว่า ร่างดังกล่าวกำลังพูดถึง "ชายชุดดำ" หรือไม่  แต่ในฐานะที่เป็นผู้ชุมนุมโดยตรง  ขอยืนยันว่าตั้งแต่เริ่มการชุมนุมจนถึงวันสลายการขุมนุมไม่พบว่ามีชายชุดดำอยู่ในที่ชุมนุมเลย

แม้แต่การเสียชีวิตของเหยื่อจากการสลายการชุมนุม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือศาล การไต่สวนคดีก็ชี้ชัดว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ หรือกระสุนของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต  ในสำนวนก็ไม่ได้ระบุถึง ชายชุดดำ

เจตนาของร่างดังกล่าวจึงเป็นที่น่าสงสัย  เพราะจะไปเพิ่มน้ำหนักคำพูดของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ และนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารว่าคนก่อเหตุรุนแรงคือชายชุดดำ  อาจเป็นคนสั่งการตัวจริงพ้นผิดได้

ร่างยังระบุถึงบุคคลอื่นที่ใช้อาวุธ  ก็จะทำให้สังคมเกิดความสงสัยได้

ข้อสังเกตอีกส่วนหนึ่ง คือขณะนี้พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัยใกล้จะเข้าที่ประชุมสภา  แต่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตกลับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในเวลานี้  ก็อาจส่งผลให้ฉบับนายวรชัยล่าช้ามากขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุดแล้วอาจมีการเสนอให้นำทั้ง 2 ร่างมารวมกัน  ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อนักโทษการเมืองทุกคน