นานาทัศนะ "จตุพร" แม่ทัพนปช.

จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2556
รายงานพิเศษ

 
การปรับครม.ครั้งล่าสุดซึ่งยังคงไร้ชื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ กลายเป็นตัวเร่งการจัดกระบวนทัพคนเสื้อแดง ใหม่

นอกจากปลอบใจนายจตุพรที่อกหักซ้ำซากกับเก้าอี้รมต. ยังเป็นการเปิดเกมรุกใส่ฝ่ายตรงข้ามที่แท็กทีมถล่มรับบาลอย่างหนัก

โดยล่าสุดนายจตุพรพร้อมรับตำแหน่งประธาน นปช. แทนนางธิดา  โตจิราการ ที่จะครบวาระเดือน ก.พ. 2557 เพียงแต่ขอรักษาอาการเจ็บจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทให้หายก่อน  ซึ่งคงต้องใข้เวลาระยะหนึ่ง

จึงเป็นที่จับตาว่าเสื้อแดงภายใต้การนำของนายจตุพรจะเป็นอย่างไร  ทิศทางการเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมหรือไม่

สมชาย  ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

นายจตุพรเป็นประธาน นปช. คงไม่ค่อยมีบทบาทเสริมสร้างประชาธิปไตยมากเท่าไร  แต่จะมีภาพนักต่อสู้เพื่ออำนาจทางการเมืองมากกว่า  ทำให้มวลชนคนเสื้อแดงไม่อาจขยายตัวไปได้มากกว่านี้

การขึ้นมาทำหน้าที่เกิดจากสถานการณ์ที่ฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภามีท่าทีเข้มข้นมากขึ้น  กลุ่มนปช.จึงต้องปรับโหมดให้เข้มข้นตาม  การดำเนินยุทธศาสตร์คงต่างจากการนำของนางธิดา  เพราะภาพลักษณ์ของนายจตุพรค่อนข้างดุดัน

การปรับครั้งนี้อาจไม่เป็นประโยชน์โดยรวม  สุ่มเสี่ยงนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนมากขึ้น  อย่างไรก็ตามต้องดูการทำหน้าที่  การวางแผนดำเนินการต่าง ๆ อีกครั้ง

นปช.ต้องพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยมากกว่าพรรคเพื่อไทย  เพื่อให้มวลชนมีบทบาทผลักดัน  กดดันรัฐบาลให้เดินหน้าตามหลักการที่เกี่ยวเนื่องกับมวลชนที่สนับสนุน  ตามเป้าหมายสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคม

เช่น ถ้าเมื่อใดพรรคเพื่อไทยดำเนินแนวทางที่สอดคล้องต่อมวลชนก็ควรสนับสนุน  อย่างกรณีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมือง  แต่หากดำเนินแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับสังคมโดยรวมก็ไม่ต้องสนับสนุน

 
นอกจากนี้ร่างกฏหมายสำคัญต่าง ๆ อาทิ โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงการก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐาน 2 ล้านล้าน มวลชนคนเสื้อแดงควรผลักดันหรือกดดัน เพื่อให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบ

ไม่ใช่ว่าสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพราะเลือกพรรคเพื่อไทย  แต่มวลชนจะต้องมีส่วนร่วมผลักดันกดดันพรรคได้  เพราะที่ผ่านมาอำนาจในการควบคุมตรวจสอบพรรคนั้นยังน้อยเกินไป  ขบวนการเสื้อแดงจะได้ไม่เป็นเพียงฐานให้รัฐบาล


สุดสงวน  สุธีสร
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
 
ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของนปช.เป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่ารุก  เกิดเป็นเสื้อแดงย่อยหลายกลุ่ม เนื่องจากแกนหลักมีท่าทีนิ่งเฉยต่อหลายเหตุการณ์ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

นายจตุพรเป็นประธานนปช. ถือว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์  เพราะผ่านมาแล้วแทบทุกสถานการณ์ เป็นทั้งแกนนำเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ โดยสั่งจำคุกจนถูกพ้นสมาชิกภาพส.ส. รวมทั้งยังเป็นตัวแทนเหยื่อยสลายการชุมนุมที่เข้าใจความรู้สึกประชาชน

ถือเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเดินหน้าเคลื่อนไหวอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

การปกป้องรับบาลและประชาธิปไตยหากเป็นแต่ฝ่ายรับจะยิ่งเสียเปรียบ  อีกทั้งการที่คนเสื้อแดงต่างคนต่างเคลื่อนไหวจะยิ่งลดประสิทธิภาพการแสดงพลัง

เชื่อว่าบุคลิกของนายจตุพรที่ตรงไปตรงมา  ชัดเจนในการเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดเอกภาพภายในกลุ่มคนเสื้อแดงอีกครั้ง  พอมวลชนเกิดความเข้าใจตรงกันย่อมมีจุดร่วมที่เหมือนกัน

และการเป็นอดึตสมาชิกพรรคเพื่อไทย มีความใกล้ชิดรัฐบาลย่อมเข้าใจกลไกการบริหารงานได้เป็นอย่างดี  จุดนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับรัฐบาล

ข่าวการเปลี่ยนตำแหน่งแสดงว่ามีการพูดคุยกันภายในระหว่างแกนนำ นปช.  หากแกนนำมีมติให้นายจตุพรเป็นประธานจริงนั้น  จะสามารถเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูป นปช. ได้เลยทีเดียว

เนื่องจากทุกกระบวนการต้องไม่เป็นฝ่ายตั้งรับจนเสียเปรียบ  แต่ต้องมีการปฏิรูปและพัฒนาให้เท่าทันต่อสถานการณ์และเกมการเมือง


จิตรา  คชเดช
อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์

ใครเป็นประธานนปช.ก็คงเหมือนกัน ทั้งนายจตุพรและนางธิดาเป็นแกนนำอยู่แล้ว การทำงานคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมาการนำของนปช. เป็นในลักษณะที่แกนนำร่วมกันตัดสินใจและมีความเห็นร่วมกัน ไม่ว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ หรือที่สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน นายจตุพรก็ร่วมตัดสินใจด้วย

แต่เสียดายนางธิดาทำหน้าที่ได้ดีทั้งการเยี่ยมนักโทษการเมือง การร่วมงานศพ และการเข้าร่วมทุกกิจกรรมของสมาชิก  หลังจากนี้นายจตุพรคงจะปรับตัวเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาชิกมากขึ้น

ภายใต้การนำของนายจตุพรคงไม่ทำให้สถานการณ์การเมืองรุนแรงขึ้น  เพราะไม่ว่าใครเป็นผู้นำ การเมืองก็รุนแรงตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนประธานนปช. 

เพียงแต่นายจตุพรต้องพูดให้ชัดว่าจะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างไร  ทั้งเรื่อง ม.112 ที่นปช.ต้องเป็นหัวหอกแก้ไขกฏหมายและการผลักดันให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ที่สำคัญต้องไม่ทำให้ นปช. เป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย  แต่ต้องทำตัวเป็นองค์กรตรวจสอบรัฐบาลไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล  จะต้องตรวจสอบและต้องกล้าชนหรืองัดข้อกับรัฐบาล 


สุนัย  ผาสุก
ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย

ภาพนายจตุพรถึงลูกถึงคน เข้าถึงมวลชนกว่าแกนนำคนอื่น ๆ  คนเสื้อแดงรักและศรัทธา พูดเยอะและชัดเจนที่สุดในเรื่องเป้าหมายการต่อสู้  ฉะนั้นเมื่อขึ้นรับตำแหน่งจะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าจะยกระดับเป้าหมายการต่อสู้หรือว่าทำแบบเดิมอย่างที่ผ่านมา

คำถามที่สังคมอยากรู้ เช่น ธงของพรรคเพื่อไทยกับธงของ นปช. ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันใช่หรือไม่  แต่ปัจจุบันประเด็นนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่

และประเด็นที่ค่อนข้างแหลมคมคือ การเปิดประชุมสภาต้นเดือนส.ค. เรื่องการนิรโทษกรรมซึ่งมีร่างกฎหมายหลายฉบับจ่อการพิจารณาอยู่  ธงของนปช.อยู่ตรงไหน ที่ผ่านมาบอกว่าจะนิรโทษกรรมให้เฉพาะคนตัวเล็ก ตัวน้อยที่ถูกจับอย่างไม่เป็นธรรม ไม่นับแกนนำกับผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ

ต้องแสดงท่าทีชัดเจน เพราะถ้าประกาศต่อสู้เรื่องความยุติธรรในทางสากลเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความรุนแรงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้เด็ดขาด

มี 3 เรื่องใหญ่ที่นายจตุพรต้องตอบในฐานะประธาน นปช. คือ 1.เรื่องนิรโทษกรรม 2.เรื่องการปรองดอง  3.เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่านปช. จะเอาแค่ไหน  อย่างไร

เรื่องถัดมาซึ่งเป็นกรอบใหญ่คือเรื่องสิทธิเสรีภาพ นายจตุพรจะยกระดับนปช. ให้มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาอย่างไร ทั้งเรื่องมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  เพราะมีคนเสื้อแดงหลายคนที่เป็นจำเลยในเรื่องดังกล่าว

และสุดท้าย การที่มีภาพคนเสื้อแดงกลุ่มย่อยต่าง ๆ มีท่าทีที่รุนแรงและปะทะกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม  นายจุตพรจะปล่อยให้เป็นไป  หรือจะวางแผนแก้ปัญหาให้คนเสื้อแดงมีทิศทางการต่อสู้ที่เป็นเอกภาพโดยไม่ใช้ความรุนแรง