"หงส์เหนือมังกร" บท "นายกฯ ปู" ควบกลาโหม และปฏิบัติการของ "ทักษิณ"

มติชน 6 กรกฎาคม 2556



รายงานพิเศษ  เรื่อง "หงส์เหนือมังกร" บท "นายกฯ ปู" ควบกลาโหม กับบท "รมว.กห.เงา" ของ "ประยุทธ์" และปฏิบัติการของ "ทักษิณ" จาก มติชนสุดสัปดาห์ 5-11 ก.ค. 2556

ไม่ใช่เรื่องเกินคาดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง จะมาควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ด้วย เพราะเคยมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่แรกที่จัดตั้งรัฐบาลแล้ว

แต่ในเวลานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย ยังไม่กล้าใช้ยาแรง ส่งน้องสาวไปคุมกองทัพ ที่รัฐประหารล้มอำนาจตนเอง มาในทันที เพราะหยั่งกระแสแล้ว ดูเหมือนในเวลานั้นกองทัพยังรับไม่ได้ รวมถึงสังคมไทย ที่ยังทำใจกับการมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกเลยด้วยซ้ำ

แต่แนวคิดที่จะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบกลาโหม มีขึ้นทุกครั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี แต่ทว่า ยังไม่ถึงเวลา

แต่ที่เกิดคำถามกันอย่างมากมาย ว่า เพราะเหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเลือกมานั่งควบ รมว.กลาโหม ในการปรับ ครม. ครั้งที่ 5 เมื่อ 30 มิถุนายน 2556 ครั้งนี้

ทั้งๆ ที่ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ยังคงทำหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ดี แบบที่เรียกว่า "เอาอยู่" กองทัพสงบนิ่ง

แต่ทว่า ก็เกิดความหวาดระแวงว่า โยกย้ายนี้จะผ่าตัดกองทัพ



พล.อ.อ.สุกำพล เป็น รมว.กลาโหม คนที่ 60 และนั่งเก้าอี้นี้มานานกว่า 1 ปี 5 เดือน จนทำให้เขามั่นใจว่า จะนั่งต่อไป จนการจัดโผโยกย้ายทหารใหญ่ครั้งนี้ ที่เริ่มทำกันตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายนนี้เสร็จสิ้น เพราะเขาได้นัดแนะ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ให้จัดทำโผและนำมาประชุมครั้งแรก 15 กรกฎาคมนี้

แต่จู่ๆ พล.อ.อ.สุกำพล ก็หลุดจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม แบบไม่รู้ตัวล่วงหน้าก่อนเลยแม้แต่น้อย เมื่อมีข่าวการปรับ ครม.ปู 5 ออกมา พร้อมการนั่งควบกลาโหมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และตัวเขาหลุดโผ ครม. ไม่ได้ตำแหน่งใดๆ เลยนั้น พล.อ.อ.สุกำพล ก็ยังมั่นใจว่า ตัวเองนั่งต่อ

ด้วยเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อนรัก ตท.10 ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ มาถึงเลย อีกทั้งภารกิจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้ทำก็สำคัญ จนทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล คาดไม่ถึงว่าจะตกเก้าอี้

จนเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โทรศัพท์มายืนยัน เมื่อเย็นวันพฤหัสที่ 27 มิถุนายน ว่า "ปู จะควบกลาโหมเอง" พร้อมร้องขอให้ "พี่โอ๋" ช่วยงานต่อไป โดยจะเสนอให้เป็น "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" ทดแทน

ในเวลานั้น ชายชาติทหารอย่าง พล.อ.อ.สุกำพล แทบทำใจไม่ได้ นอกเสียจาก Yes Sir พูดสั้นๆ ว่า "ครับ" แต่ก็ยังไม่รับปากว่าจะรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เพราะหัวใจเขาเจ็บช้ำไม่น้อย แถมยังเสียหน้าเสียฟอร์ม ที่มั่นใจมาตลอด อีกทั้งรู้ดีว่าตัวเขาเองถูกบิ๊กทหารอย่างน้อย 2 คน เลื่อยขาเก้าอี้มาตลอด

อย่าลืมว่า พล.อ.อ.สุกำพล นั้นได้ชื่อว่าเป็น เหยี่ยวอากาศ เป็นนายทหารใจนักเลงที่โผงผางตรงไปตรงมา อีกทั้งที่ผ่านมาก็แสดงทั้งบทพิราบ บทเหยี่ยว ในการคุมกองทัพ ทั้งแสดงบท "พี่โอ๋" ที่ใจดี ผบ.เหล่าทัพ ขออะไรให้หมด แบบที่ บิ๊กโอ๋ บอกว่า "ผมเซ็นให้แบบกระดาษแทบจะขาด" เลยทีเดียว เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ

แต่บทจะดุ ก็ย้ายฟ้าผ่า พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ พ้นปลัดกลาโหม โทษฐานขัดคำสั่ง ที่ไม่ยอมตั้งปลัดกลาโหม ตามสั่ง แถมยังไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และองคมนตรี รวมถึงฟ้องศาลอีกด้วย มาแล้ว

เรียกได้ว่า พล.อ.อ.สุกำพล เล่นได้ทุกบทบาท และครบทุกรสชาติ โดยเฉพาะการออกมาเป็นกระบอกเสียงรัฐบาล ฉะกับพรรคประชาธิปัตย์บ่อยๆ เพราะเขาเองก็ถือเป็นสายล่อฟ้าของรัฐบาล เพราะเล่นงาน มาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องหนีทหาร ใช้เอกสารปลอม จนถึงการถอดยศร้อยตรี ที่แม้ว่าจะยังไม่สุดทาง เพราะรอให้ ทบ. เป็นผู้ทำเรื่องขอพระราชทานถอดยศ แต่ ทบ. ยังไม่ทำเท่านั้น

ที่ใครๆ มองว่าเป็นผลงานสำคัญ แต่ในที่สุด อาจกลายเป็นพิษ ต่อ พล.อ.อ.สุกำพล เอง เมื่อนายอภิสิทธิ์ ฟ้องร้องต่อศาล รวมไปถึงการที่ พล.อ.อ.สุกำพล ใจดีอนุมัติหลายโครงการให้กองทัพ แต่ก็ถูก ป.ป.ช. สอบสวน รัฐบาลจึงต้องป้องกันไว้ก่อน หากศาล หรือ ป.ป.ช. ตัดสิน

ประกอบกับการที่ พล.อ.อ.สุกำพล ได้รับการตอบแทนอย่างพอเพียง ในสายตา พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ทั้งการเป็น รมว.คมนาคม มา 6 เดือน อันเป็นกระทรวงเกรดเอ จนมาถึง รมว.กลาโหม

"ก็ต้องยอมรับ เข้าใจการเมือง ผมเป็นรัฐมนตรี 2 กระทรวงมา 1 ปี 11 เดือนแล้ว ถือว่าภูมิใจแล้ว" บิ๊กโอ๋ ปลดปลง

แต่ก็ต้องยกความดีให้ พล.อ.อ.สุกำพล ด้วยเช่นกัน ที่ใช้ศิลปะการเป็นผู้นำ ดูแล ผบ.เหล่าทัพให้อยู่ในแถวในแนว และทำให้กองทัพนิ่ง จน พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบ รมว.กลาโหม เสียเองได้

อีกทั้งถือเป็นเกียรติประวัติแก่ตระกูล "ชินวัตร" ที่มีทั้งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย และ รมว.กลาโหมหญิงคนแรกของประเทศ และที่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่ควบ รมว.กลาโหมคนแรกของประเทศ รวมทั้งของโลก และของอาเซียน เลยด้วยซ้ำ

ที่แน่ๆ อาจเป็นความสะใจเล็กๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดง ที่วันนี้ น้องสาวของอดีตนายกฯ ที่ถูกทหารปฏิวัติโค่นอำนาจนั้นมาคุมกองทัพเองโดยตรง มาเป็น รมว.กลาโหม มาเป็น นายหญิง โดยตรงของ ผบ.เหล่าทัพ ที่แม้จะไม่ใช่คนที่อยู่ในยุคปฏิวัติ แต่ก็เป็นกลุ่มอำนาจเดียวกัน

แต่ทว่า เหตุผลเบื้องลึกมีมากกว่านั้น...



ต้องยอมรับว่า ในเรื่องจังหวะเวลานั้น สังคมไทยชินกับการมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกไปพอสมควรแล้ว รวมถึงกองทัพ โดยเฉพาะ ผบ.เหล่าทัพเอง ก็ชินกับการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนหัวแถว นั่งหัวโต๊ะ หรือต้องยืนตั้งแถวทำความเคารพ วันทยหัตถ์ และเดินตามหลังนายกฯ หญิง มาตลอด 2 ปีเต็ม

อีกทั้งความใกล้ชิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ผบ.เหล่าทัพ ก็มีส่วนทำให้วันนี้ บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีต รมว.กลาโหม ที่คัมแบ๊กมาเป็น รมช.กลาโหม ดูแลงานให้นั้น ยังใช้คำว่า "ผบ.เหล่าทัพ แฮปปี้" ที่นายกฯ ปู ควบกลาโหม

อันไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะแม้ ผบ.เหล่าทัพ จะแปลกใจที่จู่ๆ พล.อ.อ.สุกำพล หลุดเก้าอี้ รมว.กลาโหม และสงสัยอยู่บ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาไม้ไหน เพราะมานั่งควบกลาโหม ในช่วงที่กำลังจะมีโผโยกย้ายทหารใหญ่ ไม่ยอมปล่อยให้ พล.อ.อ.สุกำพล จัดให้เสร็จเสียก่อน

แต่พวกเขาก็แฮปปี้ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเป็น รมว.กลาโหมหญิง เพราะที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพ ก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตลอด เพราะในฐานะที่เธอเป็น ผอ.รมน. รวมทั้งนั่งหัวโต๊ะในการแก้ปัญหาภาคใต้ ด้วยตนเอง และให้ความสำคัญด้วยการประชุมวงเล็กทุกวันพฤหัสบดี

อาจด้วยเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีธงในใจที่จะมาควบ รมว.กลาโหม อยู่แล้ว และให้ความสำคัญกับกองทัพ เธอจึงพยายามกระชับพื้นที่ความห่างกับ ผบ.เหล่าทัพ ด้วยการจัดให้มีประเพณีทานข้าวกับ ผบ.เหล่าทัพ ทุกๆ 2 เดือน อีกทั้งที่ผ่านมา เธอก็ไปเยี่ยมทุกเหล่าทัพ ทั้งการไปชมการฝึกทางอากาศ การไปลงเรือหลวงจักรีนฤเบศร เพื่อแสดงความใกล้ชิดและใส่ใจในเรื่องทหารมาแล้ว

แม้การเป็น รมว.กลาโหม จะหมายแค่เป็นสัญลักษณ์ แต่ก็ทำให้ภาพกองทัพไทยทหารไทยดูทันสมัยเป็นประชาธิปไตยขึ้น ตรงที่ยอมให้ผู้หญิงมาเป็น รมว.กลาโหม แถมยังเป็นน้องสาวของคนที่กองทัพปฏิวัติล้มอำนาจไปก่อนหน้านี้เสียด้วย



มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า งานนี้ ผบ.เหล่าทัพ ที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ด้วยเพราะเขามีความสนิทสนมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มากเป็นพิเศษที่สุด

อาจด้วยเพราะการทำงานที่ต้องพบเจอกันบ่อย อีกทั้ง ทบ. เป็นเหล่าทัพใหญ่ ที่ช่วยเหลือรัฐบาลมาเต็มที่ตั้งแต่มหาอุทกภัย จนมาถึงไฟใต้

แทบเรียกได้ว่า ไม่มีวันไหนเลยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องงาน นอกจากมาประชุมมาเห็นหน้ากันแล้ว ยังต้องโทรศัพท์สายตรงพูดคุยสั่งการกันตลอด

พล.อ.ประยุทธ์ จึงน่าจะเป็น ผบ.เหล่าทัพที่แฮปปี้ที่สุด เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาควบกลาโหม

แม้ว่าในแง่ความกังขา ย่อมมีมากมาย ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องมาควบ รมว.กลาโหม ในช่วงการโยกย้ายทหาร ที่หวั่นกันว่า จะมาเพื่อโยกย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็น ปลัดกลาโหม หรือ ผบ.สส. บ้างก็ตาม

ถึงขั้นที่พรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงสะกิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาแทรกแซงการโยกย้ายทหาร จึงมาควบ รมว.กลาโหม และตั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็น รมช.กลาโหม เพื่อเพิ่มเสียงของฝ่ายการเมือง ในคณะกรรมการกลาโหม ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 จากที่มีแค่ 6 คือ รมว.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.

หากมองเผินๆ แล้ว ไม่ผิดที่พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จะมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ หมายมาโยกย้ายทหาร แต่หากพิเคราะห์ลงไป จะเห็นว่า แม้จะมี รมช.กลาโหม เพิ่มมาอีก 1 เสียง ก็ใช่ว่าฝ่ายการเมืองจะชนะเสียง ผบ.เหล่าทัพ ที่มีถึง 4 เสียง

อย่าลืมด้วยว่า ผบ.เหล่าทัพในยุคนี้ แท็กทีมกันแน่น อันเป็นความตั้งใจของ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ที่ก็พยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับ ผบ.เหล่าทัพ

แม้ว่าผู้นำกองทัพ อย่างน้อย 2 คนคือ บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกลาโหม จะถูกมองว่าเป็นคนของฝ่ายการเมือง เพราะมาเป็นปลัดกลาโหมได้ เพราะการเมืองและนายทหารในสังกัด มุ้ง "เจ๊ ด." ก็ตาม แต่หากรวมกับ รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหม ก็จะได้แค่ 3 เสียงเท่านั้น

ส่วน บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. นั้น แม้จะเติบโตมาเพราะการผลักดันของ บิ๊กติ๊ด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. คนก่อน ซึ่งเป็นเพื่อน ตท.10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตาม แต่ขอให้มั่นใจว่า เมื่อถึงเวลา กองทัพก็ต้องเป็นกองทัพ ผบ.เหล่าทัพ จะรวมเป็นหนึ่งเดียว เสียงเดียวกัน

แต่กระนั้น แม้จะมี พ.ร.บ.กลาโหม แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยถึงขั้นต้องมีการโหวตลงคะแนนกันเลย เพราะคนเป็น รมว.กลาโหม สามารถบริหารจัดการ พูดคุยกันนอกรอบ ตกลงกันได้ จึงมีแค่การประชุมคณะกรรมการกลาโหม ตาม พ.ร.บ. เท่านั้น ไม่เคยมีการโหวตใดๆ



อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหวาดหวั่น หรือปลุกกระแสในกองทัพว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาล้วงลูกโยกย้ายทหาร ทั้งการเด้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. ไปเป็นปลัดกลาโหม และให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็น ผบ.สส. ก็ตาม

แต่วงในแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันกับเจ้าตัวแล้วว่า จะไม่แตะต้อง ไม่แทรกแซงใดๆ

แต่ที่บางฝ่ายมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลัวปฏิวัติเลยต้องมาคุมกลาโหมเองนั้น จึงน่าจะตัดทิ้งไปได้

เพราะอย่าลืมว่า สภาพของกองทัพในเวลานี้ นิ่งและอยู่ในจุดที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพอใจ แม้จะไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลเต็มที่ แต่ก็ไม่กลับไปเป็นเขี้ยวเล็บของฝ่ายอำมาตย์หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอีก

ที่สำคัญ หากมองตรงไปตรงมา ในเวลานี้ ฝ่ายอำมาตย์ ขาด "หลังอิง" โดยเฉพาะ พล.อ.ธนะศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ สองนายทหารเสือราชินีฯ เพื่อนรัก ตท.12 ด้วยกัน ก็ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

แถมทั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยให้สัญญาต่อหน้า ผบ.เหล่าทัพ ในดินเนอร์ของนายกฯ กับ ผบ.เหล่าทัพ แล้วว่า จะไม่ปฏิวัติ ให้นายกฯ ทำงานบริหารชาติบ้านเมืองไป ทหารจะไม่แทรกแซงการเมือง

ไม่แค่นั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. เองก็มีท่าทีที่เปลี่ยนไป ใกล้ชิดกระเถิบเข้ามาใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ มากขึ้น พร้อมแสดงทีท่าการสนับสนุนรัฐบาล

"นายกฯ มาควบ เพราะต้องการให้กองทัพนิ่ง ไม่หวาดระแวงว่าจะมีการเด้ง ผบ.เหล่าทัพคนไหน เพราะรัฐบาลต้องการกองทัพมาหนุนหลัง และไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน"

สายข่าวระบุ



อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจห้ามความกังขานานาที่ผุดขึ้นได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาควบ รมว.กลาโหม ในเวลานี้ มีเป้าหมายเพื่อรองรับการตัดสินของศาลโลก ในคดีพื้นที่โดยรอบปราสาทเขาพระวิหารในเดือนตุลาคมนี้หรือไม่

ด้วยเพราะที่ผ่านมามีข่าวบางกระแสว่า พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งยังมีเลือดทหารข้นกว่าการเป็นทหารการเมือง เคยเปรยกับ ผบ.เหล่าทัพ ว่า แม้ว่าไม่ต้องการทำสงคราม แต่หากต้องเสียดินแดน จะไม่มีวันยอม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงต้องมาคุมกองทัพเอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า กองทัพจะไม่แตกแถว ในการด่วนทำสงคราม แต่จะใช้การเจรจาต่อรองด้วยความสัมพันธ์อันดีที่มีกับผู้นำกัมพูชาเอง

นี่เอง ที่ทำให้ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องพึ่งพา พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ในฐานะที่คุมกำลังรบหลัก



การมาควบกลาโหม ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่แค่การไม่แตะต้อง พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ทว่า บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมากขึ้น อาจจะในฐานะ รมว.กลาโหม เงา เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องปรึกษาหารือในทุกเรื่อง ส่วน พล.อ.ยุทธศักดิ์ นั้นมาทำหน้าที่ด้านเอกสาร ข้อกฎหมายเท่านั้น

หากมองย้อนไปในรัฐบาลในร่มเงาอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้ง นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ล้วนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ควบ รมว.กลาโหม ด้วยทั้งสิ้น ที่ส่งผลให้บทบาทของ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในเวลานั้นสูงมากในฐานะที่ปรึกษาของนายกฯ ทั้งๆ ที่เป็นแกนนำในการปฏิวัติคนสำคัญ แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้แตะต้องเขา

สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว รู้ดีถึงความสำคัญของกองทัพ เขาจึงไม่เคยเปิดศึกกับกองทัพ ไม่เคยเข้ามาแก้แค้นล้างบาง

แต่ข้อความที่เขาฝากถึง ผบ.ทบ. และ ผบ.เหล่าทัพ มาเสมอก็คือ ขอให้ทำหน้าที่ของตนเอง แม้จะไม่เข้าข้างรัฐบาล แต่ก็อย่าเอากองทัพไปล้มรัฐบาล

แต่ทว่า ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มาแวะที่สิงคโปร์ และฮ่องกง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เชื่อกันว่ามาจัดโผ ครม.ปู 5 นั้น ไม่ใช่แค่ พล.อ.อ.สุกำพล พร้อมบิ๊กกลาโหม และบิ๊ก ทบ. บินไปพบเคลียร์ใจกันเท่านั้น แต่ก่อนหน้านั้น มีข่าวสะพัดว่า มีบิ๊กทหารใหญ่ 2 คน แยกกันไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนแล้ว

ข่าวนี้อาจถูกมองว่าเป็นการดิสเครดิตผู้นำกองทัพบางคนได้ หากว่ามันไม่ได้ออกมาจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณ เองที่อดเล่าให้คนใกล้ชิดรับรู้อย่างตื่นเต้นด้วยไม่ได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำทหารที่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะกลัวถูกโยกย้าย แต่เพราะต้องการให้ประเทศชาติสงบ และปรองดอง เพราะไม่มีใครอยากให้ "ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ" ของประเทศไทย ต้องเกิดขึ้นพร้อมเลือดนองแผ่นดิน แถมด้วย "คำสัญญา" ที่มีต่อกัน



นี่จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบ รมว.กลาโหม หลังจากที่ได้มีการถามความเห็นจากบิ๊กทหารเหล่านี้ก่อนแล้ว และนั่นเป็นสาเหตุที่ชื่อของ โอ๋เล็ก พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เพื่อน ตท.10 อีกคน ไม่ได้มาเป็นแม้แต่ รมช.กลาโหม แม้ว่า โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร จะเชียร์สุดตัวว่าที่พ่อตาคนนี้มากแค่ไหนก็ตาม เพราะกองทัพจะไม่นิ่ง

บ้างก็ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบไว้รอบิ๊กทหารที่เหมาะสมเกษียณมารับตำแหน่งต่อ แต่การที่นายกฯ เป็น รมว.กลาโหม เอง ผลดีที่เกิดขึ้นกับกองทัพคือ สายบังคับบัญชาสั้นลง ขออะไรก็ง่ายขึ้น เพราะดูแววแล้ว นายกฯ หญิงจะมาดูแลเอาใจกองทัพต่อไป และอาจส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็น ผอ.รมน. ที่จะตัดสินใจและสั่งการได้ทันที

ที่ต้องจับตามองคือ เมื่อมีเจ้ากระทรวงปืนใหญ่เป็นหญิงแล้วจะแก้เคล็ดไฟใต้ มาสู้ข่มกับปืนใหญ่พญาตานี สุดอาถรรพณ์หน้ากลาโหม นั้นได้ด้วยหรือไม่



แต่ที่น่าห่วงคือ การเมืองจะตามติดนายกฯ และ รมว.กลาโหมหญิง เข้ามาแทรกในกองทัพมากขึ้น เพราะจากนี้ไม่ว่า รมว.กลาโหมหญิงคนนี้เซ็นอนุมัติอะไร โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เชื่อได้ว่า ฝ่ายตรงข้ามจะจับมือกับพ่อค้าแม่ค้าอาวุธที่เสียประโยชน์ เล่นงานฟ้องร้องแน่ ยกเว้นจะมอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ รมช.กลาโหม ลงนามแทนทั้งหมด

"ยืนยันว่า การเมืองจะไม่แทรกแซงกองทัพ ไม่ล้วงลูกโยกย้าย แค่ขอรู้เหตุผลในแต่ละตำแหน่งเท่านั้น" เสียงยืนยันของ พล.อ.ยุทธศักดิ์

แต่ที่แน่ๆ กลาโหมและกองทัพ จะมีสีสันมากขึ้น กับ รมว.กลาโหมหญิง ที่วางแผนเดินสายเยี่ยมเหล่าทัพ หลังการเข้ารับตำแหน่งที่กำหนดให้เลือกไว้คือ 8, 10 หรือ 11 กรกฎาคม แล้ว รวมทั้งนั่งประชุมสภากลาโหม ครั้งแรก 25 กรกฎาคม

บทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงผู้สวยสง่า ประหนึ่งหงส์ ที่ต้องมาอยู่ เหนือมังกร บทนี้ จึงน่าจับตายิ่งนัก...