จับ"ปฏิกิริยา"เสียงเตือน"นปช." "รัฐบาล-พท."ส่อดอง"นิรโทษฯ"


24 กรกฎาคม 2556

จับ "อาการ" หรือวัด "ปฏิกิริยา" ของ "แม่ทัพคนเสื้อแดง" อย่าง "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ถึงการเรียกร้องให้มีการ "ลงมติ" รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ

จะพบความรู้สึกซึ่งผ่านการแสดงออกจาก "คำพูด" ของ "แกนนำคนเสื้อแดง" ผู้นี้ที่ผ่าน "ความผิดหวัง" มาหลายครั้ง

โดยเฉพาะ "ปฏิกิริยา" เสียงสะท้อนของ "จตุพร" ที่ระบุว่า "ถ้าคนเสื้อแดงใจสลาย เมื่อคนใจสลายรัฐบาลต้องล้มอยู่แล้ว ถามว่าใครจะออกมาตาย ออกมาเจ็บ ออกมาถูกขังให้กับคนที่ไร้หัวใจ"

โดยเฉพาะ "ความรู้สึก" ของ "จตุพร" ที่ระบุว่า "เวลาจะถูกหลอกมันจะทำให้น่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ ว่าไปเชื่อลมปากของศัตรูกับนักเลือกตั้งที่เห็นผลประโยชน์กับคนที่หนีเมื่อภัยมา แต่คนที่เขาสู้แลกชีวิตให้กลับไม่เชื่อใจ"

หรือแม้แต่ "เสียงสะท้อน" ที่ว่า "ผมเองก็เตือนสติ ผมไม่ปรารถนาอะไรอีกแล้ว แต่นอกเหนือจากนี้ต้องการปลดปล่อยพี่น้อง ต้องการเยียวยาและต้องการให้รัฐบาลอยู่ได้"

จับ "ประโยค" และท่วงท่าของ "จตุพร" มีเป้าหมายเดียวคือต้องการให้ "สภาผู้แทนราษฎร" และ "รัฐบาล" รวมทั้ง "พท." เดินหน้าผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" เพื่อ "ปลดปล่อย" ประชาชนที่ถูก "คุมขัง" อยู่ใน "เรือนจำ" โดยทันที

เพราะหลายครั้ง "ข้อเรียกร้อง" ของ "นปช." ที่เคยให้ "รัฐสภา" ลงมติในวาระที่สามของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291 ยังไม่ประสบความสำเร็จ

"ข้อเรียกร้อง" ของ "นปช." ซึ่งเคยผลักดันให้ "คณะรัฐมนตรี" (ครม.) ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมโดยทันทีก็ไม่ได้รับการ "ตอบสนอง" จาก "ฝ่ายบริหาร"

เมื่อพลิก "ปฏิทิน" และ "กรอบเวลา" ในช่วงเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

มีร่างกฎหมายสำคัญ ซึ่งรอจ่อคิวพิจารณาภายในเดือนนี้อยู่หลายฉบับ

ในขณะที่ "เสียง" ภายใน "พท." ในหมู่ "ส.ส." และ "แกนนำ" ยังคงไปคนละทาง โดยยังไม่รวมเป็น "คีย์เดียว" เพราะต้องรอการประชุมและท่าทีของ "พท." ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้

รวมทั้งการหารือของ "คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร" หรือ "วิปรัฐบาล" ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ จะต้องประเมิน "ทิศทาง" และ "กระแสร้อน" ของ "การเมือง" ในช่วงเปิดสมัยประชุมรัฐสภาด้วย

เพราะล่าสุด "องค์การพิทักษ์สยาม" หรือ "อพส." ออกมาเป่านกหวีดขีดเส้นตาย "ขับไล่" รัฐบาล ด้วยการ "ชุมนุมใหญ่" ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ก่อนที่จะถึงสัปดาห์การพิจารณา "ร่างกฎหมายร้อน" หลังเปิดสมัยประชุม "รัฐสภา"

เมื่อพิจารณาถึง "ผลกระทบ" จากเบาไปมาก "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557" ก็มีความสำคัญ และจะต้องพิจารณาตามกรอบเวลาที่ "รัฐธรรมนูญ" กำหนดไว้

ยิ่งพิจารณา "น้ำหนัก" และ "ผลกระทบ" น้อยที่สุด "ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ" จึงเป็น "ร่างกฎหมาย" ที่ "ร้อนน้อยที่สุด"

เป็น "ร่างกฎหมาย" ที่ร้อนน้อยกว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ที่จ่อคิวอยู่ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นลำดับแรก

ไม่เพียงจะมีเสียงคัดค้านภายใน "พท." เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ก่อน เพราะถึงอย่างไร ร่างฉบับนี้ก็ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ที่มาของ ส.ว. ซึ่่งมีการนัดประชุมในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานและรูปเล่มก่อนชง "ประธานรัฐสภา" ให้ผลักดันเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว

ภายหลังวันที่ 25 กรกฎาคม ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. จำนวน 13 มาตรา น่าจะส่งถึงมือ "ประธานรัฐสภา" เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ภายใน 15 วันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 สิงหาคมนี้

แนวโน้มการที่ "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" จะถูก "ดอง" ให้อยู่ในวาระการประชุม "สภาผู้แทนราษฎร" จึงมีความเป็นไปได้อยู่

เนื่องด้วยระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคมนี้ แม้จะเป็นวันที่จะมีคิวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ก็ตาม

แต่ทว่ามีความพยายามในการผลักดันให้เปิด "ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" เพื่อพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

รวมทั้งอาจมีการนำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ซึ่งพิจารณาเสร็จก่อนสอดไส้เข้ามาเป็น "ร่างแรก" เข้าคิวพิจารณาโดยทันทีในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคม

เพราะอายุของ "ส.ว.เลือกตั้ง" ชุดปัจจุบันใกล้หมดวาระในต้นปี 2557 หากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ถูกวางคิวเข้าพิจารณาในระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคมนี้ ถัดจากนั้นสัปดาห์ต่อไป ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม จะต้อง ?ล็อก? วันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

ถัดจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็มี "คิว" จะเข้าตามมา เพราะต้องพิจารณาให้ได้ในเดือนสิงหาคมนี้

ขณะที่ "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" แม้จะมีเสียงเรียกร้องผ่าน "แกนนำ นปช." นั้น ก็มี "แนวโน้ม" อาจถูก "ดอง" และ "เตะถ่วง" ให้อยู่ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไปอีก

เสมือน "ปฏิกิริยา" ของ "จตุพร" ที่ว่า "ผมถูกหลอกก็แค่ชีวิตเดียว แต่ว่าคนบางคนถูกหลอกจะนำพาสู่ความตายของประชาชนครั้งใหญ่อีกครั้ง"