ตอบโจทย์จุดยืน นปช. เรื่อง "ร่างนิรโทษกรรม" โดย อ.ธิดา



ทีมข่าว นปช.
25 กรกฎาคม 2556

เมื่อวานวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 งานแถลงข่าว นปช. ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5  อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ชี้แจงเรื่องจุดยืนที่แท้จริงของ นปช.ในเรื่องร่างนิรโทษกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เรามีคำกล่าวหาจำนวนหนึ่งที่มีต่อเราด้วยการว่า ทางเรา นปช.และทางพรรคเพื่อไทยอาจจะสนใจเรื่องนิรโทษกรรมน้อยไป แต่ขอเรียนว่าในทางความเป็นจริงนั้น ในตอนเริ่มต้นเลยแกนนำเราทุกคนด้วยความตั้งมั่นว่า ในฝั่งของเราเสื้อแดงนั้นเป็นฝั่งที่ถูกต้อง พอคิดเรื่องนิรโทษกรรมจึงยังไม่ได้เป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ว่าสั้น ๆ ก็คือ ผ่านมาเป็นเวลา 3 ปี มีแต่คนเสื้อแดงเท่านั้นที่ติดคุกและถูกตีตรวนและคดีต่าง ๆ ก็เดินคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ฝั่งอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่าได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน



 ดังนั้นความจริงเราต้องการทำความจริงให้ปรากฏ แต่กว่าความจริงจะปรากฏพี่น้องเราก็ระทมทุกข์ ทุกขเวทนาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นความจำเป็นนิรโทษกรรมจึงเป็นเรื่องที่เราต้องพูดขึ้น อยากจะเท้าความพี่น้องให้เห็นว่า นปช. ได้พูดครั้งแรกที่ "โบนันซ่า เขาใหญ่" ที่นั่นในวันที่ 22 ธันวาคม 2555 ที่เขาใหญ่เราได้นำเสนอหลักการ 3 อย่าง ซึ่งยังใช้จนถึงปัจจุบัน ก็คือข้อหนึ่งก็คือ นิรโทษกรรมโดยเราเสนอเป็นพระราชกำหนด สองก็คือการแก้รัฐธรรมนูญ ความจริงเราต้องการใช้คำว่ายกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ด้วยซ้ำ แต่เราต้องการที่จะให้รัฐบาลเดินหน้าวาระสาม  และเรื่องที่สามก็คือ ให้รัฐบาลอนุญาตให้ศาลอาญาระหว่างประเทศได้มาดำเนินงาน เพื่อที่เราต้องการให้เอาคนผิดมาลงโทษ

เพราะฉะนั้นหลัก 3 ข้อนี้ เราได้นำเสนอตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปีที่แล้ว มาจนกระทั่งในที่สุด ท่ามกลางการเสนอมีอยู่สิ่งหนึ่งที่คุณจตุพรพูด คือในฐานะคนในครอบครัวและก็มีเรื่องหลายเรื่อง ดังนั้นการนำเสนอของเราที่เป็นกฎหมายจริง เรานำเสนอในวันที่ 14 มกราคม 56 โดยที่ในภาพจะเห็นว่าเราไปพูดถึงและประกาศพระราชกำหนดในวันที่ 14 มกรา 56 โดยนิรโทษเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อยกเว้นแกนนำ แกนนำทั้งสองฝั่งไม่ได้รับการนิรโทษ แต่เราไม่ได้พูดถึงเจ้าหน้าที่ เพราะดังที่คุณจตุพรได้พูดว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่มีโทษและอีกอย่างหนึ่ง ในความรู้ทั่วไปของประชาชนก็คือ เจ้าหน้าที่นั้นได้รับการคุ้มครองด้วยพระราชกำหนดฉุกเฉินอยู่แล้ว ดังนั้นหัวใจสำคัญของพระราชกำหนดของเรา จึงอยู่ที่เรานิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำและไม่ได้กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นการเท้าความ

และถัดมาก็คือ เมื่อเราประกาศแล้ว คุณวรชัย เหมะ ได้มาแจ้งว่าเขาขอทำเป็นพระราชบัญญัติ ขอทำเป็นพระราชบัญญัติเพราะเกรงว่า พระราชกำหนดนี้ รัฐบาลอาจจะยังไม่กล้าที่จะดำเนินงาน แต่ว่าจะทำพระราชบัญญัติในความคิดและเรื่องราวแบบเดียวกับ "พระราชกำหนดของ นปช." เพราะฉะนั้นฝ่ายกฎหมายก็ได้ร่างและก็ คุณวรชัยได้ไปยื่นในวันที่ 7 มีนาคม 56 นี่คือเป็นเรื่องสืบหน้า เพราะฉะนั้นหมายความว่าอะไร หมายความว่าพระราชบัญญัติของคุณวรชัย ก็มีที่มาจากเนื้อหาพระราชกำหนดของ นปช.

ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเนื้อหาของพระราชบัญญัตินี้เราจึงสนับสนุน แต่ถามว่าเรายังยืนยันพระราชกำหนดหรือไม่ เราก็ยังยืนอยู่ตรงนี้ว่า ถ้าแม้นว่ามีการเดินไปในพระราชบัญญัติ แล้วมันเกิดติดขัดหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ท่านก็สามารถนำพระราชกำหนดนิรโทษกรรมของ นปช. มาดำเนินการเพราะจะเกิดผลได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วันเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้เราไม่ขัดข้องว่าพระราชบัญญัติฉบับวรชัย เหมะ ที่จะนำเข้า แต่เราก็ขอว่าขอให้เป็นร่างนี้ร่างเดียวเพื่อให้มันง่ายและให้มันออกมาเร็ว ๆ สักหน่อย และนี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องการให้สังคมเข้าใจ

และอีกอย่างหนึ่งมีคำพูดที่ว่า ร่างของ "วรชัย เหมะ" เป็นร่างที่นิรโทษให้กองทัพหรือทหาร ก็ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่ง จากป้ายนี้จะเห็นว่ามีร่างต่าง ๆ อยู่หลายร่าง อันนี้เป็นการทำโดยนักวิชาการอิสระ ซึ่งเราขอเอามาแสดงให้ดู ในนี้ก็ยืนยันว่าร่างของ วรชัย เหมะ จะนิรโทษให้ผู้ชุมนุม ปิดสนามบิน ผู้ชุมนุมรัฐประหาร หมายความว่าเหลืองและแดง สองตัวเท่านั้นแกนนำก็ไม่มี ปัญหาของ 112 ก็จำเป็นที่ต้องได้รับการพิจารณาในการตัดสินอีกครั้งโดยศาล แต่ว่าอย่างไรก็ตามเนื้อหาก็สามารถที่จะครอบคลุมทั้งหมด แต่ถามว่านิรโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่า? ไม่มี

ตรงข้ามฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นที่ท่านเห็นมี 4-5 ฉบับ อันนั้นจะนิรโทษที่เราเรียกกันว่า "เหมาเข่ง" ทั้งหมดที่มีกาถูกอยู่ข้างบน  ส่วนร่างของฉบับญาติวีรชนก็ปรากฏว่าไป ๆ มา ๆ ก็จะนิรโทษให้เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้นำเสนอด้วยซ้ำ ก็คือเป็นการนำเสนอว่า นักวิชาการอิสระเมื่อดูแล้วก็จะพบว่าร่าง วรชัย เหมะ ที่มีการกล่าวขวัญว่านิรโทษให้ทหารนั้นไม่เป็นความจริง แล้วก็ในมือนี้ (อ.ธิดา ยกเอกสารขึ้นมา) เป็นพระราชบัญญัติ 5-6 ฉบับ ฉบับที่บอกว่าเหมาเข่งนั้น แต่ละฉบับจะเขียนว่า การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้ารัฐ หรือว่าใช้คำว่า การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ๆ อันเกี่ยวกับการระงับป้องกันปราบปราม อันนี้ก็จะใช้คำว่าการกระทำเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฉบับ แต่คำเหล่านี้ไม่มีในพระราชกำหนดของ นปช. และไม่มีในพระราชบัญญัติของ "วรชัย เหมะ" เข้าใจเคลียร์กันแล้วหรือยัง?

เพราะฉะนั้นฝ่ายวิเคราะห์ข่าว ไม่ว่าจะเป็นของสถานีโทรทัศน์ใด ๆ รวมทั้งของที่นี่ด้วย ได้โปรดปรึกษาเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ที่เราต้องพูดเพราะว่าไม่ต้องการให้พี่น้องเราเสื้อแดงสับสน เราจึงต้องพูดย้ำชัด ๆ อีกหนึ่ง พร้อมด้วยหลักฐานที่เป็นเนื้อหาตัวหนังสือกฎหมายเลยว่า มีร่างส่วนหนึ่งที่นิรโทษให้กับคนจำนวนมากที่เรียกว่า "เหมาเข่ง" รวมทั้งเจ้าหน้าที่ แต่ร่าง 2 ร่างคือ พระราชกำหนดของ นปช. และพระราชบัญญัติของ "วรชัย เหมะ" พูดเฉพาะประชาชนเท่านั้น

เพราะฉะนั้นนี่น่าจะเป็นที่ ๆ สิ้นสุดได้ ถัดมาก็เป็นเรื่องของการเข้า ก็ชัดเจนดังที่คุณจตุพร ได้แจ้งว่าสรุปว่าจะมีพระราชบัญญัตินิรโทษฉบับของ "วรชัย เหมะ" ฉบับเดียว ปรบมือขอบคุณพรรคเพื่อไทยด้วยคะ และเราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าหากว่ามีการดำเนินการต่อ นี่ก็คือทำให้นิรโทษกรรมโดยเนื้อหาพระราชบัญญัตินั้นออกมาให้เร็วที่สุด เพราะพี่น้องทั้งที่อยู่ในเรือนจำและอยู่นอกเรือนจำและที่ต้องหลบหนีอยู่ไม่สามารถรอไปได้นานกว่านี้ และให้เดินหน้าในเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย จะเป็นมาตรา 68 หรือเดินหน้าวาระสาม คนเสื้อแดงก็เชียร์ทั้งนั้น"