เวลา 14.00 น. วันที่ 17 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธนิต ศรีประเทศ รองเลขาธิการสำนักงาน กกต.แถลงภายหลังการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุม กกต. ได้รับทราบความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยยินยอมให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนหักเงินเดือนส่งเข้าพรรคของ ส.ส.กว่า 150 คน แม้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีผู้ร้องเรียนต่อ กกต. แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกกต.ซึ่งต้องวินิจฉัยให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่พรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย ก็มีวิธีบริจาคเงินเข้าพรรคลักษณะเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์
นายธนิต กล่าวต่อว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ความเห็นที่สอดคล้องกับที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ว่า สำนักงานเลขาฯ เป็นเพียงตัวแทนในการอำนวยความสะดวกจัดส่งเงินบริจาคของ ส.ส.ไปให้พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่มีหนังสือยินยอมตามเจตนาของ ส.ส.แต่ละคน จึงถือว่าไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 71 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า หน่วยงานราชการ ห้ามบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ส่วนกรณีที่ ส.ส. 7 คน บริจาคเงินเกิน 2 หมื่นบาทโดยไม่ทำเป็นเช็คขีดคร่อมนั้น ก็ถือว่าไม่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 57 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองจำนวนมากกว่า 20,000 บาท ต้องทำเป็นเช็คขีดคร่อมนั้น เนื่องจากสำนักเลขาธิการฯ ได้สั่งรวมยอดเงินบริจาคจำนวน 1,530,000 ล้านบาท เป็นเช็คขีดคร่อม ก่อนส่งเงินบริจาคเข้าพรรคฯ ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาของการบริจาคได้ว่าใครบริจาคจำนวนเท่าใด ดังนั้น จึงเห็นควรให้ยุติการพิจารณา ซึ่งกกต.ก็ได้เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง
นายธนิต กล่าวถึงกรณีการบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีผู้ยื่นคำร้องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กกต.เห็นว่า แต่ละหน่วยงานของก็มีกฎหมายและแนวทางการพิจารณาแตกต่างกันไป ดังนั้น กกต.จึงไม่จำเป็นต้องส่งความเห็นของนายทะเบียนไปยังดีเอสไอ เพราะความเห็นดังกล่าวไม่มีผลผูกพันต่อหน่วยงานอื่น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ที่ดีเอสไอได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้จาก กกต. ซึ่งกกต.ก็ได้ดำเนินการจัดส่งไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนดีเอสไอจะมีแนวทางการพิจารณาอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ดีเอสไอต้องดำเนินการ