โฆษกศาลรธน.แจงเหตุ ‘วสันต์’ ลาออก ยันคดีร้อน ม.68-ชี้ขาดสถานภาพส.ส.‘มาร์ค’ ไม่สะดุด

ข่าวสด 17 กรกฎาคม 2556




 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้แถลงยืนยันว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการประธานศาลรัฐธรรมนูญและการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป หลังจากที่นายวสันต์ปฏิบัติตามภารกิจที่ตั้งใจไว้ คือ การพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ให้มีระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดการงานคดี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการงานคดีได้มีประสิทธิภาพ การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ขององค์กร การทำความร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ อีกทั้งยังเร่งรัดการพิจารณาคดีที่ค้างในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยคดีที่รับต้องพิจารณาเสร็จภายใน 1 ปี 

 ซึ่งในต้นปี 2555 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีคดีที่ยังคงค้างอยู่ถึง 123 คดี แต่คดีพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้วถึง 109 คดี ซึ่งปัจจุบันยังมีคดีที่ค้างอยู่ในการพิจารณาเพียง 30 คดีเท่านั้น ซึ่งเป็นการทำตามที่นายวสันต์ ได้ให้สัญญาไว้ เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 ส.ค. 54 ว่า จะอยู่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งไปยังประธานวุฒิสภา ถึงการลาออกของนายวสันต์เรียบร้อยแล้ว

 นายพิมลยังกล่าวถึงการพิจารณาคดีสำคัญที่ค้างอยู่ เช่น คำร้องที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และการพิจารณาสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั้น คณะตุลาการทั้ง 8 คนที่เหลือ ก็จะดำเนินการพิจารณาต่อไปโดยไม่ทำให้การพิจารณาหยุดชะงัก และคาดว่าคณะตุลาการจะเห็นชอบ ให้นายจรูญ อินทจาร ตุลาการผู้อาวุโสสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมไปจนกว่าจะมีการคัดลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ส่วนกรณีที่กังวลว่าหากตุลาการเหลือ 8 คนอาจไม่สามารถหามติได้ที่ชัดเจนได้นั้นไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะที่ผ่านมาหากการพิจารณามีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถหามติได้ คณะตุลาการจะทำการอภิปรายต่อจนกระทั่งแน่ใจว่า ได้เสียงที่เด็ดขาดจึงจะลงมติ รวมทั้งเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดกรณีดังกล่าว

 “การลาออกของท่านวสันต์ เป็นความประสงค์ส่วนตัวของท่านจริงๆไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะปกติศาลรัฐธรรมนูญก็เจอแรงเสียดทานทางการเมืองอยู่แล้ว ซึ่งท่านประสงค์ที่จะลาออกตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าขณะนั้นมีสถานการณ์การเมืองภายใน จึงได้ผ่อนคลายจนกระทั่งมายื่นลาออกในครั้งนี้ จึงชัดเจนว่า แรงเสียดทานที่ผ่านมาไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ และตุลการที่เหลือ ก็ไม่ได้กังวล ต่อแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับจากนี้ เนื่องจากการพิจารณาของคณะตุลาการจะยึดหลักผลประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และประชาธิปไตย อีกทั้งท่านฝากมาบอกว่า ท่านกำลังเขียนพ็อคเก็คบุ๊คเกี่ยวกับชีวิตการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้” นายพิมล กล่าว

 เมื่อถามว่า การพิจารณาของคณะตุลาการที่เหลือจะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้น มีผู้ที่เตรียมจะคัดค้านตุลาการบางคนไม่ให้เป็นองค์คณะ นายพิมล กล่าวว่า ประเด็นยังไม่เกิด จึงคาดการณ์และตอบในขณะนี้ไม่ได้

 นายพิมล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทางวุฒิสภาจะต้องดำเนินการสรรหาให้ได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะเข้ามานั้น จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แม้ว่าตุลาการ 8 คนที่เหลือ จะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปีเศษ เนื่องจากเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 51 โดยเมื่อวุฒิสภามีมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้ว ก็จะมาร่วมกับ 8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณา เพื่อคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ก่อนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าในคราวเดียวกัน