ข่าวสด
27 กรกฏาคม 56
รายงานพิเศษ
ทันทีที่วิปรัฐบาลประกาศผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคิวแรกในวันที่ 7-8 ส.ค.
ก็มีเสียงต่อต้านจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศขวางทุกทาง พร้อมยื่นคำขาดให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในสภาออกให้หมด รวมถึงเครือข่ายม็อบก็ขู่ปิดสภาในวันที่ถกกฎหมาย
ขณะที่พรรคเพื่อไทยมองมุมบวกว่า สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงเพราะเป็นแค่การรับหลักการวาระแรก อีกทั้งจุดมุ่งหมายของกฎหมายก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกสีทุกกลุ่ม ไม่รวมแกนนำและคนสั่งการอยู่แล้ว
นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ประเมินสถานการณ์ไว้อย่างไร
สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด
ก่อนพูดถึงสถานการณ์การเมืองที่สภาบรรจุระเบียบวาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับนายวรชัยเป็นวาระแรก ต้องถามก่อนว่าผู้ที่จะออกมาคัดค้านนั้นต้องการอะไร ในเมื่อร่างดังกล่าวไม่ได้ช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ นักการเมือง และแกนนำม็อบต่างๆ
อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยพูดเรื่องการไม่ให้นิรโทษกรรมตัวเอง รวมถึง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่มาครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์กลับคัดค้านร่างดังกล่าวที่ช่วยเหลือประชาชน
นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ต้องการค้านอะไร
ข้อกังวลถึงความรุนแรงและความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในห้องประชุมสภานั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องตีรวนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะ มีการวอล์กเอาต์ การเขวี้ยงปาแฟ้ม หรือแม้แต่การลากเก้าอี้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องตอบให้ได้ว่าทำเพราะอะไร เหตุใดถึงทำอย่างนั้น
ในส่วนของนอกสภาก็เป็นธรรมดาในช่วงที่ประเทศไทยยังแข่งขันกีฬาสีอยู่ รัฐบาลต้องปล่อยให้กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยออกมาแสดงพลังตามสิทธิเสรีภาพ
สถานการณ์เช่นนี้ต้องมีการเคลื่อนไหวตามเกมการเมือง อาจเกิดเหตุการณ์วุ่นวายบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องกังวลอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ปลุกระดมเรียกมวลชนเข้ามาชุมนุมว่ามีเหตุผลอะไรถึงออกมา เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเเล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาจากสภา อีกทั้งจะทำให้รัฐบาลได้ใจคนเสื้อแดง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดง
เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะไม่ทำไม่ได้ เเละถึงเวลาเเล้วที่รัฐบาลควรจะดำเนินการ ซึ่งจะทำให้มวลชนคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยเป็นเอกภาพต่อกัน
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของ นายวรชัย เหมะ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 7 ส.ค. ทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะมีกลุ่มที่ต่อต้าน ไม่ต้องการนิรโทษกรรมให้กับทุกคน
โดยเฉพาะการนำประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระ แรกก่อนกฎหมายอื่นๆ ทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ
ส่วนสถานการณ์จะร้อนแรงแค่ไหนต้องดูบรรยากาศในสภา ถ้าไม่โต้แย้งกันรุนแรงมาก บรรยากาศนอกสภาก็คงไม่น่ากังวล
ที่มีบางฝ่ายแสดงความเห็นว่านอกสภาอาจมีการชุมนุมคัดค้านจนถึงขั้นเปิดประชุมไม่ได้นั้น เชื่อว่าคงไม่รุนแรงขนาดนั้น ยกเว้นผู้ชุมนุมจะมากันเป็นแสนคน
แต่เท่าที่เห็นจำนวนคนมาร่วมกิจกรรมที่จัดอยู่ทุกวันนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีคนมาชุมนุมมากๆ โอกาสเกิดการปะทะกันก็สูง เพราะฝ่ายที่สนับสนุนพ.ร.บ.นี้ ก็บอกว่าตัวเองเรียกร้องมานานแล้ว ส่วนฝ่ายที่คัดค้านก็ยืนยันหนักแน่น
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้มีท่าทีสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่เสนอโดยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง และไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้ทั้งหมดทุกกลุ่มตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ
ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็เห็นว่าเรื่องนี้มาถึงจุดที่ต้องแตกหักแล้ว รัฐบาลต้องผลักดันให้ผ่านวาระ 1-3 ไปให้ได้ ก็คงจะต่อสู้จนถึงที่สุด
ดังนั้นบรรยากาศที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะมาพูดคุยปรับแก้เข้าหากันน่าจะเกิดได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเอาชนะ
แนวทางป้องกันไม่ให้สถานการณ์การเมืองรุนแรง ส่วนตัวมองว่าเราทะเลาะกันมามากเกินพอแล้ว ประเทศเสียหายมาเยอะแล้ว ถึงเวลาที่ 2 ฝ่ายต้องคุยกันว่าทำแค่ไหนจึงจะพอดี
ในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นห่วงว่าถ้าพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัยผ่านสภาได้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมา ก็อาจจะคุยกับฝ่ายรัฐบาลให้ทำไปทีละขั้น
เช่น นิรโทษกรรมให้ภาคประชาชนก่อน แล้วขั้นต่อไปจะนิรโทษกรรมให้กลุ่มไหนค่อยว่ากันอีกที
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องพบกับข้อขัดแย้งและแรงต้านจำนวนมาก ทั้งฝ่ายค้าน มวลชนที่มีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาล หรือแม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงผู้สนับสนุนรัฐบาลเอง
เนื่องจากเนื้อหาในร่างกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนว่าการ นิรโทษฯ จะครอบคลุมไปถึงระดับใดบ้าง ตัวข้อกฎหมายระบุเพียงว่าจะช่วยเหลือแต่ประชาชนที่เป็นนักโทษทางการเมือง
แต่จากการให้สัมภาษณ์ของนายวรชัยเองกลับบอกว่าอาจ มีการแก้ไขข้อกฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงการนิรโทษกรรม เจ้าหน้าที่ทหารด้วย ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงและญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม
เพราะในข้อเท็จจริงสาเหตุความรุนแรงในสังคมส่วนหนึ่ง มาจากกองทัพ ทั้งเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ หรือเดือนตุลาฯ เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อประชาชน แต่ก็ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ
อีกทั้งหากการเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับนายวรชัยยังคงไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ รัฐบาลจะต้องเจอปัญหาอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหวาดกลัวมากที่สุดคือ การยัดไส้กฎหมายที่จะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณให้กลับประเทศ
ซึ่งสิ่งนี้สามารถเรียกแขกให้รัฐบาลได้จำนวนไม่น้อย รัฐบาลจะต้องเจอกับปรากฏการณ์ "ก้าวไม่พ้นทักษิณ" ที่ชัดเจนอีก ครั้งหนึ่ง
เพราะหากการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่ การที่จะต่อยอดไปนิรโทษกรรมทักษิณจึงไม่ใช่เรื่องยาก
เนื่องจากวิธีลดอุปสรรคอย่างหนึ่งของรัฐบาลคือการสานสัมพันธ์กับกองทัพ ซึ่งอาจไปสอดคล้องกับกรณีคลิปเสียงการสนทนาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณและพล.อ.ยุทธศักดิ์
หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น รัฐบาลต้องเจอกับแรงต้านจากมวลชนฝ่ายตรงข้ามและผู้สนับสนุน โดยจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเหลือพื้นที่ทางการเมืองน้อยลงทันที
ดังนั้นรัฐบาลควรพุ่งเป้าที่จะนิรโทษกรรมเฉพาะมวลชนเท่านั้น เพราะจะทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถหาเหตุผลที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เช่นเดียวกับทางฝั่งเสื้อแดงเอง หากรัฐบาลไม่เหมารวมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุเข้าไปด้วย ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
จึงต้องจับตาแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า จะยึดถือประชาชนมากน้อยเพียงใด