สงคราม สุดท้าย ของ เจ้าชาย "แช่แข็ง" วันที่ 4 สิงหาคม

มติชน 26 กรกฎาคม 2556




พลันที่คณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ นายวรชัย เหมะ และคณะในวันที่ 7 สิงหาคม

ก็มีอาการ 2 อาการปรากฏ

1 เป็นความดีใจอันมาจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่ว่าจะเป็น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น นางธิดา ถาวรเศรษฐ

1 เป็นความหงุดหงิดจากพรรคประชาธิปัตย์

มติ ครม.เงา "ให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับที่อยู่ในวาระการประชุมออกมา แล้วหันหน้าไปแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน"

ในความเห็นของ นายถาวร เสนเนียม

"การประชุมในวันที่ 7 สิงหาคมเป็นห่วงว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยที่สุดองค์กรภาคประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยต้องออกมาเคลื่อนไหว"

สอดรับกับคำเชิญชวนของโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

"ขอเรียกร้องกลุ่มผู้เสียหายทุกกลุ่มทุกสีให้ร่วมกันลุกขึ้นต่อต้านกฎหมายที่ล้างผิดให้กับการทำร้ายประเทศ"

"อาการ" น่า "เป็นห่วง"

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่เสนอโดย นายวรชัย เหมะ และส.ส.กว่า 40 คนแห่งพรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามอย่างเต็มกำลัง

พยายามกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกไป

พยายามกันแกนนำ นปช.ที่ตกเป็นคดีความฟ้องร้องจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

เป็นการนิรโทษกรรมให้เฉพาะ "มวลชน"

เรียกตามภาษาปากก็คือ นิรโทษกรรมให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าร่วมการชุมนุมแล้วถูกจับกุมคุมขัง

ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ

ที่ดำเนินการเช่นนี้เพราะไม่ต้องการให้ถูกขยายความอย่างที่กระทำกันมาตลอดว่า ร่างกฎหมายเพื่อล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ล้างผิดให้กับแกนนำ

ไม่ว่าจะเป็น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ว่าจะเป็น นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ล้วนไม่อยู่ในข่ายได้อานิสงส์

แต่พลันที่พร้อมจะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นเรื่อง

สัมผัสได้จากอาการของ "ประชาธิปัตย์"

ที่มีข่าวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ทำนองว่าจะต้องเกิดความวุ่นวายแน่นอน วิปฝ่ายค้านบางคนถึงกับตีปลาหน้าไซถึงระดับ

"อาจมีการยึดอำนาจ"

ประเมินจากน้ำเสียงของ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ความเลวร้ายอันเนื่องแต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ไปไกลถึงขั้น

"ผู้ที่สังหารหมู่ 6 ศพที่วัดปทุมฯ จะได้รับการล้างผิดทันที"

"รัฐบาลต้องหยุดฟังและต้องถอยกระบวนการล้างผิดคนฆ่าประชาชน เผาบ้าน เผาเมือง"

"โน้มเอียงที่จะนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112"

อะไรที่นึกขึ้นได้และคาดคิดว่าจะสามารถระดมคนให้เข้ามาร่วมคัดค้านต่อต้านได้ก็ไม่ลังเลที่จะโหมประโคม

แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น "วิชามาร" แม้จะไม่ดำรงและดำเนินไปบนฐานแห่งความเป็นจริงของร่าง พ.ร.บ.

เหมือนกรณี "ข้าวเน่า" เหมือนกรณี "สารพิษ" ในข้าว

กลยุทธ์เช่นนี้อาจเคยได้ผลในการปลุกระดมก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และตอนยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินในปี 2551 แต่น่าสงสัยว่าคราวนี้จะได้ผลหรือไม่

น่าติดตาม ณ วันที่ 4 สิงหาคม

จากนี้จึงเห็นได้ว่า การเปิดสภาสมัยสามัญในเดือนสิงหาคม จึงเป็นเส้นแบ่งอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นเส้นแบ่งของเวที "ผ่าความจริง" เป็นเส้นแบ่งของการผนึกพลังหลอมรวมเข้ากับ "กองทัพประชาชน" เปิดแนวรบทั้งบนดิน ใต้ดิน ทั้งในสภาและนอกสภา

สงครามครั้งสุดท้าย เหล่าเจ้าชาย "แช่แข็ง"