ชำแหละสูตรนิรโทษฯ ฉบับ"ญาติวีรชน-วรชัย"


20 กรกฎาคม 2556

ห้วงนาทีระทึกใกล้เปิด "ประชุมรัฐสภา" สมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ทำให้กระแสร้อนเรื่องการผลักดัน "กฎหมายนิรโทษกรรม" กลับมาครึกโครมอีกครั้ง

เมื่อ "กลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53" นำโดย พะเยาว์ อัคฮาค และ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แถลงข่าวเปิดเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ถูกเรียกว่าเป็น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน มีทั้งหมด 8 มาตรา ต้องการให้ "รัฐบาล" เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของ "สภาผู้แทนราษฎร"

สาระสำคัญของ "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ฉบับประชาชน บัญญัติถึงเหตุแห่งการ "นิรโทษกรรม"

ให้การกระทำของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำใดๆ ของประชาชนผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือการกระทำความผิดต่อทรัพย์ เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชนให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... โดย วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะเป็นผู้เสนอ กำลังจ่อคิวอยู่ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นลำดับแรกมีทั้งสิ้น 7 มาตรา สาระสำคัญอยู่ที่ มาตรา 3 และมาตรา 4

โดยมีบทบัญญัติที่คล้ายกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน อยู่ในมาตรา 3 คือ ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

แต่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "วรชัย" และ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีบทบัญญัติที่ต่างกันในสาระสำคัญ ดังนี้

1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "วรชัย" ให้การกระทำที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

2.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "ประชาชน" ของ ญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 ให้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

ความต่างของ "ฉบับวรชัย" คือให้ "นิรโทษกรรม" ประชาชนที่ถูกจองจำอยู่ใน "เรือนจำ" และมีความผิดอันเกิดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เว้นแต่ความผิดระดับ "แกนนำ" ผู้ตัดสินใจและสั่งการ

ส่วน "ฉบับประชาชน" คือให้ "นิรโทษกรรม" ประชาชนเช่นกัน แต่หาก "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุก็ให้คงเป็นความผิดตามกฎหมายต่อไป

วรชัย เหมะ ให้ความเห็นผ่าน "มติชน" โดยตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "ญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53" ที่เสนอผ่านสื่อในขณะนี้ทำให้ "พรรคประชาธิปัตย์" ขานรับและสนับสนุนทันที ทั้งที่เนื้อหาไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการที่กระทำการเกินกว่าเหตุและได้รับคำสั่งจากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาสลายการชุมนุมประชาชน และทำไมถึงไม่เสนอร่างฉบับประชาชนมาตั้งแต่แรก

"ถ้าญาติวีรชนต้องการให้ผู้ปฏิบัติการทางทหารติดคุกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับพลเรือนและทหารก็จะทำให้กระบวนการนิรโทษกรรมพี่น้องประชาชนที่ติดคุกอยู่ในเรือนจำต้องลากยาวออกไปอีก พี่น้องก็เดือดร้อนจะทำอย่างไร วันนี้ต้องช่วยประชาชนก่อน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ถึงเมื่อใด ถ้าเกิดมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลคนในเรือนจำก็จะถูกจองจำต่อไป" วรชัยระบุ

"วรชัย" ยืนยันว่า ในขณะนี้จะต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นลำดับในวาระการประชุมสภา ส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของตนเองนั้น จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากความผิดหรือไม่ให้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญที่จะมีการพิจารณาในอนาคต ถ้าวันนี้บอกว่าไม่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการแล้วใครจะยอมต่อไปอาจจะเกิดแนวร่วมกับฝ่ายตรงข้ามทำให้พรรคประชาธิปัตย์ค้านได้อย่างเต็มที่