ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มญาติวีรชนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ซึ่งชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549" พร้อมกับแนบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกสี ทุกกลุ่ม จึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน และจากนี้ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เราจะไปยื่นเรื่องนี้ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จากนั้นจะเดินสายขอความสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยร่างฉบับนี้จะแยกแยะผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ได้รับประโยชน์ทุกคน ไม่ใช่แค่ประชาชน แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่เกินกว่าเหตุ ส่วนการที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนกลุ่ม นปช. ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตนขอถามว่า ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่น แม้จะบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่สุดท้ายก็ไปนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการคนอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนจะครอบคลุมย้อนไปถึงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549-9 พฤษภาคม 2554
ด้านนางพะเยาว์กล่าวว่า ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรี ว่าขอให้ออกมาพูดกรณีนี้บ้าง เพื่อให้เราได้รับรู้ว่านายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้ว เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญและสังคมกำลังจับตาอยู่ ทั้งนี้ เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้จะมีการต่อต้านน้อย เนื่องจากเราไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่เราทำเพื่อประชาชน
ขณะที่นายพงศ์เทพกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนดูแลเรื่องของการปรองดอง ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการนำไปสู่ความปรองดอง ทั้งนี้ จะรับเรื่องดังกล่าวส่งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงเนื้อหาสาระ ตนได้ติดตามเรื่องของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาก่อน ก็ทราบว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ไปร่วมการชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดร้ายแรงเป็นหลัก ซึ่งคนที่ร่วมการชุมนุมส่วนใหญ่จะมีความผิดเล็กๆ น้อยๆ ติดตัว ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปดำเนินคดีกับคนเหล่านี้ แต่เข้าใจว่าคงจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมต่อไป ว่าความผิดเล็กน้อยแบบใดที่ไม่ควรได้รับโทษ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลายฉบับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาต้องพิจารณาว่าจะพิจารณาร่างฉบับใด ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เราก็จะรับไปพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรต่อไปได้ แต่เท่าที่ฟัง ก็เห็นว่ามีหลักการที่สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบางฉบับที่อยู่ในสภา แม้จะมีเนื้อหาแตกต่างกันไปบ้าง และหวังว่าหลังจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เพราะการที่รัฐบาลมุ่งสร้างความปรองดอง การขับเคลื่อนบางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนิรโทษกรรมนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกัน จะขับเคลื่อนให้เกิดความปรองดองได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
นายพงศ์เทพให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่าที่ประธาน นปช. ไม่เห็นด้วยกับการจะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก แทนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่ม นปช.ว่า การประชุมสภาจะเปิดนาน 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กำลังพิจารณาความพร้อมของร่าง พ.ร.บ.ฉบับต่างๆ และการจัดลำดับความจำเป็นการพิจารณาร่างฉบับใดก่อนหลัง รวมถึงคงจะรับความคิดเห็นของนายจตุพรไปด้วยอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เขาต้องไปทำความเข้าใจกับมวลชนด้วย ทั้งนี้ กฎหมายบางฉบับซึ่งรวมถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณมีการกำหนดเวลาที่จะต้องทำให้เสร็จ แต่ร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ ก็น่าจะได้รับการพิจารณากันครบถ้วนในการประชุมสภาสมัยสามัญนี้