อ.ธิดาชี้ "นิรโทษฯ ให้ทหารเขียนพ.ร.บ.อย่างไร?" ตอน 2



ทีมข่าว นปช.
30 กรกฎาคม 2556

ถอดคำพูดในรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย
ประเด็น "ปัญหาความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย"
ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 สถานีเอเชียอัพเดท

อ.ธิดา : ทีนี้ฉบับของแม่น้องเกด  พูดประเด็นเฉพาะทหารก่อนก็คืออยู่ในมาตรา 4  มาตรา 3 ก็มีคนมีความเห็นมากมายว่าถ้าทำตามนี้คนที่อยู่ในเรือนจำก็คงจะไม่ได้ออกมาทั้งหมดเพราะเขาแบ่งเป็นลหุโทษ โทษเบา โทษหนัก และพูดถึงว่าการมีอาวุธ เรื่องเผาถ้าเป็นของเอกชนไม่ได้  อะไรต่าง ๆเหล่านี้ 

ทีนี้เราพูดมาตรา 4 การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งการบังคับบัญชา และ/หรือ ไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง และมาวรรคหลัง

การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง  ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ในนี้มาเน้นตรง  หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ในทรรศนะของบางท่านรวมทั้งญาติวีรชนก็คิดว่าเขียนแบบนี้แปลว่าไม่นิรโทษให้ทหาร  แต่ว่านี่คือนิรโทษ  อาจารย์จะบอกให้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขาก็ไม่อนุญาตให้ทำเกินกว่าเหตุนะ  แล้วคุณจำเป็นอะไรที่ต้องเขียนมาตรา 4  ไม่มีความจำเป็นแต่กลายเป็นว่าพอเขียนไปแล้วก็มีคนไปชี้แนะแล้วมาโจมตีว่าร่างของวรชัย  เหมะ นิรโทษให้ทหาร  นี่เป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าใครไปเรียนมาจากพรรคประชาธิปัตย์นะที่เปลี่ยนผิดเป็นถูก บิดเบือนถูกเป็นผิด ขาวเป็นดำไปเลย ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีเหตุผลเลย  คำพูดที่ว่าร่างของวรชัยนิรโทษให้ทหารมาจากการกระทำของคนที่ไม่หวังดี  เพราะว่าจากการที่ญาติวีรชนเดินสายไปพบคนนั้นคนนี้แล้วก็เวลาไปพบนักวิชาการกฎหมายเสื้อเหลือง เท่าทีอาจารย์ทราบไปพบที่หน่วยงานของคอป.เก่า คปก. ท่านคณิต  ณ นคร แล้วก็มีการบอกกันว่าร่างของวรชัยนั้นนิรโทษให้ทหาร  ทางนี้ก็เต้นซิคะ มีการมาพูดโจมตี 

อาจารย์ถึงได้บอกว่าคำพูดเป็นนายนะ  คือในหมู่มิตรด้วยกันถ้าเราใช้ท่วงทำนองไม่ถูกมันเสียมิตร เพราะฉะนั้น นปช. ระวังมาก  เราไม่ได้ไปก้าวล่วงกระทั่งทางพรรคหรือทางรัฐบาล  เพราะเขาก็มีสิทธิที่จะตัดสินใจ  เราใช้ท่าทีของมิตรในการแนะนำหรือในการให้ความคิดเห็นแต่เราจะไม่โจมตีด่าทอหรือใช้คำพูดรุนแรง  ที่นปช.พูดนั้นเรามีความเห็นต่อเนื้อหา  เราไม่ได้มีความเห็นต่อผู้เสนอ  เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงผู้เสนอ

เรายังต่ออยู่ในประเด็นเรื่องของนิรโทษให้ทหารเขาเขียนกันอย่างไร?  และเราก็ชี้ให้ดูว่าเขาต้องเขียนลงไปเลยให้ชัด  ทีเราพูดถึงร่างของคุณสนธิ  บุณยรัตกลินแบ่งเป็นวงเล็บหนึ่งพูดถึงประชาชน วงเล็บสองพูดถึงทหาร  ในร่างของคุณเฉลิมก็เขียนต่อแต่อย่างน้อยก็ต้องเขียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่ทำหน้าที่ปราบปรามประชาชนคือบางคนอาจจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ทีนี้มาดูของคุณนิยม  วรปัญญา  เรียกว่านิรโทษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐแล้วเขาเขียนอย่างไร  สิ่งที่เขาเขียนก็คือว่าเขามี (2) ทีนี้อาจารย์จะดูข้างหน้า มาตรา 3 ทำแบบเดียวกัน

มาตรา 3 เพื่อสร้างความปรองดอง  ถ้าก่อนวงเล็บหนึ่งเขานิรโทษให้กับผู้ที่เป็นผู้กระทำหลังถูกกระทำวันที่ 19 กันยายน 2549 หมายความว่าผู้ที่ถูกกระทำแล้วกลายมาเป็นผู้กระทำ        ข้อ 1. วงเล็บหนึ่ง การกระทำการปฏิรูปการปกครอง นี่หมายถึงพวก คปค. ก็คือไปนิรโทษให้พวกทำรัฐประหารอีกด้วยนะคะ  ความจริงไม่มีเหตุผลเลย
                ข้อ 2. (2) การกระทำในการชุมนุมหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม หมายถึงผู้ชุมนุม
                ข้อ 3. (3) การกระทำบุคคลที่ถูกสอบสวน ไต่สวน หรือคำวินิจฉัยบุคคลตามคำสั่งประกาศของคณะปฏิรูปการปกครอง  อันนี้หลายคนรับไม่ได้เพราะเขากลัวคุณทักษิณจะได้ประโยชน์จากวงเล็บสามอันนี้
                ข้อ 4. (4) การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ทหาร ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้กระทำในการควบคุมการชุมนุม การสลายการชุมนุม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นใด รวมถึงการกระทำการสอบสวนทางวินัยราชการอันเนื่องจากวงเล็บสอง  รอบคอบมาก  เขียนละเอียดเลย  เพราะฉะนั้นขอให้ผู้ที่บอกว่าร่างของคุณวรชัยเป็นร่างที่นิรโทษให้ทหารได้รู้ด้วยว่าเขาเขียนกันอย่างไร  เขาเขียนกันอย่างนี้แหละ  ก็คือถ้าเขาจะนิรโทษให้ใครเขาก็ใส่  อย่างอันนี้เขาใส่ คปค. เขาใส่องค์กรอิสระ น่าสนใจ ใส่หมดเลย
                ข้อ 5. (5) การกระทำใด ๆ ขององค์กรอิสระหรือองค์กรอื่นใดด้วย  ก็แปลว่าถ้าเขาจะนิรโทษให้ใครเขาก็เขียน  ถ้าเขาไม่นิรโทษเขาก็ไม่ต้องเขียน

เพราฉะนั้นนี่เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า  นี่แหละคือพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  และพูดจริง ๆ นะก่อนหน้านี้อาจารย์ก็นั่งอ่านถามว่าทำไมถึงมีส่วนช่วยเขียน พ.ร.ก. ได้ง่ายและรวดเร็ว (แต่เราก็ให้ฝ่ายกฎหมายดู)  เพราะอาจารย์กลับไปย้อนดู พ.ร.ก.นิรโทษกรรมและ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเขาเขียนอย่างไร  เพราะฉะนั้น พ.ร.ก.ของ นปช. มันก็มี 3 มาตรา 4 มาตรา หน้าเดียวจบ

อาจารย์อยากจะบอกว่าถ้าเรามีความเข้าใจกัน  ไม่มีความระแวงกันก็จะไม่มีปัญหา  แต่บางครั้งคนจากไม่ระแวงนะอยู่ ๆ ไปทำไมมันเกิดระแวงขึ้นมาก็เพราะมีคนพูดให้เข้าใจผิดหรือเปล่า  แล้วถ้ามีคนพูดอะไรให้เข้าใจผิดเราก็มาคุยกันได้  สมมุติว่าญาติวีรชนมาถามอาจารย์ว่า อ.ธิดาร่างของวรชัยนิรโทษให้ทหารเรือเปล่า ง่ายนิดเดียวไม่มีปัญหาเลยอาจารย์ก็อธิบายอย่างนี้แหละ  เพราะว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของคุณวรชัยมาจากพระราชกำหนดของนปช.

บางคนบอกว่าพ.ร.บ.ของวรชัยเกิดจากการผลักดันของกลุ่มโน้นกลุ่มนี้  อาจารย์ก็ไม่ปฏิเสธว่าทั้งสังคมเราช่วยกันกดดันว่าทำอย่างไรถึงจะนิรโทษกรรม  เราเริ่มที่เขาใหญ่โบนันซ่า เดือนธันวาคม ปี 55 เรามาประกาศว่าจะต้องมี พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเป็นอันที่หนึ่ง แล้วถัดมา วันที่ 14 มกราคม 56 ก็มาพูดที่เรือนจำหลักสี่มี อ.ธิดา, ณัฐวุฒิ, จตุพร  ไปยืนอ่านคำแถลงเรื่องของพระราชกำหนดออกมาเป็น1, 2, 3, 4 แล้วแจก  ก่อนการเคลื่อนไหว 29 มกรานะ คือมันเป็นเรื่องบังเอิญเพราะเราต่อเนื่องมาจากจากโบนันซ่าเขาใหญ่ที่เราพูดแต่ไม่มีตัวพระราชกำหนด  แต่เรามาเขียนและมาประกาศในวันที่ 14 จริง ๆ มันเสร็จก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 แต่ว่าหาสถานที่เหมาะไม่ได้ก็เลยมาเป็นวันที่ 14

ต่อมาคุณวรชัยโทรศัพท์มาบอกว่า  ผมว่ารัฐบาลทำไม่ได้หรอกเพราะด้านหนึ่ง พ.ร.ก. มันมีคำพูดว่าต้องฉุกเฉินเกี่ยวข้องกับความมั่นคง  ก็กลัวว่าพวกนั้นจะจัดการกับรัฐบาล ผมอยากจะเสนอเป็น พ.ร.บ.ได้ไหม?  อาจารย์ก็เลยบอกว่าคุณมีสิทธิเพราะคุณเป็นส.ส.  แต่พูดในหลักการแกนนำนปช.นั้นต้องปฏิบัติตามมติ  นี่จึงเป็นเหตุผลว่ามีส.ส.จำนวนมากที่ไม่ได้เซ็นชื่อในร่างของวรชัย  หมายถึงส.ส.เสื้อแดงนะ  เหตุผลเพราะเขาต้องปฏิบัติตามหลักการคือยืนมตินปช.คือเอาพระราชกำหนด  แต่ถามว่าคนเขียนไม่ใช่คุณวรชัยหรอก  เป็นทีมกฎหมายของนปช.  ก็เอาพระราชกำหนดนี้แหละไปเขียนดังที่เราเห็น  เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ของคุณวรชัย  เหมะจึงไม่มีการพูดถึงทหาร  นี่คือเหตุผลว่าทำไม  อ.ธิดา, คุณหมอเหวง หรือแกนนำอื่น ๆ ออกมาพูดแทนคุณวรชัย  เพราะว่าหนึ่งเราอ่าน  สองที่มามันมาจากที่เดียวกันเราจึงเข้าใจจิตวิญญาณเพราะว่านี่คือมติของเรา  เราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องทหาร  แต่คุณวรชัยอาจจะไม่ได้เข้าประชุมด้วย  แต่ก็เข้าใจวิญญาณว่าปลดปล่อยประชาชนทุกสีเสื้อยกเว้นแกนนำแค่นี้  แต่ว่ารายละเอียดมันเป็นเรื่องเทคนิคของฝ่ายกฎหมายซึ่งบางครั้งพวกเราก็ไม่อยากจะไปรับรู้  เหมือนกับทางญาติวีรชนก็ต้องการบอกนักกฎหมายว่าเขาไม่ต้องการนิรโทษให้ทหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารที่ทำเกินกว่าเหตุ  แต่ว่าพอสิ่งที่เขียนขึ้นมา  เราถามว่าแล้วทำไมต้องเขียนล่ะ  เพราะว่ากฎหมายพระราชกำหนดมันบอกไว้แล้ว ตรงกันข้ามกลับสบายเลยเพราะทุกคนจะบอกว่าเขาไม่ทำเกินกว่าเหตุเพราะพวกนี้มีชายชุดดำ พวกนี้มีอาวุธ

เหมือนกับที่เขียนไว้ในมาตรา 3 ร่างของญาติวีรชน ในนี้แบ่งเป็นวงเล็บหนึ่ง วงเล็บสอง วงเล็บสาม วงเล็บสี่ อันนี้แหละที่เข้าใจว่าจะมีนักวิชาการแสดงความคิดเห็น  เท่าที่อาจารย์ทราบเขามีการไปสัมมนาก็พบว่าญาติวีรชนส่วนหนึ่งก็เลยต้องยอมจำนวนว่าการเขียนแบบนี้นั้นมันไม่สามารถนิรโทษให้กับคนที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ได้เลย  แล้วกลายเป็นเรื่องที่เรียกว่ามันไม่ใช่ให้คุณ  มันให้โทษกับนักโทษที่ติดคุกทั้งหมดเลย  เพราะในนี้ก็พูดถึงหากเป็นความผิดลหุโทษ หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ตามกฎหมายอื่นให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง นี่เราติดคุยมา 3 ปีกว่าแล้วนะ  แล้ว 2 ปีมันจะเหลือหรือ  อาจจะมีบางคนที่ยังไม่ได้ถูกฟ้องร้องก็มีหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการ  แต่จำนวนน้อย

วงเล็บสามในนี้เป็นการนิรโทษโดยพูดถึง 3(1), 3(2) ที่เราพูดมาแล้วคือลหุโทษ หรือตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง  ความหมายก็คือหมายความว่าไม่ใช่ชุมนุมแต่อยู่นอกชุมนุมก็ได้แต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน 

หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และได้กระทำโดยเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง  อันนี้หมายถึงว่ามันไม่ได้ช่วยผู้ที่ยังอยู่เพราะเหตุว่าเขาพูดถึง (1) (2) ซึ่งเป็นโทษเบา  แต่หมายความว่า (1) (2) นั้นพูดเฉพาะผู้ชุมนุม (3) ก็คือผิดแบบนั้นแหละ  แต่อยู่นอกที่ชุมนุม

(4) นี่สำคัญ  การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด โดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย

การกระทำใด ๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย แล้วในนี้ก็รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหว ความหมายคือหมายถึงแกนนำ ของเราหมายถึงประชาชนปล่อย ยกเว้นแกนนำ  แต่อันนี้เขาบอกว่าให้มีความผิด  ดังที่บอกแล้วว่ามีความคิดอยู่แล้วว่า มีพวกหนึ่งพวกลักทรัพย์ อีกพวกหนึ่งถูกข้อหาวางเพลิง หรือว่าพวกที่มีอาวุธมุ่งประทุษร้าย  ที่อาจารย์อธิบายแล้วว่าถ้าประเทศนี้มีความยุติธรรม  ถ้าประเทศนี้มีนิติรัฐนิติธรรม ไม่ต้องนิรโทษค่ะ ให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปเลย  สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีแต่ฝั่งเสื้อแดงที่ติดคุก ที่ถูกลงโทษ อีกฝั่งหนึ่งไม่มีเลย หรือมีคนเดียวมั้งที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ 

แล้วนอกจากนั้นก็คือปัญหาที่มาตอนขั้นต้นที่อาจารย์พูด  ที่เล่าให้ฟังว่ามันมีสินบน 50,000 มันมีเหตุจูงใจในการที่จะยัดเยียดข้อหาในการที่จะจับคนโดยที่ไม่มีความผิด ในการยัดเยียดอาวุธหรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่เอามาตั้งโชว์  จะบอกให้ว่ามันไม่มี หลังจากที่เราเลิกชุมนุมทั้งที่ในวัดปทุมฯ ก็เอาอาวุธไปโยนใส่เอาไว้  ความจริงมันไม่มี  นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องทำนิรโทษกรรม

ผู้ดำเนินรายการ : ก็คืออย่างที่อาจารย์ได้ย้ำไป  ก็คือเหตุผลที่จะต้องมีการนิรโทษกรรมทุกวันนี้เนื่องจากว่ากลไกในเรื่องของการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมนั้นมีรูปแบบที่บิดเบี้ยวไป  ก็เลยทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม  เรื่องนั้นก็คือสองมาตรฐาน  ทีนี้ขอถามอาจารย์ว่าเดินทางมาถึงวันนี้ในวันที่ 7-8 สิงหาคมก็จะเริ่มมีการพิจารณาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของคุณวรชัย  เหมะ ซึ่งวิปรัฐบาลและมติของพรรคเพื่อไทยรวมถึง นปช. ก็เห็นด้วยในการที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว  อยากให้อาจารย์ชี้จุดดี ข้อดี ของ พ.ร.บ. ฉบับคุณวรชัย  เหมะ อีกครั้งเพื่อให้สังคมได้รับรู้อย่างกระจ่างชัดครับ

อ.ธิดา : ข้อดีของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสืบเนื่องมาจากการที่ขณะนี้มีความขัดแย้งในทางความคิดสังคมแบ่งประชาชนเป็นพวกและไม่มีการยอมรับกติกา  ถ้าหากสังคมนี้ยอมรับกติกาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น  แต่การที่เราถูกกระทำ  ในนี้มีอยู่ฉบับหนึ่งที่พูดถึงผู้ถูกกระทำแล้วมากลายเป็นผู้กระทำ  ก็คือถูกกระทำจากการทำรัฐประหารแล้วมากลายเป็นผู้กระทำก็คือมาเป็นผู้ประท้วง หรือมาขัดขืนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออาจจะทำให้เกิดความเสียหาย นี่แปลว่าผู้ถูกกระทำแล้วมากลายเป็นผู้กระทำ นี่คือความคับแค้น จึงต้องการแสดงออกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เขาเรียกร้องอย่างสันติวิธีอย่างถูกต้องตามระบบ  เขาเรียกร้องให้ยุบสภา  เขาไม่ได้ทำเกินเลย  แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการตาย  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการจับกุมคุมขังที่สิ้นอิสรภาพ  ไม่ได้รับการประกันตัว  ตลอดจนถูกยัดเยียดข้อหาจำนวนมาก  ถูกยัดเยียดว่าประหนึ่งเป็นชายชุดดำมีอาวุธไปเผาที่โน่นที่นี่กระทั่งศาลชั้นต้นยกฟ้องก็ยังอุทธรณ์อีก  เพราะฉะนั้นกลไกรัฐเหล่านี้นี่แหละเป็นกลไกรัฐที่ทำลายสังคมไทย  คำถามก็คือเราจะอยู่กันอย่างนี้หรืออย่างไร  ถ้าคุณไม่เอานิรโทษกรรมมันก็ได้นะ  แต่หมายความว่าประเทศนี้มันจะอยู่กันอย่างไร คุณปล่อยให้คนส่วนใหญ่คนที่ถูกกระทำแล้วต้องถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก  พอเขาจะมาเป็นผู้กระทำคุณก็ไปจัดการเขาให้อยู่ในคุกแล้วก็ไม่ให้ประกันตัวหรือแม้กระทั่งยัดเยียดข้อหาเป็นแพะ 

เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นความขมขื่นของสังคมว่าเราจำเป็นต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติ  คือออกกฎหมายเพื่อมาแก้ปัญหา  เพราะกลไกยุติธรรมปัจจุบันมันใช้ไม่ได้  มันไม่ใช่ทางออกประเทศไทย  ฝ่ายนิติบัญญัติต้องตระหนักในอำนาจของตัวเองว่าถ้าท่านไม่ทำ ณ เวลานี้  ประชาชนเอายอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเลือกท่านขึ้นมาให้มาทำให้ที่แก้ปัญหาประเทศ  ถ้าท่านไม่ทำแล้วท่านไม่เลือกทำตรงนี้  นั่นหมายถึงว่าจะเป็นหายนะประเทศไทยข้างหน้าเพราะประชาชนจะบอกว่าอำนาจอะไร ๆ ก็ไม่ใช่ของประชาชน  เลือกตั้งเข้ามาแล้วตัวแทนก็ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน  ไม่ทำเพื่อให้เกิดทางออกของประชาชน  ถามว่ามิคสัญญีในประเทศจะเกิดขึ้นไหม  เพราะฉะนั้นขอส่งคำถามไปยังรัฐสภาว่า  ท่านอยู่ในฐานะตัวแทนประชาชนที่เลือกมาทำหน้าที่ตัวเองอย่างซื่อสัตย์  เพราะประชาชนนั้นฟางเส้นสุดท้ายคืออะไร?  ก็คือทำตามกลไกรัฐทุกอย่างแล้ว  แต่ปรากฏว่ายังถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก  ถ้าเช่นนั้นแปลว่าอำนาจนิติบัญญัติก็จะไม่ใช่ที่พึ่งของประเทศไทยเหมือนกับอำนาจอื่น ๆ เช่นกัน  เพราะฉะนั้นก็ขอฝากว่าถ้าไม่ต้องการให้มีมิคสัญญีเกิดขึ้น  ไอ้ที่กำลีงจะเกิดขึ้นวันที่ 4 นี้เรื่องเล็กนะ  แต่ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรม  ข้างหน้ามันใหญ่กว่าม็อบแช่แข็งเยอะ!!!