อ.ธิดาชี้ "นิรโทษฯ ให้ทหารเขียนพ.ร.บ.อย่างไร?" ตอน 1

.


ทีมข่าว นปช.
30 กรกฎาคม 2556

ถอดคำพูดในรายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย
ประเด็น "ปัญหาความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย"
ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 สถานีเอเชียอัพเดท


ผู้ดำเนินรายการ : วันนี้เราจะมาพูดคุยเจาะลึกโดยเฉพาะพ.ร.บ.ที่ถูกบรรจุไว้ในสภาขณะนี้ก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของคุณวรชัย  เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกโจมตีจากฝ่ายค้านว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้กับทหารด้วย และก็รวมไปถึงพ.ร.บ.ฉบับของญาติวีรชน ปี 53 ทั้งสองฉบับ  อาจารย์จะชี้จุดดีและจุดเด่นของแต่ละฉบับว่าเป็นอย่างไรด้วยครับ

อ.ธิดา : ความจริงสัปดาห์ที่แล้วเราคุยไปรอบหนึ่งแล้วนะ  แต่ดูแล้วเกมส์มันยังไม่จบก็ทำให้เราต้องกลับมาพูดกันซ้ำ  เราจะได้มาวิเคราะห์และให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น  คือถ้าถามจริง ๆ ตัวอ.ธิดาคิดอย่างหนึ่งว่าในหมู่ของฝ่ายประชาธิปไตย  ความพยายามที่เขา (ระบอบอำมาตย์) จะทำให้มีปัญหามันก็มีอย่างที่เราพูดเมื่อวานนี้ว่าบางทีเขาไม่สามารถเจาะให้เปลี่ยนได้หรอกแต่เจาะให้มันมีปัญหากัน  แต่ดังที่เราบอกแล้วว่าขณะนี้เอาทีละร่างก่อนก็ได้  เอาร่างของคุณวรชัยที่มีปัญหากันมากก็คือ  มีการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีก  อาจารย์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้  ก็คือมีการพูดว่าร่างของคุณวรชัย  เหมะนั้นนิรโทษกรรมให้ทหาร  ทีนี้เรามาอ่านเนื้อหากันเลยและเปรียบเทียบว่าร่างแต่ละร่างนั้นแตกต่างกันอย่างไร

เอาร่างที่นิรโทษกรรมให้ทหารก่อนก็ได้ ซึ่งเขาจะเขียนชัดเจนเลยว่านิรโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ  อย่างอาจารย์ดูนะฉบับของสนธิ  บุณยรัตกลิน  อันนี้ก็ประเภทเหมาเข่ง  อาจารย์จะอ่านนะคะ พ.ร.บ.ปรองดอง มาตรา 1, มาตรา 2 เราไม่พูด (ข้ามไป)

มาตรา 3 เขาใช้คำว่า ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 จนถึง 10 พฤษภาคม 54 หากมีการกระทำใดที่เป็นความผิดกฎหมายให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป  อันนี้พูดถึงการชุมนุมทางการเมืองนะโปรดสังเกต  และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและรับผิดโดยสิ้นเชิง  มาตรา 3 เป็นมาตราเดียวที่เราดูว่าความหมายถึงผู้ชุมนุมแต่เขาใช้คำว่าเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเหมือนกันนะ  ถ้าคนมาตีความว่าการกระทำใด ๆ พูดแบบนี้หมายถึงทหารก็ได้  แต่ให้ดูนะว่าในนี้เขาแบ่งเป็นวรรคหนึ่ง การกระทำของบุคคลทั้งหลายที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมการกล่าววาจา  อันนี้เรียกว่าคล้ายกันนะเกือบจะเรียกว่าลอกออกมาเลย  หรือโฆษณาวิธีการใดเพื่อเรียกร้องทำให้มีการต่อต้านรัฐ  นี่เหมือนกับร่างวรชัยตรงนี้ก็มีส่วนหนึ่งที่เขียนแบบนี้ 

คือในมาตรา 3 เริ่มต้นนี่เขียนคล้ายกัน  การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ความจริงตัวนี้มันชัดเลยนะของร่างวรชัย  ที่อาจารย์พูดก็คือว่าถ้าเป็นร่างวรชัยก็มีการเขียนท่อนแรกวงเล็บหนึ่งคล้ายกันเลยกับฉบับของสนธิ  บุณยรัตกลิน  แต่ในความหมายถึงผู้ชุมนุม  ของวรชัยจบแค่นี้ก็คือไปละเว้นการกระทำไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ  อาจารย์อ่านอีกทีก็ได้ว่ามาตรา 3  ในตอนแรกก็คือให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลนะ  มีคนมาตีความว่าบุคคลหมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐด้วย  อาจารย์จะบอกให้ว่าอันนี้มันเหมือนวงเล็บหนึ่งของร่างอื่น ๆ  แล้วเดี๋ยวเขามีวงเล็บสองที่พูดถึงเจ้าหน้าที่รัฐ  แต่ร่างวรชัยไม่มีเพราะฉะนั้นคนที่วิพากษ์วิจารณ์คำพูดแล้วตีความอันเดียวอ่านให้หมดด้วย  เหมือนตอนที่อาจารย์วิเคราะห์เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ  อาจารย์ก็ต้องไปเปิด  คือเราไม่เอาคำพูดเขาหรอก  ไปเปิดคำวินิจฉัยส่วนตนทุกคน  แล้วคำวินิจฉัยส่วนรวม  อ่านแล้วคิด แล้วทำข้อสรุปเป็นย่อ ๆ เลยว่าส่วนตนแต่ละคนออกมาอย่างไร  เราถึงตอบได้ว่าที่ให้ทำประชามติก่อนมีคนเดียว  แล้วมันออกมาเป็นคำวินิจฉัยส่วนกลางได้อย่างไร นี่ยกตัวอย่าง

อันนี้ก็เหมือนกันคุณต้องมาดูนะว่าของวรชัยเขาก็ใช้คำว่าบุคคลเหมือนกันนะ  บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง  แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ  นี่หมายถึงว่าการกระทำของบุคคล  แล้วยาวต่อมาว่าหรือแม้กระทั่งโฆษณาเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ  ถามว่าเจ้าหน้าที่จะไปตีความได้ไหม  กระทั่งว่าคุณไม่รู้นะว่าเขามีวงเล็บสองหรือไม่มี  คุณต้องอ่านให้ยาว  คุณอย่าไปตัดตอน  บุคคลต่าง ๆ ทั้งหมดที่ว่านี่จะทั้งแสดงออกแบบไหน กล่าววาจาโฆษณาหรือมีการต่อต้านรัฐ ไอ้นี่มันแปลว่าเป็นประชาชนผู้ชุมนุมหรือผู้ไม่มาชุมนุมที่ต่อต้านรัฐ  แล้วจะไปแปลว่าเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร

การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐยิ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐใหญ่เลย หรือการชุมนุม หรือการประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มาชุมนุมประท้วงหรอก อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ของบุคคลอื่นนะ  อันนี้หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง  หนึ่งกว้างแล้ว  ไม่ต้องแยกลหุโทษ  ไม่ต้องแยกว่าโทษเบาโทษหนัก  ไม่ต้องแยกว่ามีอาวุธ  ไม่มีอาวุธ  เอาว่าที่คนทำผิดทั้งหมดถือว่าละเว้นทั้งหมด  ซึ่งเดี๋ยวเราจะอ่านร่างอีกร่างหนึ่งในเชิงเปรียบเทียบ

แต่ตอนนี้เราขอเปรียบเทียบประเด็นนี้  อันนี้ในร่างวรชัยมันตามว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ  หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว  ถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐเขาจะมาสั่งให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองไหม มันไม่ใช่  เพราะฉะนั้นในมาตรา 3 ทั้งหมดนี้มันเป็นการพูดถึงฝ่ายประชาชนที่ต่อต้านรัฐแล้วทำผิดกฎหมาย ไม่ได้บอกว่าทำผิดมาก ทำผิดน้อย ทำผิดต่อเอกชน ทำผิดต่อรัฐ ทั้งหมดเลย

ทีนี้มาดูถ้าร่างของสนธิ  บุณยรัตกลินเขาจะมีวงเล็บสอง การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันระงับหรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง  นี่ไง  อันนี้เขานิรโทษเจ้าหน้าที่รัฐ  ขอโทษ  ในเมื่อไม่มีในร่างวรชัย  แล้วจะบอกว่านิรโทษให้ทหารเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างไร? การที่เราบอกว่าไม่เขียนแปลว่าเรามีนิรโทษ  ก็มีคำอธิบายว่าด้านหนึ่งเขายังไม่มีโทษออกมา  ที่สำคัญที่สุดก็คือเขาได้รับการคุ้มครองด้วยพระราชกำหนดฉุกเฉินอยู่แล้ว  แต่ว่าฉบับของสนธิเขียนชัดเจนว่าเป็นอย่างนั้น  เพราะฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายที่ยังข้องใจโปรดรู้เอาไว้ด้วยว่าการเขียนกฎหมายเขาไม่ได้มาเขียนให้กำกวมอย่างนี้หรอก  แล้วไม่ต้องเป็นศรีธนญชัยเอาอย่างตุลาการบางกลุ่ม (ไม่อยากเอ่ยชื่อ) เช่นหรือ/และ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้  ก็ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเราก็เขียนไปซื่อ ๆ เลยว่านิรโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ  บางคนบอกแล้วทำไมไม่เขียน  ไม่เขียนแปลว่านิรโทษให้  ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ  ถ้าอย่างนั้นคุณต้องเขียนหมดซิว่า ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ พยาบาล หมอ พ่อค้า แม่ค้า ต้องเขียนให้หมด  เพราะว่ามนุษย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งและการปราบปรามนั้นมันมีคนตั้งหลายส่วนนะ  คุณต้องลงรายละเอียดหมด เพราะฉะนั้นเขาจะเลือกพูดว่าเขานิรโทษให้ใคร  นี่ขนาดเหมาเข่งนะ  เขายังมีวงเล็บหนึ่งของประชาชน วงเล็บสองของเจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือตัวอย่าง

ต่อไปเป็นฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง เขาบอกว่ากำหนดให้การกระทำของบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำการเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวรวมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใด ๆ  อันนี้เขาฉลาด เขารอบคอบนะ  นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่พอ  เขายังรวมบุคคลใด ๆ ที่มาทำหน้าที่ป้องกันระงับหรือปราบปราม  เหมือนกับฉบับที่แล้ว (สนธิ  บุณยรัตกลิน) เพราะอะไรรู้มั้ย  เพราะบางทีพี่แกไม่แต่งเครื่องแบบมาหรอก  สมมุติเขาเกิดมีภาพหรือจับได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่ได้แต่งตัว (นอกเครื่องแบบ)  หรือเขาใช้ส่วนอื่นที่มารับจ้างชั่วคราว (เป็นมวลชน   กอ.รมน. หรือเป็นทหารนอกเครื่องแบบหรืออะไรก็ตาม) เข้ามาร่วมส่วนก็แปลว่าเขานิรโทษให้ด้วย

เหมือนกับฉบับแม่น้องเกดเขาก็เขียนมาชัดเจน  เขานิรโทษแต่อ้างว่านิรโทษให้เฉพาะพวกที่ทำเกินกว่าเหตุ  อาจารย์ก็เลยรู้แล้วว่าที่เขาไปเดินสายแล้วตอนหลังเขารู้ว่าเขาพูดเป็นเจตนารมณ์ว่าเขาต้องการเอาผิดกับทหาร  ขอโทษ  ที่เราพูดถึง พ.ร.บ. นะ คุณจะพูดถึงความคิดของเราไม่ได้  เหมือนกับว่าบางครั้งคุณวรชัยแกอาจจะพูดอะไรก็ได้  แต่ว่าเวลาเราพูดเราพูดถึง พ.ร.บ. เราไม่ได้พูดถึงคุณวรชัย เช่นเดียวกันกับเวลาเราพูดถึง พ.ร.บ.ของญาติวีรชนหรือของแม่น้องเกดเราก็ไม่ได้พูดถึงแม่น้องเกด แม่น้องเกดอาจจะคิดอย่างหนึ่ง  แต่พ.ร.บ.ของคุณเขียนอย่างนี้  เราว่ากันไปตามเนื้อผ้า  เหมือนที่อาจารย์พวงทอง  ภวัครพันธุ์  พูดถึง มีความเห็นต่อร่างฉบับของญาติวีรชน  ความมุ่งหวังเจตนารมณ์นั้นเรื่องหนึ่ง  แต่ตัวหนังสืออีกเรื่องหนึ่งนะ  เหมือนคุณวรชัย  บางทีแกก็ไปเซ็นรับร่างคุณเฉลิมด้วย  อาจารย์ก็ยังบอกไปเลยว่าอย่างนี้มันไม่ได้ คุณมีร่างของคุณเองแล้วมันคนละหลักการ

ทีนี้มันมาจากพระราชกำหนด  แต่คุณวรชัยไม่ได้จัดเจนในเรื่องกฎหมาย คุณวรชัยก็เหมือนกับคนอื่นคือเอาเจตน์จำนงแบบเดียวกับที่แม่น้องเกดพูด  ว่าเขาปลดปล่อยคือนิรโทษให้ประชาชนทุกสีเสื้อยกเว้นแกนนำก็จำอันนี้อันเดียว  แต่รายละเอียดเรื่องอื่นอาจจะเบลอ  เพราะถูกพูดมากจนเบลอ  เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรสำคัญว่าเราต้องว่ากันตามเนื้อหา  และนี่ย่อมไม่ใช่เป็นการขัดแย้ง  เวลาที่ญาติวีรชนคุณแม่น้องเกดไปพูดอะไรต่าง ๆ ระมัดระวังไว้ด้วยเพราะคำพูดที่ออกไปแล้วนั้นเรียกคืนไม่ได้  เราไม่ได้มีความคิดเห็นใด ๆ เพราะว่าท่านมีสิทธิที่จะพูด  แต่ว่าความเป็นจริงนั้นเราต้องการจะบอกว่าเนื้อหานี้มันไม่ได้ตรงกับเจตนารมณ์ของท่านเลย  เพราะว่าท่านบอกว่าท่านไม่อยากนิรโทษให้ทหารแต่ระหว่างสองฉบับนี่ที่เรากำลังพูด  ฉบับวรชัยไม่นิรโทษให้ทหาร ไม่พูดเลยซักคำ ตรงกันข้ามฉบับของญาติวีรชนนั้นพูดถึงนิรโทษกรรมแม้มีข้อแม้ก็ตาม