ผ่าความจริง-แผนซ้อมรบ "อภิสิทธิ์" เปิดสภาถล่มเงินกู้ 2 ล้านล้าน

ประชาชาติธุรกิจ 20 กรกฎาคม 2556



นับถอยหลัง 10 วันสุดท้าย อุณหภูมิร้อนทางการเมืองจะกลับมาระอุอีกครั้ง ผ่านเวทีคู่ขนานทั้งในสภา-ริมถนนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ใน สภาถึงคราวเปิดสมัยประชุม 1 ส.ค. เป็นวาระเคาะระฆังยกที่ 5 ที่ ปชป.ต้องต่อกรกับพรรคเพื่อไทยในฐานะ ส.ส.เสียงข้างมากที่ยังส่งแรงผลักให้ร่างกฎหมายสำคัญผ่านการพิจารณา

ริม ถนนเป็นศึกต่อเนื่องที่ "พรรคสีฟ้า" สานต่อมาตั้งแต่กลางปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 55 ในปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ "เวทีผ่าความจริง" ที่เพิ่มความเข้มข้น-ความถี่ของเวที ถูกประเมินผลจากแนวเคลื่อนไหวของ ส.ส.เพื่อไทย เบื้องต้นกำหนดแผนไว้ 2 แนวทาง

หนึ่ง กรณีที่ยังไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จะจัดเวทีเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือ วันที่ 20 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร วันที่ 27 ก.ค. ปราศรัยใหญ่ที่สวนเบญจสิริ สถานที่เอาฤกษ์เอาชัยสุดท้ายก่อนลั่นกลองศึกทุกครั้งของ ปชป.

สอง กรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมพิจารณาลำดับแรก ความถี่ของเวทีจะเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้าย โดยจะจัดทุกวันตั้งแต่วันที่ 27-31 ก.ค. เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว ทั้งในสภา-ริมถนน มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ผ่าความจริงเนื้อในร่างกฎหมายสำคัญทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ ที่พรรคเพื่อไทยปูทางไว้ในสภาร่างกฎหมายสำคัญทั้ง 11 ฉบับ ต่างเข้าคิวรอทั้งในวาระ 1-3 อย่างแน่นขนัด ปชป.คาดการณ์ทันทีที่ระฆังเริ่มยกที่ 5 ดังขึ้น เกมในสภาจะถูกดำเนินไปอย่างดุเดือด 

ทั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรารวม 3 ฉบับ (3 มาตรา) และร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งผ่านสนามรบในชั้นกรรมาธิการ รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ-ร่างกฎหมายปรองดอง 5 ฉบับ-ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ ที่ยังคงค้างอยู่ในระเบียบวาระมาแรมเดือน

ทุก วินาทีหลังจากนี้ ปชป.จึงดำเนินยุทธศาสตร์เกมรับอย่างตื่นตัว-เตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ ยุทธวิธีการปราศรัยที่ถูกปักธงนอกเหนือจากเรื่องการเมือง เป็นบทวิพากษ์ร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท 

แนวคิด - แผนรบถูกแฝงอยู่ในรหัสคำพูดของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ปชป. ที่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย จะออกแรงดันกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาเป็นลำดับแรก 

"ผม เข้าใจว่าขณะนี้แนวโน้มคือจะไปเอาเรื่องเงินก่อน เพราะว่าคนที่คิดให้รัฐบาลนี้ทำ ส่วนใหญ่คิดแต่เรื่องเงิน แล้วก็รู้ว่าเรื่องเงินนี้มันจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 ที่ 3 แล้วไปเข้าวุฒิสภา กว่ากฎหมายจะออกมา กว่าจะกู้เงินได้ ก็อาจจะเป็นประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม"

"และเขารู้ว่าเรื่องอื่น ๆ จะทำให้บ้านเมืองยุ่งวุ่นวายมาก ไหนจะกฎหมายล้างผิด ไหนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาไม่รู้ว่ามันจะวุ่นวายแค่ไหน ขอรีบผลักดันกฎหมายเรื่อง 2 ล้านล้านเสียก่อน"

"อภิสิทธิ์" บอกว่า สิ่งที่พรรคต่อสู้มาโดยตลอด คือการชักนำให้รัฐบาลนำแผนการลงทุนดังกล่าวบรรจุอยู่ในกรอบงบประมาณปกติ แต่กระนั้นการค้าน-คานระหว่าง 2 พรรค 2 ขั้ว ในชั้นกรรมาธิการกลับทำได้เพียงการปรับลดงบประมาณเพียง 0.5% จากมูลค่าโครงการ 2 ล้านล้านบาท

"ในกรรมาธิการก็เหมือนสภา เราแพ้เสียงข้างมาก แม้จะยอมปรับลดเงินลงมา 10,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่ลดการกู้ แค่ขอย้ายไปโปะในรายการที่เรียกว่า เผื่อเหลือเผื่อขาด ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นการเอาเงินไปใช้จ่ายในโครงการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ที่ประกาศเอาไว้" 

แม้ ส.ส.เพื่อไทย-รัฐบาลจะกุมกำลังเสียงข้างมาก เพียงพอที่จะผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านไปโดยง่าย แต่ "อภิสิทธิ์" เชื่อมั่นว่า ร่างกฎหมาย 2 ล้านล้านบาทจะไม่จบลงที่สภา แต่จะไปยุติลงที่กระบวนการยุติธรรมตามสัญญาณเตือนจาก "คณิต ณ นคร" ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 

"ผมยืนยันถ้ากฎหมายนี้ยังอยู่ใน สภาพอย่างนี้ เราก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า ถูกต้องหรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผมยืนยันว่าที่ทำเรื่องนี้ไม่ขัดขวางการลงทุนในโครงการใดที่มีความจำเป็น เลย แต่ผมยืนยันเราสามารถทำในระบบปกติได้ และอาจจะเร็วกว่าด้วย"

"เหมือน เรื่องน้ำที่ผ่านกฎหมายไปแล้ว พวกผมบอกโครงการนี้เอามาเข้างบประมาณ ไม่ต้องไปออกกฎหมายกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็อ้างว่าเร่งด่วน แต่วันนี้ไปถึงไหนครับ ศาลปกครองบอกคุณยังไม่ทำสักเรื่อง"

ดังนั้นทันทีที่ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เคลื่อนที่เข้าสู่วาระพิจารณา ปชป.ก็พร้อมที่จะเดินเกมคู่ขนาน 2 ขาทันที

ทั้ง การอภิปรายคัดค้านในสภา และการร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ หมวด 8 มาตรา 169 ที่ว่าด้วย "การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบ ประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง..." 

ซึ่ง ปชป.หมายมั่นผลลัพธ์สุดท้ายเพียงหนึ่งเดียวคือ หากเบรกร่างกฎหมาย 2 ล้านล้านให้จบในสภาไม่ได้ ก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหลังกฎหมายผ่านสภาทันที