ข่าวสด 16 กรกฎาคม 2556
วันนี้ศาลไต่สวนการตายของ "ฮิโรยูกิ" กับ 2 หนุ่มเสื้อแดง เหยื่อปืน 10 เม.ย.53 พยาน 2 ปาก เป็นทหารที่อยู่ในพื้นที่วันเกิดเหตุขึ้นเบิกความ ขณะที่ นปช.เห็นต่าง พ.ร.บ. นิรโทษฯ ฉบับญาติ 99 ศพ "ธิดา" ชี้บางมาตราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หวั่นกระทบกับผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีอาญา จะไม่ได้รับการปล่อยตัว ยืนยันสนับสนุนฉบับนปช. และฉบับวรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทย ด้าน "แม่เกด" ผู้ผลักดันร่างฉบับประชาชน ย้ำได้ประโยชน์ทุกกลุ่มทุกสี ไม่มีส่วนได้เสีย
จากกรณีนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม พร้อมด้วยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกยิงเสียชีวิต และญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อีกฉบับ เตรียมยื่นเสนอถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภา ในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นางธิดา โตจิราการ ประธานแนวร่วมประชาธิป ไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นชป.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของญาติผู้เสียชีวิต เนื่องจากยังมีบางข้อไม่สอด คล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยว ข้องกับผู้ถูกดำเนินคดีอาญา เพราะการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมายังมีปัญหาอยู่ จับกุมผู้ต้องหาในลักษณะเหวี่ยงแห่ เช่น คดีเผาห้างเซ็นทรัล เวิลด์ หรือคดีเผาศาลากลางจังหวัด ที่มีการตั้งรางวัลให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องหารายละ 50,000 บาท ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าหากเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด แต่ต้องตกเป็นเหยื่อของกระบวน การยุติธรรม เราจะเยียวยาพวกเขาอย่างไร และหากเขาไม่ได้รับการนิรโทษกรรมก็เหมือนพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรม
ประธาน นปช.กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเข้าใจและเห็นใจความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องการนำคนก่อเหตุมาดำเนินคดี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ ยิงลูกเขาถึง 10 นัด ทั้งที่มีเครื่องหมายกาชาดติดอยู่ ที่สำคัญ นปช.ต้องการให้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างแน่นอน แต่ต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป เพราะขั้นตอนสำคัญที่ต้องเร่งทำขณะนี้คือต้องช่วยเหลือนักโทษ หรือ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาก่อน เพราะกระบวนการทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม จึงต้องออกกฎหมายนิรโทษฯ เพื่อช่วยเหลือพวกเขา สำหรับการนำเจ้าหน้าที่มาลงโทษนั้นเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการหลังจากนี้อย่างแน่นอน แต่เบื้องต้นถ้าต้องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถแยกฟ้องเป็นรายกรณีไปก่อนได้
นางธิดากล่าวอีกว่า นปช.สนับสนุนร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ฉบับนปช. หรือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะเป็นร่างที่ไม่ตรงกับความต้องการของคนหลากหลายกลุ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นร่างที่ทำขึ้นมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้มากที่สุดแล้ว ส่วนร่างของญาติผู้เสียชีวิตนั้นหากนำเข้าไปพิจารณาในรัฐสภา ในช่วงที่มีการแปรญัตติ อาจเอาแนวคิดที่เป็นประโยชน์ใส่ไว้ในร่างใดร่างหนึ่งที่จะพิจารณาก็ได้
ส่วน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. กล่าวว่าเคารพเจตนารมณ์ของญาติผู้เสียชีวิต และเข้าใจที่ต้องการให้นำเจ้าหน้าที่มาลงโทษ แต่ยังเชื่อว่าร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ของนปช. มีความชัดเจนอยู่เเล้วว่าผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะในทางทหาร หรือในทาง การเมือง จะไม่ได้รับอานิสงส์จากร่างดังกล่าวเลย จึงอยากฝากบอกญาติของผู้เสียชีวิตว่ากำลังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากร่างของ นปช.มีความสมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นไปตามความต้องการของญาติผู้เสียชีวิตทุกประการ
แกนนำ นปช.กล่าวต่อว่า เมื่ออ่านดูในรายละเอียดของร่างฉบับประชาชน มีความกังวลเป็นอย่างมากว่าตัวภาษาที่ใช้เขียนนั้นท้ายที่สุดเเล้วจะเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่ และจะไม่ครอบคลุมกับประชาชนที่กระทำผิดเลย จะ นำไปสู่การตีความที่ทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ เช่นกรณีการเผาศาลากลางจังหวัด ดังนั้น จึงอยากขอร้องให้ญาติผู้เสียชีวิตทบทวน และถอยหลังในเรื่องนี้
ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด หนึ่งในผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษ ฉบับญาติผู้เสียชีวิต กล่าวว่าต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ร่างพ.ร.บ.นิร โทษฯ ฉบับนี้กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตร่างขึ้นเพื่อตั้งใจให้เป็นของประชาชน ให้ผลประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ไม่สอดไส้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติเกินหน้าที่ หรือคำสั่ง และจะไม่รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาประชาชนที่ไม่ใช่นักการเมือง และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมืองมาตลอดระยะเวลา ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนที่ถูกคุมขังอยู่จะได้รับอิสรภาพ เพราะเท่าที่ทราบไม่ได้มีเพียงคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ แต่ยังรวมถึงคนเสื้อเหลืองที่ไม่ใช่แกนนำอีกจำนวนหนึ่ง
นางพะเยาว์กล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับญาติผู้เสียชีวิต จะไม่นิรโทษฯ ให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเผาศาลากลางในหลายจังหวัดนั้น ขอให้ผู้ที่กังวลอ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชนให้ละเอียดอีกครั้ง เพราะในมาตรา 3 ระบุไว้ชัดเจนว่า การกระทำใดๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุม และผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม อันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์อันเป็นของเอกชนให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย แสดงว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาวางเพลิงเผาศาลากลาง ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ สินของเอกชนจะได้รับการนิรโทษฯ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หาสาเหตุการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุมเสื้อแดง โดยทั้ง 3 รายถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ และในการไต่สวนดังกล่าวอัยการจะนำพยานขึ้นเบิกความ 2 ปาก เป็นทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่วันเกิดเหตุ
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียง ใหม่ ว่า น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ หนึ่งในแกนนำม็อบแช่แข็งประเทศ เดินทางมาพักผ่อนใน จ.เชียงใหม่ และมีผู้พบเห็นอยู่ในห้างเทสโก้ โลตัส สาขาคำเที่ยง อ.เมืองเชียงใหม่ ต่อมามีกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พบเห็นน.ต.ประสงค์กำลังซื้อข้าวของต่างๆ จึงรวมกลุ่มกันบริเวณหน้าห้าง พร้อมทั้งตะโกนไล่และชูป้ายต่อว่า โดยให้เหตุผลที่มาไล่น.ต.ประสงค์ว่าเพราะขัดขวางการแก้รัฐธรรม นูญปี 2550 ก่อนที่น.ต.ประสงค์จะออกทางด้านหลังห้าง โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร
ร.ต.ชัยวัฒน์ ตะเพียรทอง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2553 พยานมาปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยอยู่ประจำการ 3 วัน ต่อมาได้รับคำสังให้เคลื่อนพลไปที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.2553 กระทั่ง 10 เม.ย.2553 ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายเข้ามาที่หน่วยงานของกองทัพเรือ ใกล้กับวัดอัมพวา วันเดียวกันก็ได้รับคำสั่งจาก พ.ท.พงษ์ศักดิ์ เอี่ยมพญา ให้ไปสมทบกับทหารหน่วยอื่นเพื่อตั้งด่านบริเวณแยกไฟฉาย เนื่องจากได้รับข่าวว่าจะมีกลุ่ม นปช. มาชุมนุมที่ ร.พ.ศิริราช พยานขับรถฮัมวี่นำขบวน ตามด้วยรถบัส 2 คัน และรถยีเอ็มซี 2 คัน โดยมีกำลังทหาร 1 กองร้อย ประมาณ 150 คน เมื่อไปถึงในเวลาประมาณ 11.00 น. ก็พบผู้ชุมนุมสวมเสื้อสีแดงอยู่ประปราย ประมาณ 10 คนขึ้นไป แต่ยังไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย และไม่เห็นผู้ชุมนุมถืออาวุธ ขณะนั้นมีทหารตั้งด่านอยู่ พยานกับพวกจึงเข้าไปสมทบ
พยานเบิกความต่อว่า จากนั้นได้รับคำสั่งจาก พ.อ.พงษ์ศักดิ์ ให้ไปที่สะพานพระปิ่นเกล้าเพื่อไปสมทบกับทหารหน่วยอื่น พยานจึงขับรถนำขบวนไป ตามด้วยรถของผู้บังคับบัญชา 2 คัน รถยนต์บรรทุกหัวตัด 2 คัน รถบัส 2 คัน รถบรรทุกทหาร 2 คัน และรถบรรทุกน้ำ ขณะใกล้ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า เห็นบนสะพานมีกลุ่ม นปช.ล้อมรถทหารอยู่ พยานจึงหยุดรถและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางไปทางสะพานพระราม 8 ขณะจะเลี้ยวขวาเข้าสะพานวันชาติก็เห็นผู้ชุมนุมขวางทางอยู่ พยานจึงบีบแตรใส่และเลี้ยวเข้าไปจอดกลางสะพานวันชาติ จากนั้นกำลังพลทั้งหมดก็ลงไปสมทบกับทหารหน่วยอื่น แต่พยานเป็นพลขับจึงอยู่ที่รถ ขณะนั้นเห็นกำลังพลตั้งแถวสองแถวที่สี่แยกไฟแดงก่อนถึงสะพานวันชาติ จากการสังเกตรถของทหารที่จอดอยู่คาดว่ามีกำลังพลรวมกับหน่วยของพยานประมาณ 3 กองร้อย
พยานเบิกความอีกว่า กระทั่งเวลา 14.00 น. ทหารเริ่มปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ โดยเดินคืบหน้าไปตามถนนประชาธิปไตย มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมจึงถอยร่นไป ซึ่งทหารหน่วยของพยานมีโล่กับกระบองและสวมชุดปราบจลาจล แต่ไม่มีอาวุธปืน ส่วนผู้ชุมนุมถือไม้ เหล็ก ก้อนอิฐ และไม้เหลาแหลม แต่ไม่เห็นว่ามีอาวุธปืนหรือไม่ หลังปฏิบัติการผ่านไปประมาณ 1 ชม. มีทหารบาดเจ็บถูกหามเข้ามา สอบถามทราบว่าโดนตีด้วยเหล็กท่อน้ำที่เทปูนลงไปให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พยานจึงช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น หลังจากนั้นก็มีทหารบาดเจ็บจากการโดนก้อนอิฐปาและโดนตี แต่ไม่พบว่ามีทหารคนใดบาดเจ็บจากการถูกยิง
ร.ต.ชัยวัฒน์ เบิกความว่า ต่อมาเวลา 18.00 น. ได้รับคำสั่งทางวิทยุว่าให้หยุดเคลื่อนกำลังพล และถอนกลับไปที่กองบัญชาการกองทัพบก บริเวณแยก จปร. ขณะรอกำลังพลอยู่ที่รถ กระทั่งเวลา 19.30 น. ได้ยินเสียงระเบิดดังมาจากแนวทหารที่อยู่ทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาเวลาประมาณ 20.30 น. เห็นแสงไฟวาบในกลุ่มทหารและตามด้วยเสียงระเบิดหลายครั้ง จากประสบการณ์คาดว่าเป็นระเบิดแบบขว้างเอ็ม 79 จากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังตามมาอีกหลายนัด สักพักมีทหารบาดเจ็บถูกหามออกมาหลายนาย และเห็นพลทหารพากันวิ่งหนีออกมา พยานจึงช่วยหามไปขึ้นรถพยาบาล แต่ขณะรถพยาบาลเคลื่อนออกไป ก็ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงขวางรถและไล่ตีทหารที่บาดเจ็บ
ร.ต.ชัยวัฒน์ เบิกความต่อว่า กระทั่งเวลา 22.00 น. เศษ กำลังพลส่วนใหญ่เริ่มทยอยออกมา พยานจึงกลับรถที่สี่แยกวันชาติ และหันหน้ารถมุ่งหน้าไปทางกองบัญชาการกองทัพบก ขณะจอดรอกำลังพลมีรถตู้สีขาววิ่งสวนมาเฉียดกับรถพยานประมาณ 1 ช่วงแขน จากนั้นผู้โดยสารในรถตู้เปิดกระจกชะโงกมาด่าว่า "เป็นยังไงบ้างไอ้พวกเหี้ย" ชายคนดังกล่าวใส่ชุดคลุมสีดำ เสื้อแจ็คเก็ตสีดำ สวมหมวกไหมพรมคลุมศีรษะ เห็นแต่ดวงตา ซึ่งในรถมีอยู่ประมาณ 5 คน รวมคนขับ บางคนใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก บางคนสวมไอ้โม่ง พยานเห็นอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก วางอยู่บนเบาะนั่งแถวที่สอง ส่วนที่พื้นรถเห็นอาวุธปืนเอ็ม 16 ประมาณ 4 กระบอก โดยรถคันดังกล่าวถอดเบาะนั่งแถวหน้าออก ขณะนั้นได้ยินเสียง ผบ. กองร้อย มีคำสั่งให้ออกรถไปที่กองบัญชาการกองทัพบก แต่ไม่ทราบว่ารถตู้คันดังกล่าวจะมุ่งหน้าไปทางใด ในช่วงเกิดเหตุไม่ได้มองเห็นเหตุการณ์ขณะผู้ตายทั้ง 3 ถูกยิง เนื่องจากอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุ แต่ภายหลังทราบจากข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตหลายรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป วันที่ 17 ก.ค. เวลา 09.00 น.