คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 : ในสภา-นอกสภา

มติชน
31 กรกฏาคม 2556
โดย จำลอง ดอกปิก

พรรคประชาธิปัตย์ชักธงรบเต็มตัว ประกาศคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย เหมะ หวั่นเกรงจะมีรายการแอบยัดไส้ เอื้อประโยชน์ มุ่งช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิด

ยืนกรานขอใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรต่อต้านร่างกฎหมายในลักษณะล้างผิดอย่างถึงที่สุด มาโดยตลอด

แต่การประกาศถึงขั้นที่ว่า หากสู้ในสภาไม่ได้ จะออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาลกับประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย ชนิดเป่านกหวีดยาวไม่เลิก นับเป็นท่าทีใหม่-เพิ่งมีความชัดเจนออกจากปากสมาชิกระดับแกนนำประชาธิปัตย์ไม่กี่วันมานี้

อาจเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจทำเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่ก็ได้ การที่เป็นคำพูด ปราศรัยบนเวทีที่ต้องการปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม ปราศรัยหน่อมแน้ม แบบวิชาการไม่มีใครฟัง ทำให้ยังต้องฟังหูไว้หู

ถึงเวลาจริงๆ จะออกมาร่วมต่อสู้กับมวลชนนอกสภาหรือไม่ และในระดับไหน ยังไม่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในบทบาท หน้าที่การเป็นผู้แทนในสภา หรือการออกมาร่วมต่อสู้กับประชาชนตามท้องถนน เป็นสิทธิ-เสรีภาพพึงกระทำได้ ตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบขอบเขตกฎหมาย

เมื่อครั้งกลุ่มเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อย เข้าร่วมชุมนุม ขึ้นเวที และเป็นทัพหลัง ช่วยม็อบหลายบทบาทหน้าที่มาแล้วเช่นกัน

หากพรรคประชาธิปัตย์จะเดินออกมาร่วมต่อสู้เคียงม็อบ มวลชนกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวระดมคน ปลุกร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลก

ออกจะแปลกเสียมากกว่าหากทำในสิ่งตรงกันข้าม

พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และเสียงในสภาก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว หนำซ้ำเสียงจากฝ่ายค้านยังอาจไม่เป็นเอกภาพ ไหลไปอยู่ในฝั่งรัฐบาลอีกต่างหาก

จึงดูเหมือนว่า สู้นอกสภาอาจมีลุ้นมากกว่า แต่ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า หากสาระสำคัญของกฎหมายนั้น ไม่ครอบคลุมล้างผิดให้ทักษิณ หรือใครต่อใครที่เป็นเงื่อนไขของประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์จะเดินอย่างไร เมื่อฝ่ายเสียงข้างมากใช้สิทธิอันชอบธรรม ในการออกกฎหมายตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากการเคลื่อนไหวนอกสภานั้น มีเป้าชัดเจนยิ่ง คือการโค่นระบอบทักษิณ อันหมายถึงล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กุมอำนาจบริหารอยู่ในเวลานี้

หากประชาธิปัตย์พึงพอใจในความสำเร็จ ที่ได้คอยเป็นยามเฝ้าทำหน้าที่ กำกับ มิให้มีการขยาย แก้กลุ่มเป้าหมายล้างผิด ออกไปนอกเหนือกว่าร่างที่ได้ยื่นไว้ ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ก็อาจไม่มีอะไร เป็นการต่อสู้เคลื่อนไหวตามกรอบ

แต่หากไม่พอใจ เห็นว่าสภาออกกฎหมายมิชอบ ยื่นร้อง ให้ตรวจสอบตามขั้นตอนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างเดียวไม่พอ ต้องเดินเคียงข้างมวลชนนอกสภาต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อให้บรรลุผลด้วย

การเคลื่อนไหวมีข้อพึงระมัดระวัง ว่าแค่ไหนถึงพอเหมาะพอดี หาไม่แล้ว อาจเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมภาพเก่าๆ

ปากประชาธิปไตย ใจอีกอย่าง!

(ที่มา:มติชนรายวัน 29 กรกฎาคม 2556)