วสันต์เปิดใจแจง ออก1สค. ทั้งปธ.-ตุลาการ

ข่าวสด 17 กรกฎาคม 2556


วสันต์ลาศาลรธน.มีผล 1 ส.ค.

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตนทำหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เหตุผลที่ลาออกเพราะก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ต.ค. 2554 ตนให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี หรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจด้านงานคดีต่างๆ ทั้งที่จริงแล้วตนจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าขณะนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่โจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ เลยไม่อยากให้เป็นประเด็นการเมือง จึงเลื่อนส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค. เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม 


"สำหรับการลาออกจากตำแหน่งไม่ใช่ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ลาออกจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้วันที่ 17 ก.ค. ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงให้ทราบในรายละเอียดอีกครั้ง" นายวสันต์กล่าว


เผยแจ้งที่ประชุมตั้งแต่ 10 ก.ค.แล้ว

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า นายวสันต์ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการฯทราบแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา และการประชุมคณะตุลาการฯในวันที่ 31 ก.ค.นี้จะถือเป็นนัดประชุมสุดท้ายที่นายวสันต์จะเข้าร่วมเป็นองค์คณะ ส่วนคณะตุลาการฯที่เหลือ 8 คน ยังปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดีต่างๆ ได้ 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับการประชุม คณะตุลาการฯในวันที่ 31 ก.ค.นี้ จะมีวาระการประชุมเรื่องพ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ว่าขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 39 ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของจำเลยหรือไม่ ส่วนกรณีคำร้องที่นายสมศักดิ์ เกียรติ สุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้อง ของส.ส. 134 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ ที่เลื่อนการพิจารณาจากการประชุมครั้งที่แล้วนั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้าวาระที่ประชุมในวันที่ 31 ก.ค.หรือไม่ เช่นเดียวกับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เนื่องจากทั้ง 2 คำร้องอยู่ระหว่างรอผู้ถูกร้องส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หากมี ผู้ส่งคำชี้แจงก็อาจเข้าเป็นวาระ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมอาจแจ้งให้ทราบถึงกรณีนายวสันต์ลาออกจากประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

′จรูญ-นุรักษ์′ชิงนั่งประธานใหม่

แหล่งข่าวจากคนใกล้ชิดนายวสันต์ เผยว่า นายวสันต์จะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. หลังแจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการฯทราบแล้ว แต่ขณะนั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม กวป. โจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการฯส่วนใหญ่จึงเห็นว่า หากนายวสันต์ลาออกจะทำ ให้สังคม หรือกลุ่มกวป. เข้าใจว่าทนการกดดันไม่ไหว รวมทั้งทัดทานไม่อยากให้นายวสันต์ลาออก อยากให้ดำรงตำแหน่งต่อไป นายวสันต์จึงยังอยู่ในตำแหน่ง จนกระทั่งยื่นหนังสือลาออกดังกล่าว 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับผู้ที่คาดว่าจะเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนต่อไปน่าจะเป็นนายจรูญ อินทจาร หรือนายนุรักษ์ มาประณีต ซึ่งคณะตุลาการฯจะต้องประชุมเพื่อลงมติเลือกประธานต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 มีวาระรวม 9 ปี โดยนายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อนายชัช ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมคณะตุลาการฯเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2554 มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกนายวสันต์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวสันต์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 ต.ค. 2554 หากนายวสันต์ลาออกจากตุลาการฯ หลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ ทางประธานวุฒิสภาต้องจัดสรรหาตุลาการฯใหม่ตามรัฐ ธรรมนูญมาตรา 206 ให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง โดยจะต้องสรรหาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (3) เนื่องจากนายวสันต์ได้รับสรรหามาจากสาย ดังกล่าว