จารุพรรณ นำทีมตัวแทน"สหภาพรัฐสภาโลก"เยือนไทยเกาะติดคดีจตุพร-แก้รธน.สถานการณ์ทางการเมือง

go6TV 1 มิถุนายน 2556



วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 -  ที่รัฐสภา นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่ มร.มาร์ค ทรอเวล ตัวแทนจากสหภาพรัฐสภาโลก หรือไอพียู เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าหารือกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงสถานการณ์ทางการเมือง และจะเข้าสังเกตการณ์และร่วมการรับฟังการพิจารณาคดีด้วย


นายพีรพันธุ์กล่าวว่า การเดินทางของ มร.มาร์ค นักกฎหมายของสหภาพรัฐสภาโลกครั้งนี้เป็นไปตามมติของการประชุมประเทศสมาชิกทั้ง 148 ประเทศ ที่ประเทศเอกวาดอร์ เมื่อเดือน ธันวาคม 2555 เนื่องจากสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และต้องการติดตามศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย


น.ส.จารุพรรณกล่าวว่า เราได้รายงานถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นให้กับตัวแทนจากไอพียูได้รับทราบ ซึ่ง มร.มาร์คกังวลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย หลังจากได้เดินทางเพื่อไปเข้าฟังการพิจารณาคดีกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ถูกฟ้องร้องในคดีก่อการร้ายที่ศาลอาญา ทั้งที่เป็นในลักษณะเปิดสามารถเข้าฟังได้ปกติ แต่เมื่อตัวแทนของไอพียูเดินทางไปเข้าร่วมรับฟัง กลับต้องถูกตรวจตรามากเป็นพิเศษ โดย มร.มาร์คถึงกับกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวคล้ายกับการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมรับฟัง แต่ก็จะเดินทางไปร่วมฟังการพิจาณาคดีอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเช่นกัน

น.ส.จารุพรรณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มร.มาร์คยังเน้นย้ำกับสภาไทยว่าขอให้ดูแลผู้แทนที่ได้รับการรับเลือกจากประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ เพราะการถอดถอนผู้แทนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับนายจตุพรนั้นง่ายดายเกินไป จึงขอความร่วมมือกับรัฐสภาไทยให้รายงานความคืบหน้ากรณีดังกล่าว และกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องตามมาตรา 68 แบบวันต่อวันด้วย


ส่วน นพ.เหวงกล่าวว่า การที่ มร.มาร์คเดินทางมาเยือนประเทศไทยนี้ ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงทางการเมืองของประเทศไทย เพราะเราก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก และไอพียูก็มีความสนใจในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร ซึ่งทางไอพียูก็ตั้งความหัวว่าต้องการสนทนากับตัวแทนของศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีดังกล่าว เพื่อขอทราบเหตุผลว่าใช้กฎหมายอะไรในการทำสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง เราจึงติดต่อไปยังนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่นายวสันต์กล่าวว่าไม่ให้เข้าพบ โดยให้เหตุผลว่า ไอพียูเป็นองค์กรทางนิติบัญญัติ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทางตุลาการ ไม่เกี่ยวข้องกัน


นพ.เหวงกล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้องไปยังนายวสันต์ให้ทบทวนการขอเข้าพบใหม่อีกครั้ง เพราะเชื่อว่าการพบปะพูดคุยจะสร้างความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประชาคมโลกได้ นอกจากนี้ มร.มาร์คยังเก็บข้อมูลการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกรัฐสภาด้วยว่า ทำไมอำนาจการแก้กฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ยังทำไม่ได้ และจะศึกษาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าทำไมถึงมีอำนาจหยุดยั้งการทำหน้าที่ดังกล่าวได้