เปิดใจ"เหยื่อ"สลายม็อบ เพรียกหาความยุติธรรม

มติชน 28 ธันวาคม 2555



ปฏิบัติการ "กระชับพื้นที่" และ "ขอคืนพื้นที่" หรือ การสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตไป 99 ราย บาดเจ็บพิการกว่า 2 พันคน

หลายคดีของผู้เสียชีวิตกำลังอยู่ในกระบวนการไต่สวนสาเหตุการตายของศาล และบางคดีมีการแจ้งความกล่าวหาไปแล้ว

ขณะที่ผู้บาดเจ็บ พิการ กำลังเริ่มกระบวนการเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบ

วัน ที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายและได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุม 16 คน เดินทางมาร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้สั่งสลายการชุมนุมในข้อหา "พยายามฆ่า"

จากนี้คือบางส่วนจากเสียงสะท้อนของ "เหยื่อ"

ไสว ทองอ้ม อายุ 44 ปี อดีตช่างยนต์ ผู้สูญเสียความสามารถในการใช้แขนข้างซ้าย ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2553 บริเวณแยกดินแดง บอกเล่าถึงเหตุการณ์วันเปลี่ยนชีวิตว่า

ขณะที่มีการชุมนุมและ ปราศรัยใต้ทางด่วนดินแดงถนนวิภาวดีรังสิต ประมาณตี 4 ครึ่ง หลายคนกำลังนอนหลับอยู่ ทหารเรียงแถวหน้ากระดานเข้ามาเต็มถนนวิภาวดีฯ โดยแถวหน้าถือโล่และกระบอง แถวหลังถืออาวุธครบมือ และยิงเข้าใส่ประชาชน

"ผม สะดุ้งตื่นขึ้นมา ตอนนั้นคิดว่าแย่แน่ ถ้ายังอยู่ที่จุดนี้ เลยลุกขึ้นมาแล้วเดินตามรถของแกนนำไป ขณะที่กำลังเดินก็หันกลับไปมองว่าทหารมาจากหน่วยอะไร ยังไม่ทันเงยหน้าขึ้นไปมองก็รู้สึกว่าถูกยิงจนเจ็บเข้าไปถึงหัวใจ พยายามตั้งสติแต่ก็ตั้งไม่อยู่ ล้มสลบอยู่ตรงนั้น ตอนถูกยิงใหม่ๆ ต้องใช้สิทธิบัตรทองรักษาตัว"

กระสุนลูกนั้นเจาะเข้าหัวไหล่บริเวณ ต้นแขนซ้ายของ "ไสว" ทะลุกระดูกออกไปข้างหลัง ตัดเส้นประสาทและเส้นเลือดใหญ่ขาด "ไสว" บอกว่า แม้ทุกวันนี้กระดูกกับเส้นเลือดใหญ่จะสามารถต่อได้ แต่เส้นประสาทไม่สามารถต่อได้ดังเดิม ต้องพิการตลอดชีวิต มือไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ ประกอบอาชีพช่างเหมือนเดิมไม่ได้

"เมื่อ ก่อนผมซ่อมรถยนต์อยู่ที่บริษัทรถยนต์ เดือนหนึ่งมีรายได้ 10,000-20,000 บาท เลี้ยงชีวิตตัวเองได้สบาย แต่หลังจากโดนยิง บริษัทเลิกจ้าง ต้องกลับไปทำนาที่สุรินทร์ วันนี้ผมเดินทางมาจากจังหวัดสุรินทร์เพื่อมาเรียกร้องเรื่องเงินเยียวยา ที่ยังไม่ได้แม้แต่บาทเดียว แต่ถึงอย่างไรก็คงต้องต่อสู้และเรียกร้องต่อไป ความยุติธรรมอยู่ตรงไหนก็ต้องเข้าหามัน" ไสวยืนยัน

เสกสิทธิ์ ช้างทอง อายุ 29 ปี ผู้สูญเสียตา ทั้งสองข้างจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 เขาย้อนรำลึกไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากแกนนำ นปช.ประกาศขอกำลังเสริม

จึงเดินทางไปยังแยกราชประสงค์พร้อมกับ เพื่อน ตอนนั้นแผลเก่าจากการปะทะจนถูกยิงที่ขาโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังไม่หายดี ยังต้องพันแผลไปอยู่

ขณะนั้นทางรัฐบาลประกาศให้ประชาชน เร่งเลิกงาน และประกาศให้รถโดยสารหยุดวิ่งในบริเวณดังกล่าว มีการตั้งบังเกอร์ทหารเป็นแนวไม่ให้มวลชนเข้าไปรวมตัวกัน

"ผมและ เพื่อนเข้าไปในราชประสงค์ไม่ได้ ติดอยู่บริเวณแยกสามย่านหน้าพรรคเพื่อไทย เราจึงเข้าไปเจรจากับทหาร ขอนำอาหารและ น้ำไปให้ผู้ชุมนุมด้านในราชประสงค์ แต่ไม่สำเร็จ จากนั้นก็มีเสียงปืนยิงเข้าใส่ ผมแอบอยู่หลังตอม่อ ระหว่างเงยหน้ามองซ้ายมองขวาเพื่อหาทางออกจากบริเวณนี้ ลูกปืนก็พุ่งเข้าหาลูกตา หงายท้องลงนอนกับพื้น หลังจากนั้นก็มองไม่เห็นอะไรอีกเลย"

ปัจจุบันลูกกระสุนความเร็วสูง นัดนั้น ยังฝังอยู่ในหัว "เสกสิทธิ์" ไม่สามารถผ่าออกได้ เพราะหากโชคร้ายไปโดนเส้นประสาทอื่น อาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

การ สูญเสียตาทั้งสองข้าง ทุกวันนี้ชีวิตของ "เสกสิทธิ์" เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รายได้จากการขี่จักรยานยนต์รับจ้างต้องหายไป ไม่สามารถขับรถไปส่งภรรยาที่ทำงาน ส่งลูกไปโรงเรียน หรือพาครอบครัวไปเที่ยววันปีใหม่ หรือวันเด็กได้เหมือนเก่า กลับต้องเป็นภาระให้ลูก ต้องพาเราไปขายลอตเตอรี่

"เสกสิทธิ์" เล่าว่า ในช่วงตาบอดใหม่ๆ ไม่มีใครออกมาขอโทษหรือยอมรับผิด ตอนนั้นได้รับเงินเยียวยามา 20,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเข้ามาช่วยเหลือทำให้ปลดหนี้สินไปได้ ภรรยาก็ลาออกมาเปิดร้านอยู่กับบ้านได้

"ที่ผมมาวันนี้ไม่ได้ต้องการ อะไร นอกจากให้เขาออกมายอมรับ มาสารภาพผิดกับประชาชน ผมไม่เคยเสียใจที่ต้องตาบอดทั้งสองข้าง เท่ากับการที่เขาไม่ยอมรับความผิดที่ทำกับประชาชน"

เหตุสลายการ ชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ที่สวนลุมพินี ยังทำให้ กฤตพจน์ บัวดี อายุ 43 ปี กลายเป็นผู้พิการระดับ 3 จากการถูกยิงที่ขาทั้งสองข้าง

บ่าย วันนั้นทหารเข้ามาสลายการชุมนุมจนเกิดการปะทะ "กฤตพจน์" ตั้งใจเข้าไปช่วยผู้ชุมนุมรายอื่น แต่ตัวเองกลับถูกยิงเข้าที่ขาทั้งสองข้าง หลายนัด

"วินาทีแรกที่ถูกยิงรู้สึกกลัวมาก คิดถึงครอบครัว ภรรยา ลูก พ่อแม่ ตอนนั้นคิดว่าทำไมเขาต้องยิง ทำไมไม่ส่งสัญญาณเตือน การยิงใส่ประชาชนแบบนี้มันโหดร้ายเกินไป วันนั้นถูกพาส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี หมอ บอกว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง กระดูกหน้าแข้งด้านขวาหายไป ต้องตัดกระดูกด้านซ้ายมาต่อและดามด้วยเหล็กทำเป็นกระดูกหน้าแข้ง ต้องนอนโรงพยาบาล 33 วัน มารักษาต่อที่บ้าน ทุกวันนี้ยังไม่หายเป็นปกติ" ทุกวันนี้แม้ "กฤตพจน์" จะเดินได้บ้าง แต่ไม่คล่อง วิ่งไม่ได้ ทำงานรับจ้างไม่ได้เหมือนเดิม

วสุ สุริยะแก่นทราย คุณลุงวัย 61 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งผู้พิการ ไม่สามารถพูดคุยหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา โดยมี ป้ากูลกิจ สุริยะแก่นทราย ภรรยา คอยดูแล และบอกเล่าถึงวันเกิดเหตุ 10 เมษายน 2553 ว่า ไปร่วมชุมนุมพร้อมสามีบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ตอนนั้นทหารเริ่มใช้แก๊สน้ำตา ลุงวสุพร้อมกับผู้สูงอายุอีกหลายคนจึงเข้าไปเจรจากับทหาร เพราะคิดว่าเป็นคนแก่เขาคงไม่ทำอะไร เดินไปบอกทหารว่า

"เราคนไทยด้วยกันทำไมต้องมาฆ่ากันตีกันด้วย" แต่ลุงกลับโดนตีน่วมไปทั้งตัว ต่อมาทราบว่าเลือดคั่งในสมอง

ระหว่าง ป้ากูลกิจเล่าย้อนเหตุการณ์ ลุงวสุก็พยายามส่งเสียงพูดแต่ไม่ชัดนัก พร้อมกับน้ำตาคลอ พอจับใจความได้ว่า "ผมบอกเขาว่า ผมคนแก่ อย่าตี อย่าตี ตีผมทำไม"

ป้ากูลกิจบอกในตอนท้ายว่า ที่มาเรียกร้องในวันนี้ อย่างน้อยก็อยากให้คนผิดเขารู้ว่าประชาชนมีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่ผักปลาที่จะสั่งฆ่าอย่างไรก็ได้

เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งจากเสียงประชาชนที่กำลังถามหาความรับผิดชอบ และเชื่อว่าความยุติธรรมยังมีอยู่

หน้า 13,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2555