มติชน 21 ธันวาคม 2555
หมายเหตุ - ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพคดีหมายเลขดำ อช.3/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการชันสูตรการเสียชีวิตของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรืออีซา อายุ 14 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ด.ช.คุณากรถูกยิงด้านหลังทะลุช่องท้อง เสียชีวิตบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม. โดยมีสาระสำคัญดังนี้
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553-19 พฤษภาคม 2553 มีกลุ่มประชาชนใช้ชื่อว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและสี่แยกราชประสงค์ ระหว่างการชุมนุมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมการชุมนุม โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ
ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ได้ออกประกาศการห้ามใช้เส้นทางโทรคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะใดๆ เข้าหรือออกเส้นทางตรงบริเวณถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึง 4 แยกมักกะสัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 และกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณดังกล่าว มีการติดแผ่นป้ายข้อความว่าเขตใช้กระสุนจริง
จากนั้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 00.10 น. นายสมร ไหมทอง ขับรถตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนราชปรารภมุ่งหน้าแยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร มีการวางกำลังทหารอยู่บริเวณบังเกอร์ริมถนนราชปรารภใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งสองด้าน เจ้าหน้าที่ทหารใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเตือนนายสมรให้ออกจากพื้นที่ แต่นายสมรยังคงขับรถตู้แล่นไปในพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้อาวุธปืนระดมยิงรถตู้หลายนัด กระสุนปืนถูกรถตู้ได้รับความเสียหายและนายสมรได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณลำตัว และ ด.ช.คุณากรถึงแก่ความตาย อันเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องนำสืบว่า ด.ช.คุณากร ผู้ตาย มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ 1 แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กทม. กระทั่งปี 2547 ย้ายไปอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่ตั้งอยู่เขตสวนหลวง โดยระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553-วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และจัดตั้งศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศอฉ. และ ศอฉ.ได้ออกประกาศควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมเข้าออก ถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนและตามแนวบังเกอร์ประกอบด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และจัดวางลวดหนามตั้งแต่บริเวณปากซอยราชปรารภ 6 ถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลา 23.00 น.เศษ นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมนุม นปช.บริเวณถนนราชปรารภพบเห็นผู้ตายวิ่งเล่นอยู่บริเวณบังเกอร์ที่เจ้าหน้าที่ทหารวางไว้ตามสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ฝั่งโรงภาพยนตร์โอเอ ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 นายสมร ไหมทองได้ขับรถตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ออกจากซอยวัฒนวงศ์ แล้วเลี้ยวขวาไปที่สี่แยกมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ซึ่งประจำอยู่บริเวณด้านหน้าร้านอาหารอินเดียฟู้ด จึงแจ้งไปยังชุดตรวจที่อยู่ใกล้ปากซอยให้ประกาศห้ามรถตู้เข้าไปในพื้นที่ควบคุม แต่นายสมรยังคงขับรถตู้ต่อไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล่นผ่านจุดที่ ร.อ.เสริมศักดิ์กับพวกประจำอยู่ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากหลายทิศทาง นายสมรพยายามขับรถตู้ต่อไปจนข้ามทางรถไฟไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อสิ้นเสียงปืนก็พบว่านายสมรถูกกระสุนปืนที่เอวและท้อง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนยิงใส่อีก 2 คน คือนายพัน คำกอง และผู้ตาย โดยผู้ตายมีบาดแผลถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ด้านหลังบริเวณกึ่งกลางลำตัวทะลุช่องท้อง นอนอยู่ที่พื้นถนนในซอยโรงภาพยนตร์โอเอ ห่างจากปากซอยซึ่งติดถนนราชปรารภประมาณ 20 เมตร ถัดจากปากซอยไปไม่ไกลเป็นจุดที่รถตู้คันที่นายสมรขับจอดอยู่ ส่วนนายพัน คำกอง ถูกกระสุนปืนขณะยืนอยู่ตรงบริเวณทางเข้าออกอาคารคอนโดมิเนียมไอดีโอ ตรงกันข้ามเยื้องกับซอยโรงภาพยนตร์โอเอ
สำหรับสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงนั้น ได้ความจากนายสมรว่า ขณะขับรถเลี้ยวขวาออกจากซอยได้ประมาณ 30 เมตร มีเสียงปืนดังขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองฝั่งระดมยิงมายังรถตู้ที่กำลังขับอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นทหารจำนวน 3 คน ยิงปืนมาที่รถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายคมสันติว่า ก่อนที่รถตู้จะแล่นเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้ผู้ขับหยุดรถมิฉะนั้นจะยิงสกัด เมื่อสิ้นเสียงประกาศจึงมีเสียงปืนดังมาจาก 2 ฝั่งถนน โดยทั้ง 2 ฝั่งถนนมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน ซึ่งพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์รถตู้เข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งถูกยิงสกัดไว้
อีกทั้งพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่สี่แยกมักกะสันไปจนถึงซอยราชปรารภ 6 ฝั่งซ้าย มุ่งหน้าสี่แยกประตูน้ำ แบ่งกำลังคุมพื้นที่ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 6 นาย โดยก่อนเกิดเหตุพยานแต่ละคนได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ห้ามไม่ให้รถตู้นายสมรแล่นผ่านเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ แต่รถตู้ยังแล่นต่อไป จากนั้นมีเสียงปืนดังหลายนัดมาจากหลายทิศทาง
แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำไปจนถึงสี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์นำโดย พ.ท.วรการ ฮุ่นตระกูล และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำไปจนถึงสี่แยกมักกะสัน และปากซอยหมอเหล็ง เฉพาะหน่วยของ พ.ท.วรการเองมีทหารถึง 150 นาย มีกองบัญชาการอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้ โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น
อีกทั้ง พล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่า เป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงครามประเภทเอ็ม 16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้อง และภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม 16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้
คดีจึงต้องรับฟังว่า คืนเกิดเหตุขณะที่นายสมรขับรถตู้เข้าไปในถนนราชปรารภมุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมตามประกาศของ ศอฉ. เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามเข้าไปในพื้นที่แล้ว นายสมรยังขับรถตู้ต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่บริเวณที่เกิดเหตุจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่รถตู้ของนายสมร เป็นเหตุให้ลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายจนถึงแก่ความตาย
จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่