ข่าวสด 21 ธันวาคม 2555
พยานเบิกความ 6 ศพวัดปทุมฯ
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรศพ คดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องให้ไต่สวนการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดง วันที่ 19 พ.ค.2553
พนักงานอัยการนำนายโทนทอง สุขแก่น ประธานศูนย์มูลนิธิสยามรวมใจ(ปู่อินทร์) ประจําสาขาจ.นนทบุรี พยานปากที่ 1 ขึ้นเบิกความว่า ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ตนพร้อมกับทีมอาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิเข้ามาทำหน้าที่ช่วยปฐมพยาบาลกรณีที่มีผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ โดยทำหน้าที่ตั้งแต่การชุมนุมช่วงเดือนเม.ย. ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 19 พ.ค. รถพยาบาลของตนจอดรออยู่ข้างเวทีปราศรัยหน้าโรงแรมเอราวัณ กระทั่งช่วงสายเริ่มได้ยินว่าเจ้าหน้าที่ทหารเริ่มสลายการชุมนุม ตอนนั้นคอยฟังวิทยุสื่อสารและได้รับการร้องขอให้ไปช่วยผู้บาดเจ็บถูกยิงอยู่เป็นระยะจนถึงเวลาประมาณ 13.00 น. แกนนำประกาศบนเวทียุติการชุมนุมให้ประชาชนแยกย้ายกลับบ้าน โดยให้ไปขึ้นรถที่สนามศุภชลาศัย หรือหากใครยังไม่กลับให้ไปอยู่ที่วัดปทุมวนาราม โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็ก
เห็น'น้องเกด'ถูกยิงต่อหน้า
พยานเบิกความต่อว่า ขณะนั้นสถานการณ์เริ่มโกลาหลต่างคนต่างวิ่งหนีเพราะความกลัว ตนช่วยนำผู้สูงอายุ และเด็ก ขึ้นรถนำไปส่งวัดปทุมวนาราม รับส่งอยู่ประมาณ 20 เที่ยว และเมื่อจะนำรถออกจากสถานที่ชุมนุมปรากฏว่าไม่สามารถออกได้แล้ว เพราะทหารเข้ามาเต็มพื้นที่ จึงตัดสินใจสั่งลูกทีมนำรถเข้าไปในวัดปทุมวนาราม ทั้งนี้ สังเกตเห็นว่ามีเต็นท์อาสาพยาบาลอยู่ด้านหน้าวัดบริเวณข้างร้านสหกรณ์จึงเข้าไปพูดคุย น.ส.กมนเกด อัคฮาด ชวนให้มาอยู่รวมกันที่เต็นท์พยาบาลเพราะมีอาหารและยาจะได้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ แต่ตนเห็นว่าจุดดังกล่าวไม่ปลอดภัยเพราะเป็นจุดต่ำ ด้านหน้าก็เป็นรางรถไฟฟ้า รอบข้างก็เป็นตึกสูง หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีอาจได้รับอันตรายได้ จึงตอบปฏิเสธแล้วกลับไปอยู่ด้านในบริเวณสวนป่า
พยานเบิกความอีกว่า เวลาประมาณ 17.00 น. ได้ยินเสียงปืนดังมาจากหน้าวัด จากนั้นไม่นานมีคนตะโกนว่ามีคนถูกยิง จึงค่อยๆ วิ่งไปเพื่อช่วยคนเจ็บ เมื่อมองไปพบว่าคนที่นอนดิ้นอยู่เป็นผู้หญิงรูปร่างอ้วน ทราบภายหลังคือน.ส.กมนเกด ซึ่งถูกยิงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อมองขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าพบว่ามีทหารอยู่บริเวณชั้น 1 ของรางรถไฟฟ้า ตรงหน้าประตูวัดพอดี ลักษณะผลุบๆ โผล่ๆ แต่ไม่เห็นว่าใครยิง ทั้งนี้ยืนยันว่าผู้ชุมนุมที่อยู่ภายในวัดไม่มีใครมีอาวุธหรือต่อสู้กับทหารแต่อย่างใด ทุกคนหวาดกลัวและพยายามหลบเอาตัวรอด และเมื่อเสียงปืนเริ่มเงียบลงจึงเข้าช่วยเหลือน.ส.กมนเกด ซึ่งพบว่าเสียชีวิตแล้ว ตนอยู่ในวัดจนถึงเช้าจึงมีตำรวจมารับผู้ชุมนุมกลับบ้าน
ทหารยิงจากรางรถไฟฟ้า
น.ส.ดวงใจ พวงแก้ว พนักงานบริษัทเอกชน พยานปากที่ 2 เบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง แต่มาสังเกตการณ์และถ่ายภาพเพื่อทำข่าวให้กับสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง วันที่ 19 พ.ค.ปักหลักอยู่ในวัดปทุมวนารามอยู่แล้ว แต่จะออกมาเดินสำรวจตามจุดต่างๆ ตลอด กระทั่งช่วงบ่ายทราบว่าแกนนำประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นผู้ชุมนุมจำนวนมากทยอยกันเข้ามาหลบพักภายในวัดเพราะเป็นพื้นที่อภัยทาน ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนดังตลอดเวลา โดยเสียงปืนจะดังมาจากทางแยกเฉลิมเผ่า ขณะนั้นมีคนบอกให้ขึ้นไปหลบบนหลังคาศาลา ตนจึงปีนขึ้นไป ซึ่งลักษณะของหลังคาศาลาจะมีพื้นที่ด้านข้างให้ยืนได้
พยานเบิกความต่อว่า เมื่อปีนขึ้นไปได้หมอบลง และได้พบกับนายสุวัน ศรีรักษา ซึ่งตอนนั้นยังไม่เสียชีวิต สวมเสื้อยืดสีดำ กางเกงขาสั้น ในมือไม่มีอาวุธ มีเพียงบุหรี่ที่ถือสูบอยู่ พยายามปีนต้นไม้หลบอยู่ใกล้กับตน นายสุวันบอกให้ตนหลบให้ดีเดี๋ยวพวกทหารเห็น จากนั้นก็ไม่ได้คุยกันอีกกระทั่งตนลงมาจากหลังคาศาลาเห็นทหารเล็งปืนจากบนรางรถไฟฟ้าลงมาด้านล่างซึ่งเป็นบริเวณลานจอดรถของวัด ตอนนั้นไม่คิดว่าจะยิงลงมา แต่ก็ต้องคิดผิดเพราะทหารยิงลงมาด้านล่างเป็นชุด ระหว่างนั้นได้ยินเสียงตะโกนว่ามีคนถูกยิง เมื่อมองไปเห็นคนช่วยกันพยุงผู้บาดเจ็บเข้าไปบริเวณสวนป่าของวัด ทราบภายหลังว่าเป็นนายสุวัน ซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา
หนีเข้าวัดเพราะเป็นเขตอภัยทาน
นางอรทัย เลื่อมมหาชัย พยานปากที่ 3 เบิกความว่า เป็นแกนนำคนเสื้อแดงจ.ลำปาง ร่วมชุมนุมตั้งแต่มี.ค.จนถึงช่วงย้ายมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 19 พ.ค.ชุมนุมร่วมกับเพื่อนๆ อยู่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงบ่ายแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านโดยไปขึ้นรถที่สนามศุภชลาศัย ตนเลือกที่จะไปวัดปทุมวนารามเพราะประกาศเป็นพื้นที่อภัยทาน ตอนนั้นเริ่มได้ยินเสียงปืนเป็นระยะแต่ไม่เห็นว่าใครยิง แต่ในส่วนของผู้ชุมนุมไม่มีใครพกพาอาวุธ ไม่มีใครยิงปืนต่อสู้
นางอรทัยเบิกความต่อว่า วิ่งเข้าไปในวัดปทุมวนาราม เห็นเต็นท์พยาบาลอาสาอยู่ด้านหน้าวัด พบพยาบาลอาสาผู้หญิงทำหน้าที่อยู่ แต่ไม่นานจากนั้นก็ได้ยินเสียงปืน และเห็นพยาบาลอาสาคนนั้นล้มลงนอนดิ้นอยู่ ตนเชื่อว่าเป็นทหารที่ยิงลงมา เพราะเมื่อมองขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าเห็นทหาร 3 คนอยู่บนนั้น ที่เชื่อว่าเป็นทหารเพราะสวมหมวกแบบทหาร ใส่เสื้อลายพราง ถืออาวุธ
ภายหลังไต่สวนพยานเสร็จ ศาลนัดไต่สวนคดีดังกล่าวอีกครั้งวันที่ 7 ก.พ.2556