เป็นความเห็นด้าน "กฎหมายมหาชน" ของ "วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" นักกฎหมายอิสระ ดีกรีนิติศาสตรมหาบัณฑิต รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อมติ "ครม." เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานดำเนินการศึกษาการออกเสียงประชามติ
ส่งผลให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งรอการลงมติโดยเปิดเผยของสมาชิกรัฐสภา ในวาระที่ 3 ต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอการดำเนินการออกเสียงประชามติ
เมื่อแนวโน้มการจัดการออกเสียงประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความเป็นไปได้ที่ "รัฐบาล" อาจใช้วิธีการออกเสียงประชามติเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งจะต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
"วีรพัฒน์" กาง "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550" มาตรา 165 ขึ้นมาอธิบาย หาก "รัฐบาล" เดินหน้าจัดทำประชามติในรูปแบบ "หาข้อยุติ" ก่อนลงมติในวาระที่ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีแนวโน้มผลสรุปออกมา 4 แนวทาง
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่แตะต้องการทำประชามติ ในกรณีหาข้อยุติ และมีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่ง จากนั้นเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่ 3
2.ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาวินิจฉัยการทำประชามติในกรณีหาข้อยุติ และเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 ซึ่งวางหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอันเป็นหลักกฎหมายพื้นฐานที่สุดของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 291 ดังนั้น ครม.จึงไม่อาจทำประชามติ ตามมาตรา 165 เพื่อหาข้อยุติ อันเป็นการก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภาในกรณีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นอำนาจเฉพาะของรัฐสภาได้ ส่งผลให้การลงมติในวาระที่ 3 ถูกนำไปเป็นข้ออ้างเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญให้ตกจากวาระที่ 3 ในที่สุด
3.การจัดทำประชามติแบบหาข้อยุติ ประชาชนมาใช้สิทธิไม่ถึงเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง 48 ล้านคน เป็นเหตุผลหนึ่งอันทำให้สมาชิกรัฐสภาลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3
4.แม้การทำประชามติในกรณีหาข้อยุติของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์ แต่เป็นเพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่แข็งแกร่ง เพราะอาจเกิดปัญหาข้อโต้แย้งภายในพรรคของมือกฎหมายมหาชนภายในพรรคที่คัดค้านการทำประชามติได้
เมื่อวิเคราะห์จาก 4 แนวทางข้างต้นแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ "วีรพัฒน์" เปิดรัฐธรรมนูญเตือน "รัฐบาล" หากเดินหน้าทำประชามติในรูปแบบ "หาข้อยุติ" เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เทคนิคทางข้อกฎหมายขัดขวางการทำประชามติได้
"ถ้าเดินหน้าทำประชามติในแบบหาข้อยุติ ก็อาจมีผู้ไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 วรรคสี่ บัญญัติว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้"
ทั้งนี้ "วีรพัฒน์" ให้ความเห็นว่า การทำประชามติ แบบหาข้อยุติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้นั้น คำว่า "ขัด" คือไปทำผิด ส่วน "แย้ง" คือสวนทาง เนื่องจากมาตรา 291 ให้ดำเนินพิจารณา 3 วาระ แต่มีความพยายามในการแทรกวาระที่ 2.5 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาด้วยการทำประชามติ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความตามรัฐธรรมนูญ
"แม้มาตรา 165 จะไม่เปิดช่องให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ถ้าเดินหน้าจัดทำประชามติในแบบหาข้อยุติ อาจจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 291 หรือไม่ เมื่อ ครม.กำลังก้าวล่วงรัฐสภา ทำให้เข้าตามมาตรา 214 ที่บัญญัติว่าในกรณีที่มีความขัดแย้งที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา ครม.หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"
"วีรพัฒน์" อธิบายว่า ฝ่ายค้านอาจหาช่องทางเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกำลังก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐสภาและ ครม.เกิดความขัดแย้งขึ้นตามมาตรา 214 ดังนั้น ประธานรัฐสภาจะต้องตัดสินใจยื่นความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าการทำประชามติก่อนลงมติวาระที่ 3 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม "วีรพัฒน์" เห็นว่าหาก "ครม." ดำเนินการทำประชามติในรูปแบบ "เพื่อให้คำปรึกษา" แก่ ครม. จะเกิดความเสี่ยงที่น้อยกว่าการทำประชามติในรูปแบบ "หาข้อยุติ" เนื่องจากไม่ใช่การก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภา โดยการทำประชามติแบบให้คำปรึกษาไม่ว่าผลการออกเสียงจะออกมาอย่างไร ก็ไม่มีผลผูกพันการลงมติในวาระที่ 3 แน่นอนหากผลการมาออกเสียงไม่ได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง การที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ต่อไปจึงเป็นเรื่องยาก
โดย "วีรพัฒน์" ยืนยันว่า การทำประชามติในรูปแบบ "ให้คำปรึกษา" แก่ ครม. แม้ไม่ได้เป็นการบังคับ "รัฐสภา" ที่จะต้องดำเนินการตามไม่ว่าผลของการออกเสียงประชามติในรูปแบบนี้จะออกมาอย่างไร แต่เป็นการใช้กฎหมายให้แยบยลในทางการเมือง เพื่อให้ ครม.ในฐานะฝ่ายบริหารควรวางตัวอย่างไรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เพื่อไม่เข้าไปก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
ในกรณีเกิด "ครม." เห็นควรให้ใช้รูปแบบการทำประชามติ ให้คำปรึกษาแก่ ครม. "วีรพัฒน์" เห็นควรให้ถามประชาชน 48 ล้านคน ว่า หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หากมีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเป็นทางออกจากขัดความแย้งได้หรือไม่ ?