สัมภาษณ์พิเศษ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่วันนี้ต้องชะงักงัน รัฐบาล เตรียมผลักดันการทำประชามติเพราะหวั่นการเดินหน้าโหวต วาระ 3 แก้ไขมาตรา 291 จะเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายและอาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่
นาย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ สะท้อนมุมมองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
ประเมินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร จะคลี่คลายปัญหาการเมืองได้หรือไม่
ผมคิดว่าถ้าไม่แก้ที่โครงสร้างก็จะถูลู่ถูกังกันไปแบบนี้ ตอนนี้เป็นเพียงการยืดเวลาออกไป แต่วันหนึ่งปัญหาจะปะทุขึ้น รัฐบาล อาจบอกว่าแก้เป็นบางมาตราอาจลดทอนพลังของฝ่ายตรงข้ามลงไปได้บ้าง หรือยอมให้ถูกดันมาสุดทางแล้วค่อยโต้ เพื่อจะได้ใจคนอีกจำนวนหนึ่ง แต่ผมประเมินว่าคงออกไปในเชิงประนีประนอมอยู่ดี (หัวเราะ)
ปัญหา ของสังคมไทยตอนนี้ การประนีประนอมในหมู่ชนชั้นนำนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้แล้ว สุดท้ายต้องกลับมาถกเถียงกันบนหลักการที่มันถูกต้องแล้วเดินไปข้างหน้าด้วย หลักการ ไม่เช่นนั้นไม่จบ
ทุกขั้นตอนของการพัฒนาประชาธิปไตย ในโลก เลี่ยงไม่พ้นการชนกัน ใครฝันหวานว่าจะปรองดอง มันเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้เราต้องทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจให้มากที่สุด ผมคิดว่าการที่คนสว่างขึ้น เห็นเหตุและผลมากขึ้นจะช่วยลดการสูญเสีย
ใน แง่หนึ่ง ผมคิดว่ารัฐบาลอาจต้องได้รับบทเรียนบ้าง ถ้าคุณไม่กล้าดำเนินการไปตามหลักการ คุณจะเจอกับดักทุ่นระเบิดในรัฐธรรมนูญปี"50 ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลพยายามทำตามหลักการแล้ว แต่ผมมองว่ายังน้อยมาก
ผม อยากให้มองคนอีกจำนวนหนึ่งที่เขาเสียสละ บางคนสละชีวิต รัฐบาลต้องคิดถึงคุณค่าและหลักการเหล่านี้บ้าง อย่าคิดทำการเมืองแค่รักษาอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ตอนนี้ เป็นช่วงจังหวะและโอกาส การพยายามเข้ากระทำ มันมีอยู่ตลอดเวลา เหมือนการยิงประตู เมื่อมีจังหวะเขาก็ต้องยิง ดังนั้น รัฐบาลต้องรู้ว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการรุกไปข้างหน้า แต่คนกุมยุทธศาสตร์กลับไม่ทำ
สิ่งที่ทำอยู่วันนี้ผมมองว่าสังคมโดยรวมไม่ได้อะไร อย่างดีก็ยกเลิก มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค
มวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลและองค์กรอิสระจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นหรือไม่
มวล ชนด้านนั้นอ่อนแรงไปเยอะ เนื่องจากประเด็นที่เขานำเข้าสู่สาธารณะไม่ค่อยมีเหตุผล เว้นแต่จะมีเหตุอื่นแทรก เช่น รัฐบาลมีทุจริตมาก หรือมีเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ
ส่วนองค์กรอิสระ ผมว่ามีอยู่แล้ว เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะมากหรือน้อยต้องแตะโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของเขา
ผม ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะทำแค่ไหน ถ้าทำแบบไอเดียของผมคือปรับใหญ่เลย กรณีศาล เป็นการปฏิวัติระบบทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง แต่รัฐบาลคงไม่ไปถึงขั้นนั้น อาจแตะแค่บางส่วน แต่คนพวกนี้พอไปแตะเขาจะอยู่เฉยๆ หรือ เป็นไปไม่ได้ เขาคงไม่ยอม
คนเสื้อแดงบางส่วนต้องการเพียงรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ ถือว่าเพียงพอหรือไม่
ไม่ พอ ผมเข้าใจคนเสื้อแดงเพราะมันบ่งชี้ถึงตัวพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งหลังการเลือกตั้งปี"44 นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลทำ ได้ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมต่อชีวิตของเขา
แต่ การเอารัฐธรรมนูญปี"40 กลับมา มันไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด เราต้องการอะไรที่ใหม่กว่านั้น แต่ตอนนี้เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญปี"40 แล้วเจรจากันอย่างหนัก จนองค์กรต่างๆ ยอมกันได้และยังอยู่ต่อไป
แต่ ถ้าเขารู้ว่าหากโครงสร้างใหญ่ของสังคมเปลี่ยนจริงๆ ตัวเขาและลูกหลานจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น มันจะเกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง
ข้อเสนอนิติราษฎร์ทุกข้อ รัฐบาลสามารถหยิบไปใช้ได้หรือไม่
ได้ ทุกข้อ แต่รัฐบาลไม่หยิบไปใช้เลย นิติราษฎร์เสนอในทางหลักการ ซึ่งมีความแหลมคมในเชิงประเด็น แต่รัฐบาลก็อยากรักษาอำนาจรัฐไว้ให้นานที่สุด ด้วยเหตุผลหลายประการ
ภาพ ของนิติราษฎร์หลายคนมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล แต่ความจริงไม่ใช่ รัฐบาลหนีนิติราษฎร์สุดชีวิต เรามีกันอยู่ 7 คน เป็นอาจารย์ธรรมดาที่ไม่มีตำแหน่งบริหาร
ผมพยายามอ่านความคิดของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส่วนหนึ่งเองไม่อยากแก้ เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ เลือกตั้งก็ชนะแล้วจะไปเรียกแขกทำไม
อีกพวกหนึ่งคิดว่าต้อง ปรับโครงสร้างอำนาจที่มันผิดหลักการประชาธิปไตย จึงต้องแก้ แต่ก็มีพวกที่ไม่แก้ คิดว่าค่อยไปแก้ใกล้ๆ จะครบ 4 ปีก็ได้ หรือรอเลือกตั้งแล้วค่อยถามประชาชนอีกทีว่าจะแก้หรือไม่
ในอนาคตจะเข้าไปช่วยปฏิรูปการเมืองหรือไม่ เช่น เป็น ส.ส.ร.
ผม ไม่ได้อยากเป็น ส.ส.ร. ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ ผมขอแสดงความคิดดีกว่า ได้สอนหนังสือมีความสุขแล้ว แต่ถ้าวันหนึ่งจะปฏิรูปกันทั้งระบบผมจะเข้าไปทำโดยไม่ลังเล
สำหรับ ผมถ้าจะทำรัฐธรรมนูญให้เป็นหลักกับบ้านเมืองต้องไม่มีเพดาน หรือถ้ามีเพดานอย่างมากที่สุดตามข้อจำกัดรัฐธรรมนูญคือ เป็นรัฐราชอาณาจักร เป็นประชาธิปไตยและเป็นรัฐเดี่ยว แต่มากกว่านี้ผมว่าเพดานเยอะเกินไป
วันนี้ หลายคนตั้งป้อมว่าถ้าผมเข้าไป ผมจะไปรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งยอมรับว่ารื้อแน่ แต่ก็รู้สึกว่ารัฐบาลวางกรอบแคบเกินไปในการแก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ
นักวิชาการนิติศาสตร์จะถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ฝ่ายอำนาจนอกระบบอีกหรือไม่
ใช้ ได้และยังจะใช้อยู่ เป็นเรื่องโครงสร้างกับผลประโยชน์ เขาไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิด บางคนคิดว่าที่ทำไปเป็นความดี ได้ขจัดทุนนิยมสามานย์ เพราะยังเชื่ออย่างนั้นกันอยู่
ด้าน หนึ่งเป็นอุปาทานหมู่หลอกตัวเอง ลองไปดูว่าได้ตำแหน่งอะไรกันบ้าง ขอให้เอารายได้หลังรัฐประหารมา บวกดูแต่ละเดือน แล้วเทียบกับของผม กล้าหรือไม่
ตอนดีเบตรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บ้านมนังคศิลาเมื่อ 5 ปีก่อน บอกว่าการแก้สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ตอนนี้บอกต้องทำประชามติก่อน มันแปลว่าอะไร หลอกให้รับไปก่อนใช่หรือไม่ พอจะแก้ก็ยาก เมื่อรัฐบาลมีเสียงพอจะแก้ได้ก็เอาเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นสรณะ
การแก้ไข ม.112 นับจากจุดนี้ยังสามารถเคลื่อนไหวอะไรได้อีกหรือไม่
วัน ที่ 15 ม.ค.นี้ จะครบรอบ 1 ปี ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.) คงจะเคลื่อนไหวโดยการโต้แย้งคำสั่งประธานรัฐสภาที่ไม่บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่ วาระการประชุม ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัย แล้วรอดูว่าจะเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องการเมือง สมมติว่าการเมืองเอาด้วยมันก็ขยับ แต่ถ้าการเมืองไม่เอาก็ยาก ประชาชน ครก. หรือนิติราษฎร์ ไม่ใช่บุคคลที่ทรงอำนาจทางการเมือง คนที่ตัดสินทางการเมืองได้คือฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่การที่ปัด ตกโดยไม่เอาเข้าวาระการประชุมอย่างนี้ไม่ถูก ใช้อำนาจมากไป และยังอธิบายไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพตรงไหน ดังนั้น ควรนำเข้าวาระการประชุมเพื่อให้เกิดการอภิปรายอย่างมีเหตุผล
ถ้า เราเห็นตรงนี้ว่าถูกต้อง ก็ต้องผลักให้มันไปข้างหน้า คนที่ยืนอยู่ตรงนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญมากมาย คนที่กล้าหาญมากๆ และเสียสละคือคนธรรมดาที่ตายไปเท่าไรแล้วก็ไม่รู้ คุณแค่รักษาหลักการเบื้องต้นพอแล้ว
ปีนี้จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์หรือไม่
ต้อง ดูฟ้าฝนก่อน ถ้าวันฝนตกปรอยๆ ยังพอได้ แต่หากพายุฝนฟ้าคะนองแบบนี้มันจะลำบาก อีกอย่างเราไม่มีเกราะอะไรทั้งสิ้น นี่คือปัญหาของคนที่ทำงานวิชาการในประเทศนี้ อย่างผมทำงานเป็นนักกฎหมายมหาชน เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ พอถึงจุดหนึ่งเราก็เศร้าใจว่าการคิดทางวิชาการให้มันถึงระดับสากลทำไม่ได้ มีข้อจำกัดหลายเรื่อง
โดยเฉพาะเรื่องของอุดมการณ์นั้น เปลี่ยนยากที่สุด ใครกุมตรงนี้ได้คือคนที่ชนะทางการเมือง ตอนนี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยในสังคมเรายังไม่ชนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพยายามพูดอยู่ตลอดเวลา