"ยิ่งลักษณ์"กางหลักการ 2 แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ

มติชน 26 ธันวาคม 2555



(ที่มา:มติชนรายวัน 26 ธ.ค.2555)

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ท่ามกลางความคิดเห็นของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่มีความเห็นแตกต่างกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

ต้องเรียกว่าเป็นความเห็นที่มีความคิดต่าง ไม่ได้หมายความว่าเป็นความขัดแย้ง จริงๆ แล้วเป็นปกติที่เราอยากให้เห็นกระบวนการการมีส่วนร่วม วันนี้มีหลายแนวทาง ส่วนตัวแล้วคิดว่าเรายังถกกันในเรื่องของวิธีการ เรายังไม่ได้ถกกันเลยว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของหลายๆ คน ที่อยากจะแก้เรื่องของรายมาตรา อยากให้มีการคุยกันในรายละเอียดว่าแก้เรื่องอะไร ที่สำคัญประชาชนได้ประโยชน์อะไร การทำประชามติหัวข้ออะไร เป็นหน้าที่ของคณะทำงานที่ต้องลงไปทำความเข้าใจและติดตามข้อคิดเห็นแต่ละส่วนก่อน แต่เราไม่ได้เร่งรัดเพราะอยากให้กระบวนการการมีส่วนร่วมได้แสดงออกที่สร้างสรรค์นั้นเป็นประโยชน์และเป็นทางออกของประเทศให้ดีที่สุด

@ หลายฝ่ายยังระแวงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ดิฉันเรียนว่า เราคุยกันแต่วิธีการ เลยทำให้อาจจะเกิดการคาดการณ์ต่างๆ นานา อยากให้คณะทำงานคุยในรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญก่อน เพื่อให้ประชาชนสบายใจว่า การที่แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน สิ่งไหน ประชาชนจะได้อะไร แล้วจะมีรูปแบบต่างๆ อยากให้เห็นตรงนี้บ้างก่อน

@ นายกรัฐมนตรีจะพูดให้ชัดได้หรือไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ
ค่ะ ใช่ค่ะ การแก้รัฐธรรมนูญนี้เพื่อประชาชน เราอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับที่มาจากประชาชนและเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ดิฉันจึงต้องถามไปว่า ในรายละเอียดนั้นคณะทำงานควรจะให้ความกระจ่างกับประชาชนว่าการแก้ไขพี่น้องประชาชนและส่วนรวมได้ประโยชน์อะไร

@ถ้าจำเป็นต้องโหวตประชามติ นายกรัฐมนตรีมั่นใจเสียงที่จะได้ 24 กว่าล้านเสียงหรือไม่

ต้องเรียนว่า ส่วนหนึ่งหน้าที่รัฐบาลกลับมาเหมือนเดิม หน้าที่รัฐบาลในการที่ทำอย่างไรให้กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเป็นที่ยอมรับ เราไม่ได้มองไปว่าการที่เสียงครบหรือไม่ครบ นั่นคือกระบวนการ และส่วนหนึ่งเองถึงวันนี้ยังเดินหน้าไม่ได้ เพราะมีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องข้อวินิจฉัย ในการแนะนำเรื่องการแก้ไขรายมาตราหรือประชามติ ซึ่งมีกติกาต่างๆ ตรงนี้ต้องมาดูทางออกว่าถ้ามีข้อท้วงติงแบบนี้แล้วจะเดินแบบไหนมากกว่า เราจะไปถึงตอนที่ว่าผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะอันนี้เป็นข้อแนะนำ ที่จริงแล้วมีทางออกอยู่ 2 ทาง ระหว่างการทำประชามติหรือการแก้รายมาตรา

@นายกรัฐมนตรีได้คุยกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติบ้างหรือไม่

ได้คุยค่ะ ยังเรียนท่านเลยว่า อยากให้ท่านเล่าความคิดเห็นของท่าน แล้วพวกเราจะได้มีส่วนร่วมในการรับฟัง และช่วยกันคิดพิจารณา เพราะจริงๆ แล้วคงจะไม่ได้มองแค่ส่วนของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ด้วยเป็นสิ่งสำคัญ ก็จะใช้เวลาช่วงนี้พูดคุยกัน

@ ข้อห่วงใยของ ร.ต.อ.เฉลิมฟังขึ้นหรือไม่

คงยังไม่ได้มีข้อสรุป ทั้งนี้ ก็ไม่แน่ใจในส่วนของพรรคเพื่อไทย คงจะเปิดให้สมาชิกพรรคได้มีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง

@ ข้อห่วงใยของ ร.ต.อ.เฉลิมที่ห่วงว่าคนจะออกมาใช้สิทธิประชามติไม่เกินกึ่งหนึ่ง ฟังขึ้นหรือไม่
ถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทางออกก็กลับไปใช้แก้รายมาตรา มันมีข้อกำหนดคือว่า ถ้าเสียงไม่ครบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิก็สามารถกลับไปใช้รายมาตราได้

@ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่ถือว่าการทำประชามติของรัฐบาลล้มเหลวหรือ

อันนี้มันไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลที่มาตั้งแต่วันแรก อันนี้เป็นข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่อยากขอให้มีกระบวนการ เช่น เรื่องของโหวตรายมาตราหรือประชามติ เรื่องนี้หน่วยงานทุกหน่วยงานที่ต้องคุยกัน รัฐบาลมีหน้าที่ให้การสนับสนุน



นายจตุพร พรหมพันธุ์
แกนนำ นปช.

การจัดการออกเสียงประชามติเพื่อมีข้อยุตินั้น ไม่มีทางที่จะผ่านการออกเสียงได้ อีกทั้งคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าห้ามไม่ให้ลงมติในวาระที่ 3 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในข้อห้ามของคำวินิจฉัย แต่คำวินิจฉัยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพียง 1 เสียงเท่านั้นที่เห็นว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ทำประชามติไม่ได้

ขณะนี้ นปช.มีหน้าที่จะอธิบายให้ประชาชนได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น ส่วนคณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจแล้วเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับฟังเสียงทุกฝ่ายให้รอบคอบที่สุด อีกทั้งถ้าเดินหน้าทำประชามติก็จะเป็นอุปสรรคทำให้เราเจอกับดักมีโรคแทรกซ้อนได้

นอกจากนั้น หากมีการทำประชามติเกิดขึ้นจะถือว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกปิดตายหรือไม่ ก็คงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยากขึ้น เนื่องจากมีการทำประชามติถึง 2 ครั้ง คือก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2550 จะบังคับใช้ และเมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงประชามติรองรับว่าไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การทำประชามติเป็นการวางแผนให้เสียงข้างน้อยชนะผู้มาออกเสียงที่จะต้องให้ได้เสียงข้างมากในกรณีหาข้อยุติ ทั้งนี้ นปช.มีจุดยืนคือควรลงมติในวาระที่ 3 ไม่ว่าผลจะออกว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ



นพ.เหวง โตจิราการ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย


ผมมีความเห็นว่า หากเดินทางทำประชามติ พรรค (เพื่อไทย) และรัฐบาลจะเกิดความเสียหาย ซึ่งความเสียหายนี้อาจส่งผลให้ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยได้ เชื่อว่าต้องล้มเหลว เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เขียนชัดว่า การทำประชามติเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และหากมีการออกเสียงผู้มีสิทธิออกเสียงในวันออกเสียงประชามติจะเกือบ 50 ล้านคน หากจะผ่านการออกเสียงจะต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 25 ล้านคน ดังนั้น การที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. หรือหลายท่าน ตีความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 9 ผมมีความเห็นแตกต่าง เพราะอ้างตรงนั้นไม่ได้ และอาจเป็นการเปิดช่องให้คนไม่ปรารถนาดีต่อการโหวตไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ลำพังเฉพาะคะแนนเสียง ผมเห็นว่าโอกาสที่จะชนะนั้นยาก นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรก็มีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องทำประชามติ การทำประชามติจึงถือเป็นการทำเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หากประชามติผ่าน ฝ่ายค้านอาจจะไปยื่นกับศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 หมวด 15 ผมจึงอยากส่งเสียงเตือนไปยังรัฐบาลด้วยความจริงใจอย่างยิ่ง เพราะไม่อยากให้รัฐบาลและพี่น้องเสื้อแดงเสียหาย หากประชามติครั้งนี้ล้มเหลวหรือถูกยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งก็จะเป็นการปิดฉากการแก้รัฐธรรมนูญ