รายงานพิเศษ
คําสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ชี้ว่าการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิป ไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553
ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากด่านที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย โดยยังไม่ทราบใครเป็น ผู้ลงมือกระทำ
แม้คำตัดสินไม่ได้ชี้ชัดถึงผู้ลงมือ แต่ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับ 2 คดีที่ศาลอาญาตัดสินมาก่อนหน้านี้แล้ว คือคดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา สองโชเฟอร์แท็กซี่ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร
ศาลอาญาตัดสินเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า นายพันเสียชีวิตเพราะถูกลูกกระสุนปืนของทหารบริเวณถนนราช ปรารภ ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553
เช่นเดียวกับคำตัดสินของศาลอาญาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. กรณีนายชาญณรงค์ ซึ่งเสียชีวิตที่ซอยรางน้ำในบ่ายวันเดียวกัน ศาลระบุการเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถาน การณ์ที่บริเวณถนนราชปรารภ
คำตัดสินคดีของนายชาติชาย จึงเป็นศพที่ 3 ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 โดยคำสั่งศาลคดีนายชาติชาย มีรายละเอียด ดังนี้
ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หมายเลขดำ ช.6/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ชาวสุรินทร์ อาชีพรับจ้างและขับแท็กซี่
เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายชาติชาย ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใดและเหตุพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150 ซึ่งนายชาติชายเสียชีวิตขณะในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของนปช. เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลากลางคืน
ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 ม.ค.2553 - 19 พ.ค.2553 กลุ่มนปช.ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ขึ้นใหม่
แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่มนปช.จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถ.เพลินจิต ถ.พระราม 1 ถ.พระราม 4
กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกทม.และอีกหลายพื้นที่
โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศอฉ. และมีข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน เป็น ผช.ผอ.
และคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
และได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้
โดยระหว่างวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 06.00 น. - 14 พ.ค.2553 เวลา 06.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำการได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653, ปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33), ปืนลูกซองและปืนพก ออกไปตั้งด่านแข็งแรงบริเวณ ถ.พระราม 4
ซึ่งวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช.ได้รวมตัวกันและทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน โดยได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน
ขณะที่ผู้ตายถือกล้องวิดีโอถ่ายภาพไว้ ระหว่างนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น กระสุนปืนถูกศีรษะด้านหน้าของผู้ตายทะลุด้านหลัง แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่าผู้ร้องมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวชิรพยาบาล ประจักษ์พยานยืนยันว่า เห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน
พยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน
อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอาคารอื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกาย ได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653, ปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33), ปืนลูกซอง และปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.
และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้นรถพยาบาลเท่านั้น
เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กสั้น เอ็ม 653 และปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33) ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบ ร้อยในที่เกิดเหตุ
พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรง โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่ร.พ.จุฬาฯ ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 23.37 น.
โดยเหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก
ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ