'เหวง' โต้ 'เสงี่ยม' ICC ยังคงเดินหน้ากรณีปี 53

Facebook นพ.เหวง โตจิราการ 6 พฤศจิกายน 2555 >>>


วันนี้ (6 พ.ย. 55) นพ.เหวง โตจิราการ โพสท์ข้อความข้อกล่าวหาของ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่กล่าวหากรณีศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ดังนี้

จากข่าวหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับและออนไลน์เกือบทุกฉบับประจำวันที่ 5 พ.ย. 55 พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ได้โกหก ใส่ร้ายป้ายสีผมและ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในหลายเรื่อง ดังต่อไปนี้ครับ
1. พ.ต.ต.เสงี่ยม กล่าวว่า รีจิสตร้า (Registra) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ต้องขังทั่วโลกนั้น เพราะไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ และผู้ที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้คือ ประธานหรืออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเท่านั้น ผิดโดยสิ้นเชิงครับ
ไม่รู้ว่า พ.ต.ต.เสงี่ยม ไปเอาเรื่องนี้มาจากกฎหมายฉบับใด หรือใครเสี้ยมสอนใช้ให้พูด โดยไม่มีความเข้าใจแม้แต่น้อย ผมต้องการพูดกับคนเขียนบทหรือคนชักใยเบื้องหลัง อย่าเป็นอีแอบเลยครับ
รีจิสตร้าไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลผู้ต้องขังทั่วโลกครับ แต่รีจิสตร้ามีหน้าที่ทางตรวจรับคำร้องเรียนที่ยื่นมายังศาลอาญาระหว่างประเทศ และทำการตรวจสอบเบื้องต้นว่า เป็นเรื่องที่มีสาระมีมูลมีหลักฐานพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากไม่มีก็จะปัดตกไป แต่ถ้ามีน้ำหนักก็จะออกหมายเลขรับไว้ครับ
ในอดีตที่ผ่านมา รีจิสตร้าของศาลอาญาระหว่างประเทศก็ได้ปัดเรื่องตกไปกว่าสามพันเรื่องแล้วครับ
ประธานหรืออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เขาจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการตรวจรับเรื่องร้องเรียน ครับ ไม่งั้น เรื่องกว่าสามพันเรื่องเขาต้องลงมาดูเองหมด นี่เขาจัดระบบของศาลอาญาระหว่างประเทศให้มีหน่วยงานรีจิสตร้าทำหน้าที่นี้ก่อนครับ
แล้วฝ่ายรีจิสตร้าก็ได้รับเรื่อง ร้องเรียนจากประเทศที่เสนอไปโดยสำนักงานทนายความอันสเตอร์ดัมและเปรอฟที่เดินเรื่องไปประมาณสิงหาคม 53 แล้วเสนอเอกสารไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 แล้วครับ
(เขาไม่โยนลงตะกร้าไปนะครับแสดงว่าเรื่องที่เสนอไปมีมูลมีหลักฐานมีสาระมีความน่าเชื่อถือ)
จากนั้นเขาก็ รับเรื่องโดยได้ระบุหมายเลขรับที่ OTP-297/10
แต่ด้วยเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือสัญชาติอังกฤษที่เป็นประเทศภาคีของธรรมนูญกรุงโรมตามมาตรา 12 วรรค 2 (ข) ครับ (ซี่งจะทำให้ดำเนินการได้เฉพาะนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะเพียงคนเดียว)
ในคราวที่ผมพร้อมประธานธิดา และคุณพะเยาว์ อัคฮาด ทนายคารม พลทะกลาง ศาตราจารย์ธงชัย วินิจจะกุล แห่งมหาวิทยาลัยเยล คุณอมรินทร์ไปศาลอาญาระหว่างประเทศ เขาให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติและได้พบสนทนากันกว่า 1.30 ชั่วโมงเกินเวลาที่เขากำหนดไว้ แสดงว่าเรื่องที่เรานำเสนอเป็นเรื่องที่มีมูลมีหลักฐานมีสาระ เข้าองค์ประกอบ ไม่งั้นเขาไม่มัวมานั่งรักษามารยาทคุยกับเรานานมากเช่นนี้
ผู้ที่มาพบและสนทนากับเราคือ นายเอเมอริค โรเจียร์ หัวหน้าสำนักงานวิเคราะห์เหตุการณ์ของศาลอาญาระหว่างประเทศ
หลังการสนทนาเขาก็ได้แสดงความเห็นว่า “เรื่องใหญ่อย่างนี้ลำพังนายอภิสิทธิ์ทำคนเดียวไม่ได้ดอก ดังนั้นพวกคุณควรต้องดำเนินการให้มีการประกาศรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีในประเทศของคุณ (หมายถึง 12 (3) นั่นแหละครับ)
นี่หมายความว่า เขารับฟังแล้วประเมินว่าไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แล้วยังเป็นเรื่องที่มีผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง จึงไม่น่าที่จะทำได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ครับ
ในระหว่างที่อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ นางฟาตู เบนซูดา เดินทางมารับรางวัลอัยการดีเด่นในไทย พร้อมนายเอเมอริค โรเจียร์ ดังกล่าว และศาสตราจารย์กฏหมายมหาวิทยาลัยนอร์เตอร์ดาม นายดักลาส แอสเซล
คณะของอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศนางฟาตู เบนซูดา ได้เข้าพบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เพื่อสนทนาในเรื่องการรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศตามมาตรา 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม
ภายหลังการพบปะกันรอง นรม. และ รมต.ต่างประเทศ ได้ออกมาให้ข่าว ใจความว่า การลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ที่ พ.ต.ต.เสงี่ยม กล่าวหา ผมและประธานธิดาถาวรเศรษฐว่า ไม่รู้จริงและกำลังโกหกต้มตุ๋นคนเสื้อแดงให้เข้าใจผิดว่าศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับเรื่องไว้แล้วจึงเป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีโกหกมดเท็จโดยสิ้นเชิงครับ
และที่บอกว่าศาลไทยต้องไต่สวนการเสียชีวิตและชันสูตรพลิกศพก่อนจึงจะไปยื่นเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศได้นั้นก็ผิดโดยสิ้นเชิงอีกเช่นกัน
เพราะถ้ามีกรณีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลตามธรรมนูญกรุงโรมอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่อย่างดังนี้
1. อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์
2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
3. อาชญากรรมสงคราม
4. อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน
สามารถนำเรื่องไปเสนอต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ทันที (หากเป็นประเทศในภาคี, หรือใช้มาตร 12 (3), หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติส่งไป)
กรณีไทยเหตุการณ์สังหารประชาชนเมื่อเมษา-พฤษภา 53 เข้าองค์ประกอบของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามมาตรา 7 ของธรรมนูญกรุงโรม กล่าวคือ
   “การกระทำใดๆที่ได้กระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายต่อประชากรพลเรือนใด โดยรู้ถึงการโจมตีนั้น ดังต่อไปนี้ การฆ่าคนตายโดยเจตนา การทำลายล้าง.................)
ดังนั้นกรณีการฆ่าประชาชนสองมือเปล่าด้วยอาวุธสงครามเมื่อเมษา-พฤษภา 53 จึงสามารถที่จะยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องรอให้มีการชันสูตรพลิกศพหรือไต่สวนการเสียชีวิตก่อนดังกล่าว
นอกจากนี้การบอกว่าต้องผ่านมาตรา 190 ก็เป็นเรื่องที่ ไม่จริงเช่นกัน เพราะนี่เป็นการแสดงเจตนาแต่เพียงฝ่ายเดียวในการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อพิจารณากรณีอาชญากรรมเฉพาะ (เดือนเมษา-พฤษภา 53) จึงไม่ใช่เป็นสนธิสัญญา
เพราะสนธิสัญญา ต้องเป็นการตกลงระหว่างสองฝ่ายมีการลงนามมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ
นี่เพียงประเทศไทยโดยผู้มีอำนาจรับผิดชอบทำการประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ถือว่า สัมฤทธิ์ผลแล้ว ไม่ใช่เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่าย
และแม้จะต้องมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายก็ไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญาเพราะศาลโลกเคยมีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานไว้แล้วในคดี ”Ihren Declaration” และคดี “Nuclear Test case” การประกาศยอมรับแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วก่อให้เกิดพันธกรณีไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญา
ในตราสารระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการกฏหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติก็ใช้คำว่า “capable of creating legal obligations” ได้ การประกาศเพียงฝ่ายเดียวที่ก่อให้พันธผูกพันทางกฏหมายจึงไม่ใช่สนธิสัญญาอีกเช่นกัน
ที่กล่าวว่าเป็นการบีบบังคับฝ่ายบริหารก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะผมไม่ได้แสดงออกในทางการข่มขู่คุกคามแต่อย่างไร ที่ผ่านมาเป็นการแสดงข้อคิดเห็น การอธิบายความทางหลักการ ทั้งทางการเมือง ทางกฎหมายทั้งนั้น อำนาจในการตัดสินใจยังเป็นของฝ่ายบริหารโดยสมบูรณ์ แม้ฝ่ายบริหาร ไม่ยอมประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในกรณีเมษา-พฤษภา 53 แล้วผมจะไปทำอะไรฝ่ายบริหารได้
เพราะผมมีความบริสุทธ์ที่ต้องการป้องกันประเทศไทยประชาชนไทยจากเหตุการณ์การฆ่าประชาชนสองมือเปล่ากลางถนนโดยทหารใช้อาวุธสงครามซึ่งเกิดขึ้นต่อหน้าผมอย่างน้อยก็ 6 ครั้งแล้วคือ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, เมษา 52, เมษา 53 และพฤษภา 53
ดังนั้นที่ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ กล่าวหา ผมและประธานธิดาถาวรเศรษฐ ทั้งหมดเป็นเรื่องเท็จ เป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีโดยสิ้นเชิง