โต้ ณรงค์ เพชรประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์อำมาตย์ขี้ตู่ว่าชาวนาไม่จ่ายภาษีทั้งที่จ่ายมากที่สุดของประเทศ

ไทยอีนิวส์ 6 พฤศจิกายน 2555 >>>


นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ณรงค์ เพชรประเสริฐ ขึ้นเวทีองค์กรพิทักษ์สยามได้บอกว่า “มนุษย์เงินเดือนเป็นพนักงาน 17 ล้านคน ต้องเสียภาษี แต่ชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษี" ดังกล่าว เป็นการตั้งใจหลอกลวงว่า ชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งๆที่ชาวนาและลูกหลานชาวนาล้วนเป็นจำนวนผู้จ่ายภาษีมากที่สุด

1. ปัญหาชาวนาไทย หรือ เกษตรกร ที่เรียกกันในปัจจุบัน นั้น มีพัฒนาการมาแต่อดีต ถึงปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่

เพียงแต่อาจต้องแยกแยะชาวนา ซึ่งมีทั้งชาวนาไร้ที่ดินต้องเช่า ชาวนามีที่ดินน้อยไม่พอทำกิน ชาวนาขนาดเล็ก ขนาดกลาง ชาวนารวย (ไม่ใช่ระดับบริษัทซีพี) แต่ชาวนาอาจแทบทุกระดับล้วนเป็นหนี้สิน ธกส. ไม่มากก็น้อย เนื่องเพราะชาวนามักเสียเปรียบกลไกตลาด หรือลงทุนไม่คุ้มขาย นั่นเอง
ปัญหาด้านที่ดิน ยุคสมัยเจ้าศักดินา ชาวนาจำนวนมาก เป็นเพียงไพร่ทาสติดที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ต้องทำนาบนที่ดินของผู้อื่น และต้องส่งส่วยให้เจ้าศักดินา
ทั้งชาวนาศูนย์กลางอำนาจ และชาวนาตามหัวเมืองต่างๆที่ปกครองโดยเจ้าเมืองก่อนปฏิรูปการปกครองรวบศูนย์อำนาจสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยก็ยังไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน
ชาวนาจำนวนไม่น้อยต้องเช่าที่ดินอยู่ แม้ว่าสมัยหลังการปฎิวัติ 2475 นายปรีดี พนมยงค์เคยวางนโยบายนี้ไว้ และสมัยจอมพลป พิบูลสงคราม เคยออกกฎหมายกำจัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ แต่อำนาจของผู้นำประเทศสมัยนั้นถูกโค่นล้มเสียก่อน
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสประชาธิปไตยและมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน มีการตั้งสำนักงานสปก. ขึ้น เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดิน แต่ก็เป็นการปฏิรูปที่ดินของรัฐมากกว่า จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาการกระจุกการถือครองที่ดินแต่อย่างใด
ขณะที่ “ที่ดินเป็นสินค้า” ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์เก็งกำไรที่ดิน มีการสะสมที่ดินและไม่ทำประโยชน์จำนวนมาก

2. การพัฒนาประเทศสู่สังคมทุนนิยม

ไม่ว่าจะเป็นสมัยต้นรัตนโกสินธ์ ช่วงสนธิสัญญาเบาริ่ง หรือสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติก็ตาม ชาวนาได้รับการสนับสนุนให้ปลูกพืชผลเพื่อการขาย เพื่อการค้า สนับสนุนให้หักร้างถางพงเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยไม่มีการกระจายการถือครอง ที่ดิน ซึ่งชาวนานับล้านครอบครัวเมื่อถึงเวลากระแสอนุรักษ์ มีกฎหมายอนุรักษ์ประกาศทับที่ทำกิน พวกเขาก็กลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย สภาพทั่วไป การลงทุนทำการผลิตเพื่อขายของชาวนา มักไม่คุ้มต้นทุน มักขาดทุนอยู่สม่ำเสมอจำนวนมากจึงกลายเป็นชาวนาผู้มีหนี้สิน
ขณะเดียวกัน ชาวนายุคปัจจุบันการดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด มักมีการจัดการแรงงานของครัวเรือนชาวนาจำนวนมาก ล้วนแต่หาได้ทำมาหากินอยู่กับนา
หรือมิเพียงเพื่อทำนาทำสวนทำไร่อย่างเดียว พวกเขายังเป็นแรงงานนอกระบบจำนวนราว 24 ล้านคน เช่น รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่บ้าน ลูกของพวกเขาอาจทำงานนอกภาคเกษตร เช่น คนงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนราว 10 ล้านคน และภาคบริการอื่นๆจำนวนกว่า 10 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นแรงงานพนักงานด้านการผลิตที่ต้องทำงานมากกว่าแปด ชั่วโมง เพื่อส่งเงินมาเลี้ยงครอบครัวภาคเกษตร หรือภาคเกษตรอยู่รอดได้เพราะมีนอกภาคเกษตรหนุนเสริม พวกเขาจึงหาได้เลื่อนฐานะทาง ”ชนชั้น” เป็น “คนชั้นกลาง” แต่อย่างใด

3. กระนั้นก็ตาม หากกล่าวถึง นโยบายจำนำข้าว มีชาวนาที่ทำนาไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลางและได้ประโยชน์จากนโยบาย 20 ล้านคน

ก็นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วมิใช่หรือ ? ที่ชาวนาส่วนนี้จะได้มีเงินจ่ายหนี้ ธกส. หนี้ที่สร้างทุกข์ระดมให้ชาวนามาตลอด ลูกหลานครัวเรือนชาวนาส่วนนี้ก็จะได้ลดภาระการส่งเงินมาให้ครอบครัวโดยที่ตน เองทำงานหนัก การแทรกแซงราคาข้าวของรัฐ ภายใต้กลไกตลาดที่บิดเบือน การขจัดอิทธิพลผูกขาดของพ่อค้าข้าวส่งออก เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมใช่ไหม ?
เฉกเช่น นโยบายด้านสาธารณสุข ที่รัฐไม่ปล่อยให้เอกชนใช้กลไกตลาดหาประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว แน่นอนว่า หากมีปัญหาการทุจริต การสวมสิทธิ์จากโครงการนี้ การะบายข้าว ก็ควรตรวจสอบแก้ปัญหาเพื่อความโปร่งใสและงบประมาณจะได้ถึงชาวนาอย่างแท้จริง ซึ่งอาจต้องจัดตั้งกลไกที่ชาวนามีส่วนรวมมากขึ้น แต่มิใช่ยกเลิกนโยบายปล่อยให้กลไกตลาดที่บิดเบือนและชาวนาตกเป็นเบี้ยล่าง เช่นเคย
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ณรงค์ เพชรประเสริฐ ขึ้นเวทีองค์กรพิทักษ์สยามได้บอกว่า “มนุษย์เงินเดือนเป็นพนักงาน 17 ล้านคน ต้องเสียภาษี แต่ชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว “
ไม่ทราบว่า 17 ล้านคน เป็นคนงานพนักงานการผลิต ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานชาวนาจำนวนมากจำนวนส่วนใหญ่ ที่มิใช่มนุษย์เงินเดือนแบบคนชั้นกลางระดับผู้บริหาร ระดับหัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ราชการ ขณะที่ณรงค์ เพชรประเสิรฐ เขายังตั้งใจหลอกลวงว่า ชาวนาไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งๆที่ชาวนาและลูกหลานชาวนาล้วนเป็นจำนวนผู้จ่ายภาษีมากที่สุดก็ว่าได้

4. เนื่องเพราะ ไม่นานมานี้ อาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง การปฏิรูปทางทางการคลังนั้นหมายรวมถึงการปฏิรูปทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย

ทางด้านรายได้นั้นจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถรองรับระบบ สวัสดิการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปฏิรูปงบประมาณทางด้านรายจ่าย เพื่อตัดรายจ่ายประเภทไม่จำเป็นมาใช้จ่ายด้านระบบสวัสดิการมากขึ้น
ในการปฏิรูประบบภาษีนั้น มีข้อเสนอซึ่งไม่ใช่ใหม่ แต่แม้ผลักดันกันมานานก็ไม่ปรากฏเป็นจริง คือการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก
รัฐบาลปัจจุบันได้เสนอว่าควรจะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง
จากข้อมูลการกระจายรายได้ พบว่าความแตกต่างทางด้านรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย (เปรียบเทียบ 20% ของประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับ 20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุด) อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า
แต่ถ้าเปรียบเทียบในเชิงของการครอบครองทรัพย์สิน มีการประเมินว่าน่าจะสูงกว่านี้มากทีเดียว ฐาน การจัดเก็บภาษีในประเทศต่างๆ มักจะมาจากฐานทางด้านรายได้ การบริโภค และทรัพย์สิน
สำหรับประเทศไทย ฐานการจัดเก็บภาษีหลักมาจากฐานการบริโภค รองลงมาคือฐานทางด้านรายได้ สำหรับฐานทรัพย์สิน มีการจัดเก็บน้อยมากๆ
จึงคงถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดเก็บภาษีฐานทางด้านทรัพย์สินขึ้นมาเสียที เหตุผล ในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สำหรับกรณีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเกี่ยวข้องกับหลักของการได้รับ ประโยชน์จากภาครัฐ และหลักความสามารถในการจ่าย
ดังนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นการจัดเก็บอยู่บนฐานของมูลค่าที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีราคาที่สูงขึ้น ถ้ามีการพัฒนาความเจริญเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เช่นยิ่งมีระบบสาธารณูปโภคเข้าไปมากเท่าไร ราคาของสินทรัพย์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของจึงควรมีการจ่ายภาษีกลับคืนมาให้กับรัฐ และเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้จ่ายภาษีในเขตเมืองและชนบท นอกจากนี้แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังควรมีการแบ่งแยกประเภทของการใช้ที่ดินด้วย เช่น ถ้าเป็นการใช้เพื่อเกษตรกรรม อัตราการจัดเก็บควรจะต่ำกว่า การใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการอุตสาหกรรม หรือเชิงพาณิชย์อื่นๆ และสำหรับที่ดินที่รกร้าง
กล่าวคือเป็นการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร ซึ่งมีผลให้ปัจจัยการผลิตถูกนำไปครอบครองไว้เฉยๆ ไม่ทำประโยชน์ ควรจะมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนในการเก็งกำไร เพื่อผลักดันให้มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วน ภาษีมรดก เป็นภาษีที่ถือว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เพราะความไม่สมบูรณ์ของตลาดและประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี จึงเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มสามารถสะสมทรัพย์สินหรือโภคทรัพย์จนมากเกินไป การจัดเก็บภาษีมรดกถือเป็นการคืนกำไรหรือผลผลิตส่วนเกินให้กับสังคม ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่การสร้างรายได้เหล่านี้มักจะมาควบคู่กับการการสร้าง ต้นทุนทางสังคม
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมีการจัดเก็บภาษีมรดกทั้งสิ้น ระบบโครงสร้างการเก็บภาษีปัจจุบัน จึงไม่อาจบิดเบือนได้ว่า คนชั้นกลางเท่านั้นที่จ่าย แต่ผู้จ่ายจำนวนมากกลับเป็นคนชั้นล่าง มีการเป็นห่วงว่า นโยบายจำนำข้าวนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก
แต่คำถามก็คือ หากงบประมาณจำนวนมากเพื่อคนจำนวนมาก รัฐควรกระทำหรือไม่ ? หากงบประมาณจำนวนไม่น้อย เช่น งบกองทัพ โครงการไม่จำเป็นต่างๆ องค์กรไม่จำเป็นต่างๆ ที่คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์ รัฐควรกระทำหรือไม่ ?
ในทางตรงกันข้าม สมัยวิกฤติฟองสบู่ ปี 40 รัฐบาลได้ช่วยเหลือสถาบันการเงินบางแห่ง ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล เป็นการล้มบนฟูก “อุ้มคนรวย” ซึ่งมีไม่กี่ตระกูลด้วยงบประมาณแผ่นดิน มิใช่หรือ ?
การออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนวนข้าว ครั้งนี้ บางคนกระทำด้วยความตั้งใจ เพื่อนำสู่การปรับปรุงแก้ไข บางคนหลงใหลกับกลไกตลาดเสรีผูกขาด แต่บางคนกระทำการทำลายความชอบธรรมเป้าหมายขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแช่แข็งประเทศไทยเท่านั้นเอง ?

5 . อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของชาวนาในระยะยาวและระดับรากเหง้าของปัญหาชาวนา

อย่างน้อยรัฐ ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดิน มีการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า ปลดหนี้สินของเกษตรกร มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อย ขจัดการผูกขาดปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มของชาวนา สนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจควบคุมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพราะ “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” มิใช่หรือ ?