วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
7 พฤศจิกายน 2555
เรื่องการแถลงยอมรับอำนาจ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" นั้น สมควรต้องทำความเข้าใจว่า การยอมรับอำนาจโดยหลักมี 2 แบบ
แบบที่ 1: คือ การลงนามและให้สัตยาบัน ซึ่งย่อมเป็นการยอมรับอำนาจเป็นการทั่วไปสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็ทำเช่นนี้ และเกือบทุกประเทศก็ไม่ได้ทำไปเพื่อให้ศาลเข้ามายุ่งเรื่องราวในประเทศ แต่ทำไปเพื่อสนับสนุนกลไกโดยรวมของศาล เช่น การร่วมมือกับศาลในการติดตามผู้กระทำความผิดที่หลบหนี้ ฯลฯ
ส่วนแบบที่ 2: คือ แบบที่มีข่าวว่า รมต.ต่างประเทศของไทยกำลังพิจารณา คือการแถลงยอมรับอำนาจ "ย้อนหลัง" ไปยังกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเป็นการเฉพาะ ซึ่งในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เลือกใช้วิธีนี้ และมักเป็นประเทศที่ประสบปัญหารุนแรง
วิธีการแบบที่ 2 นี้มีนัยที่แตกต่างอย่างมากกับการยอมรับอำนาจแบบแรก โดยเฉพาะนัยที่อาจถูกมองว่าระบบกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศตนเองนั้นไม่สามารถรับมือกับกรณีปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เพราะ 'ศาลอาญาระหว่างประเทศ' ยึดหลักกฎหมายที่เรียกว่า Complementarity Principle ซึ่งหมายความว่า ‘ศาลอาญาระหว่างประเทศ’ เป็นเพียง ‘ศาลลำดับรอง’ ที่ถูกสร้างขึ้นมา ‘เสริม’ การทำงานของศาลหลักในแต่ละประเทศ แต่ใม่ใช่การเข้าไป ‘ทดแทน’ ‘ศาลภายในประเทศ’ และหากประเทศใด แถลงยอมรับอำนาจ "ย้อนหลัง" ก็อาจถูกมองว่าตนต้องการ
เมื่อเป็นดังนี้ คำถามสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า 'ศาลอาญาระหว่างประเทศ' มีประโยชน์ต่อประเทศไทยหรือไม่ (เพราะไทยไม่ได้กำลังจะให้สัตายาบันแบบแรก) แต่ต้องถามให้ถูกจุดว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไทยเองนั้น ยังทำงานตามปกติเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมได้หรือไม่
จะน่าเสียดายมาก หากสังคมไทยหลงเอา 2 ประเด็นนี้มาปะปนกัน จนสุดท้ายเข้าใจด้วยเหตุที่ผิดไปด้วยว่า ไทยไม่ควรให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี 'ศาลอาญาระหว่างประเทศ' ไปเสียด้วย