รมว.กต. เผยฟื้น กก.สัตยาบันไอซีซี หาความชัดเจน "ข้อจำกัด"

ข่าวสด 30 พฤศจิกายน 2555





ประชาไท : 29 พฤศจิกายน 2555 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการประชุมเพื่อหารือข้อสรุปการพิจารณาจัดทำประกาศรับเขตอำนาจศาล อาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะลงนามเพื่อยอมรับเขตอำนาจของไอซี  กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 หรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ควรเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีเคย แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2542 ได้พิจารณาก่อน เพราะยังมีหลายฝ่ายกังวลในข้อกฎหมายตาม 4 ฐานความผิดของไอซีซี ที่อาจจะต้องมีการแก้ไขในอนาคต และการออกกฎหมายให้ครอบคลุม เช่น พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญา พรบ.โอนตัวนักโทษ พ.ร.บ.เอกสิทธิและความคุ้มกัน เป็นต้น ซึ่งยังค้างคาอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว รวมทั้งให้พิจารณาว่า จะให้ กระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2542 และอีกครั้งเมื่อ 15 ม.ค. 2550 เพื่อพิจารณาการให้สัตยาบันเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการ 18 คน มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ส่วนกรรมการมีองค์ประกอบอาทิ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุดและ 3 เหล่าทัพ ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลยุติธรรม

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้รายงานการสอบถามของผู้สื่อข่าว ถึงประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาว่า รวมถึงธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 ด้วยหรือไม่ โดยข้อ 27 ซึ่งกำหนดว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคกัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐมาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญา  ซึ่งขัดแย้งกับความคุ้มกันที่ให้ไว้ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่กำหนดไว้ให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นายสุรพงษ์ ระบุ ว่า ประเด็นนี้จัดเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะได้นำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะคำว่า "ประมุข" ของรัฐ ในแต่ละระบอบการปกครองอาจไม่เหมือนกัน โดยจะให้ได้ข้อสรุป เพื่อแจ้งกับไอซีซีว่า ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามได้และไม่ได้อย่างไร คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน เพราะต้องการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด หากไทยไม่สามารถให้สัตยาบันได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่ไทยจะลงนามค้างไว้ จะได้จบเสียที เพราะหลายๆ ประเทศในโลกก็เป็นภาคีเต็มตัวกันหมดเเล้ว

ด้าน  พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อห่วงใยกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ จะยอมให้ไอซีซีเข้ามาไต่สวนการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ตนไม่อยากเข้าไปก้าวก่าย โดยเชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทำอย่างรอบคอบและต้อง ปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายหลายหน่วยงานก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยตอบคำถามของผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก แสดงความไม่สบายใจต่อกรณีดังกล่าว ถือเป็นความเห็นของ ผบ.ทบ.