"ปึ้ง" เผยไอซีซีมองรับเขตอำนาจไม่ใช่ "สนธิสัญญา"-ไฟเขียวพิจารณาข้อกฎหมายไทย

ข่าวสด 7 พฤศจิกายน 2555 >>>


เมื่อ 7 พ.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวชี้แจงภายหลังการหารืออย่างเป็นทางการกับ นางฟาโต เบ็นโซดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ เมื่อ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยได้หารือกันเรื่องความร่วมมือทั่วไประหว่างไทยกับไอซีซี และกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับไอซีซี ให้พิจารณาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า นางเบ็นโซดา ได้ให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ โดยระบุว่า ไอซีซี มีเขตอำนาจพิจารณาการกระทำที่เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท ได้แก่ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ซึ่งสำหรับกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองของไทย นางเบ็นโซดา เห็นว่า อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นก่อน เช่น เป็นการกระทำอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบ
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นางเบ็นโซดา ระบุว่า การประกาศยอมรับเขตอำนาจของไอซีซี สามารถกำหนดกรอบไว้ในคำประกาศได้ และจะต้องยึดหลักความเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ โดยไอซีซีจะมุ่งดำเนินการกับผู้สั่งการโดยตรง และผู้รับผิดชอบที่แท้จริง ซึ่งการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี จะเป็นขั้นตอนแรกในการเปิดโอกาสให้ไอซีซีเข้ามาทำการ "ตรวจสอบเบื้องต้น" (Preliminary Examination) ว่าไอซีซีจะมีอำนาจพิจารณากรณีนั้นๆหรือไม่ และไอซีซีจะมีบทบาทเสริมกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศเท่านั้น แต่ทางไอซีซีอาจเข้ามาดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ กระบวนการยุติธรรม "ไม่สามารถ" หรือ "ไม่สมัครใจ" หรือ "ไม่ได้ดำเนินการอย่างแท้จริง"
นอกจากนี้ นางเบ็นโซดา ยังเห็นว่า การจัดทำประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ มีขอบเขตจำกัด จึงไม่ใช่ "สนธิสัญญา" แต่เป็นการแสดงเจตนาของรัฐ เป็นการประกาศฝ่ายเดียว และสามารถถอนคำประกาศได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีประเทศใดเคยถอนคำประกาศ
รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซีของไทย ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ครม. เมื่อปี 2543 เคยตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับไอซีซีขึ้นมา จะต้องกลับไปตรวจสอบว่ายังอยู่หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย กรมสนธิสัญญาและกฏหมาย ของกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยืนยันว่าจะพิจารณารายละเอียดข้อกฏหมายอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ถูกบางกลุ่มนำไปบิดเบือนและสร้างความสับสนให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้ตัวว่าอาจผิด หรืออาจจะผิด อย่าตีตัวไปก่อนไข้
   "จากการที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านโดยไม่คิดที่จะศึกษา ไม่คำนึงถึงเหตุผลต่อการที่ไอซีซีจะเข้ามาเสริมกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความยุติธรรมต่อมวลมนุษยชาติที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจริงๆ การเข้ามาของไอซีซีหากจะช่วยเกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมไทย จะไม่เป็นสิ่งที่ดีหรือสำหรับคนไทย ส่วนกลุ่มบุคคลที่มองว่า การเข้ามาของไอซีซีถือเป็นการดูถูกกระบวนการยุติธรรมของไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะหากกระบวนการยุติธรรมได้ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไอซีซีก็ไม่อาจเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ วันนี้ ขอให้ผู้ที่รู้จริง ไม่รู้จริง หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ โปรดยุติการวิพากศ์วิจารณ์ไว้ก่อน และกลุ่มที่ชอบออกมาขู่ผมกับรัฐบาลให้กลัว อ้างว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผมขอบอกตรงๆว่า ผมไม่กลัวพวกคุณ" นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นรัฐหนึ่งที่ลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมฯ และได้ร่วมลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อ 2 ต.ค. 2543 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันจนถึงขณะนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้ก่อน โดยคณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติเมื่อ 19 ม.ค. 2542 แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้นตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอ มีหน้าที่พิจารณาผลดีและผลเสียของการเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญ
ต่อมาวันที่ 1 เม.ย. 2542 คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศมีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้น ประกอบด้วยกรรมการสิบคน เป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ คือ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ