ไต่สวนคดี"ลุงบุญมี"บ่อนไก่

ข่าวสด 15 พฤศจิกายน 2555 >>>




เมื่อ วันที่ 14 พ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนาย บุญมี เริ่มสุข อายุ 68 ปี ถูกยิงที่หน้าร้านอาหารระเบียงทอง ย่านบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 และเสียชีวิตในอีก 2 เดือนต่อมา โดยพนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ พ.ต.ท. ณปภัช ณัฏฐสุมน สถาบันนิติเวชวิทยา ร.พ.ตำรวจ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี และผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553

พ.ต.ท.ณปภัชเบิกความสรุปว่า เป็นแพทย์ ผู้ชันสูตรพลิกศพของร.พ.ตำรวจ ได้รับศพของนายบุญมี เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2553 จากการชันสูตรคาดว่าสาเหตุที่นายบุญมีเสียชีวิต เนื่องจากถูกยิงและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด จากนั้นทนายความญาติผู้ตายถามพยานว่าพบหัวกระสุนปืนในตัวผู้ตายหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่พบ แต่ทราบจากพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ว่าพบหัวกระสุนปืนในตัวผู้ตาย

"เทือก"ให้การวิธีปราบม็อบ

ด้าน นายสุเทพเบิกความสรุป โดยเริ่มตั้งวันที่ 12 มี.ค.2553 มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดศอฉ. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งพยานเป็น ผอ.ศอฉ. มีหน้าที่เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน ในการปฏิบัติงานของศอฉ. จะทำในรูปแบบของคณะกรรมการ มีการประชุมออกความเห็นและลงมติร่วมกัน โดยมีพยานเป็นประธานในที่ประชุมทุกครั้ง ซึ่งจัดประชุมวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

พยานเบิกความต่อว่า ยืนยันว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กระทำจากเบาไปหาหนัก โดยสมควรแก่เหตุ และให้แจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง กระทำให้สอดคล้องกับนานาอารยประเทศ เคารพสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เจ้าหน้าที่ต้องอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด และไม่ใช้ความรุนแรง ให้นึกไว้เสมอว่าผู้ชุมนุมเป็นประชาชนคนไทยด้วยกัน นอกจากนี้ ยังระบุถึงการปฏิบัติตามหลักสากล 7 ขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนต้องมีผู้ตัดสินใจ เช่น ผู้บัญชาการที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ต้องได้รับความเห็นชอบจากศอฉ.เท่านั้น

ชี้วิถีกระสุนมาจากทั้ง2ฝั่ง

อดีต ผอ.ศอฉ.เบิกความอีกว่า สำหรับอาวุธที่ศอฉ.อนุญาตให้ใช้ คือ ปืนลูกซอง ส่วนอาวุธปืนเอ็ม 16 อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะผู้บังคับหน่วยเท่านั้น และไม่ให้ใช้อาวุธสงคราม เช่น ระเบิดเอ็ม 79 และอาร์พีจี โดยกำหนดกฎการใช้อาวุธไว้ว่า ต้องไม่ประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่ใช้เพื่อคุ้มครองตนเองและผู้ที่อยู่ในความคุ้มครอง ต้องไม่ใช้อาวุธกับเด็ก สตรี และคนชรา ให้เล็งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงไป ส่วนการตายของนายบุญมี พยานมาทราบหลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายเดือน เนื่องจากต้องนำข้อมูลไปชี้แจงในสภา จึงทราบว่า ในวันที่ 14 พ.ค. ผู้ตายยืนอยู่หน้าร้านอาหารระเบียงทอง และถูกคนร้ายยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดเข้าที่หน้าท้อง ก่อนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

พยานเบิก ความว่า พนักงานสอบสวนสน. ปทุมวัน นำร่างไปชันสูตรพลิกศพ และสรุปความเห็นว่าไม่สามารถหาพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้ผู้ตายเสียชีวิต และไม่ทราบว่าวิถีกระสุน ที่ยิงถูกผู้ตายมาจากทิศทางใด โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่ามีรอยวิถีกระสุนมาจาก 2 ทิศทาง ทั้งจากฝ่ายทหารและฝ่ายตรงข้าม และไม่ทราบว่าผู้ตายหันหน้าไปทิศทางใด ประกอบกับอาวุธปืนที่ส่งมาตรวจนั้น ก็ไม่พบว่าตรงกับกระสุนปืนจากตัวผู้ตาย

แจงเหตุ"สไนเปอร์"บนตึก

จาก นั้นทนายความญาติผู้ตายให้พยานดูภาพถ่ายที่มีป้ายระบุว่า "เขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง" และถามว่าได้ออกคำสั่งให้ติดตั้งป้าย ดังกล่าวหรือไม่ นายสุเทพเบิกความว่า ไม่ได้สั่งการให้เขียนป้ายว่าเขตพื้นที่ใช้กระสุนจริง แค่สั่งให้ติดป้ายเขตห้ามเข้าเท่านั้น ทนายความญาติ ผู้ตายให้พยานดูภาพถ่ายพลซุ่มยิง 2 นายอยู่บนตึกสูง และมีอาวุธปืนติดลำกล้อง ก่อนถามว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่

พยาน เบิกความตอบคำถามว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สูงโปร่ง เพื่อป้องกันการโจมตีจากผู้ก่อการร้าย ที่ใช้อาวุธวิถีโค้งและยิงจากระยะไกล โดยอัยการสูงสุดเคยให้คำแนะนำในที่ประชุมศอฉ.ว่า หากมีผู้ก่อการร้ายโจมตีให้ใช้อาวุธดังกล่าวได้ เป็นไปตามหลักสากลของสหประชาชาติ ปรากฏในเอกสารที่อัยการสูงสุดทำเสนอที่ประชุมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 20 พ.ย. โดยทนายความญาติผู้ตายจะนำพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความในช่วงเช้าจำนวน 2 ปาก และนำนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำนปช. เข้าเบิกความในช่วงบ่าย


ดีเอสไอสอบ "ผบ.พล.ม.2"
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 กล่าว่า ในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะไปสอบปากคำ พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผบ.พล.ม.2 รอ. ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยสอบปากคำในฐานะพยานคดี เนื่องจาก พล.ต.สุรศักดิ์ ดูแลรับผิดชอบกำลังพลบริเวณบ่อนไก่ ในเหตุการณ์กระชับพื้นที่เมื่อเดือนพ.ค.2553

รองอธิบดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 13 คน ที่ร่วมประชุมครม.นัดพิเศษ ภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น พนักงานสอบสวนทยอยส่งหนังสือเชิญมาให้ปากคำแล้ว แต่ส่วนใหญ่ขอเลื่อนไม่มีกำหนด ดังนั้น พนักงานสอบสวนจะหารือเพื่อกำหนดวันเวลาที่แน่ชัดต่อไป



รายชื่อ13รมต.ถกในราบ 11
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 13 อดีตรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ, นายชุมพล ศิลปอาชา อดีตรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, นาย สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรมว.มหาดไทย, นายอิสสระ สมชัย อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายวีระชัย วีระเมธีกุล อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรมว.พลังงาน, นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรมว.อุตสาหกรรม, และ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรมช.ศึกษาธิการ