ข่าวสด 8 พฤศจิกายน 2555 >>>
ตรวจ "สตรีวิทย์" จุดปาบึ้ม 10 เม.ย.
ดีเอสไอลงพื้นที่คลี่ปม "พ.อ.ร่มเกล้า" ตายในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 ตรวจสอบบ้านโบราณตรงข้าม ร.ร.สตรีวิทยา ตามรายงานของ "คอป." อ้างเป็นจุดที่คนร้ายปาระเบิดใส่ ด้านทีมงานอดีตเลขาฯ ครม.ยุคมาร์ค เข้าให้การดีเอสไอแล้ว ให้ข้อมูลรายละเอียดการจัดตั้ง "ศอฉ." แล้วตั้ง "เทือก" เป็น ผอ. ขณะที่ "ปึ้ง" รมว.ต่างประเทศ แถลงผลหารืออัยการศาลโลก ชี้คดีปราบม็อบ 99 ศพ อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หากไทยยอมรับเขตอำนาจ ก็จะเข้ามาตรวจสอบในเบื้องต้น มุ่งดำเนินการเฉพาะ "ผู้สั่งการ" ย้ำไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในไทย ไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการประกาศฝ่ายเดียว
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า จากการหารืออย่างเป็นทางการกับ นางฟาทู เบนซูดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่มาร่วมประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับการพิจารณาคดี 99 ศพ ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นเรื่องร้องไปไอซีซีนั้น นางเบนซูดาให้ข้อมูล และความเห็นเกี่ยวกับการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรม สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม
นายสุรพงษ์กล่าวว่า นางเบนซูดาระบุว่า ไอซีซีมีเขตอำนาจพิจารณาการกระทำที่เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท ได้แก่ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไทยในปี 2553 นั้น นางเบนซูดาเห็นว่าอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นก่อน เช่น เป็นการกระทำอย่างกว้างขวาง หรือเป็นระบบหรือไม่
รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวต่อว่า นางเบนซูดาระบุด้วยว่าการประกาศยอมรับเขตอำนาจของไอซีซี สามารถกำหนดกรอบไว้ในคำประกาศได้ และจะต้องยึดหลักความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ โดยไอซีซีจะมุ่งดำเนินการกับผู้สั่งการโดยตรง และผู้รับผิดชอบที่แท้จริง ดังนั้น การประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี จะเป็นขั้นตอนแรกที่เปิดโอกาสให้ไอซีซีเข้ามาตรวจสอบเบื้องต้น ว่าไอซีซีจะมีอำนาจพิจารณากรณีนั้นๆ หรือไม่ และจะมีบทบาทเสริมกระบวนการยุติ ธรรมภายในประเทศเท่านั้น ไอซีซีอาจเข้ามาดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจ หรือ ไม่ได้ดำเนินการอย่างแท้จริง
"นางเบนซูดายังเห็นว่าการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ตามข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรม มีขอบเขตจำกัด จึงไม่ใช่สนธิสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนาของรัฐ เป็นการประกาศฝ่ายเดียว และสามารถถอนคำประกาศได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศใดถอนคำประกาศ" รอง นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวถึงการประกาศยอมรับเขตอำนาจไอซีซีของไทย ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ครม. เมื่อ ปี 2543 เคยตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับไอซีซีขึ้นมา ดังนั้น จะต้องกลับไปตรวจสอบว่ายังอยู่หรือไม่ คณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานศาลยุติธรรม, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงกลาโหม และสำนัก งานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่าจะพิจารณารายละเอียดข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ถูกบางกลุ่มนำไปบิดเบือน และสร้างความสับสนให้สังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้ตัวว่าอาจผิด หรืออาจจะผิด อย่าตีตนไปก่อนไข้
"การเข้ามาของไอซีซี หากจะช่วยเกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมไทย จะไม่เป็นสิ่งที่ดีหรือสำหรับคนไทย ส่วนกลุ่มบุคคลที่มองว่าการเข้ามาของไอซีซี เป็นการดูถูกกระบวนการยุติธรรมของไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะหากกระบวนการยุติ ธรรมให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไอซีซีก็ไม่ อาจเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ วันนี้ขอให้ผู้ที่รู้จริง ไม่รู้จริง หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ โปรดยุติการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ก่อน และกลุ่มที่ชอบออกมาขู่ผมกับรัฐบาลให้กลัว อ้างว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผมขอบอกตรงๆ ว่า ผมไม่กลัวพวกคุณ" นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วนนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความฝ่ายต่างประเทศของนปช. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ถึงกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองขอบเขตอำนาจของไอซีซี ว่าไม่เข้าใจจุดประสงค์ของ นักวิชาการ รวมทั้ง ส.ว. ที่เกรงว่าการรับรองอำนาจ ไอซีซี จะเปิดช่องทางให้กฎหมายระหว่างประเทศแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย และออกมาปลุกระดมให้คนไทยกลัวไอซีซี อยากอธิบาย ว่าไอซีซีมีหน้าที่และขอบเขตเพียงพิจารณาคดีที่ ไม่อาจตัดสิน หรือไม่ได้รับความยุติธรรมในประเทศ ซึ่งต้องมีผู้ยื่นเรื่องฟ้องร้อง ไม่ใช่ว่าไอซีซีจะเข้ามาปั่นระบบกฎหมายของไทยได้ ไอซีซีไม่ได้มีอำนาจเหนือศาลไทย แต่มีอำนาจในฐานะที่พึ่งระหว่างประเทศเท่านั้น
"อันที่จริงหากกระบวนการยุติธรรมของไทยมีศักยภาพ ผู้ถูกกระทำก็ไม่มีความจำเป็นต้องร้องศาลต่างประเทศให้เสียเวลา ผมมองว่าการที่กลุ่มต่อต้านออกมาพูดยุยงให้คนไทยกลัวไอซีซี เพราะไม่อยากให้มีการนิรโทษกรรมมากกว่า หากคนไทยต้องการให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ก็ต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ด้วยการลงโทษคนผิด แต่เมื่อไม่สามารถหาความยุติธรรมในประเทศได้ ดังนั้น คนไทยก็ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากไอซีซี" ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มเสื้อแดง กล่าว
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า หากนายสุรพงษ์ลงนามยอมรับเขตอำนาจไอซีซี ก็จะยื่นเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ หากชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีอาญาต่อไป
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ เปิดเผยว่า เชิญ น.ส.สิบพัน วนวิสุทธิ์ รองเลขาธิการ ครม. นายศิริ เลิศธรรมเทวี ผอ.สำนักนิติธรรม รักษาการที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการ ครม. และนายสมโภชน์ ราชแพทยาคม ผอ.กองการประชุม ครม. มาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการออกนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ผอ.ศอฉ.
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า จากการสอบปากคำพยานทั้ง 3 ราย ให้ข้อมูลรายละเอียดไปในทิศทางเดียวกัน เกี่ยวกับการประชุม ครม. ที่นายอภิสิทธิ์ นายกฯ ในขณะนั้น เป็นประธาน โดยในที่ประชุมส่วนใหญ่หารือเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการจัดตั้งศอฉ. ที่ประชุมมอบหมายให้นายสุเทพเป็นผอ.ศอฉ. ขณะที่นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการ ครม. เลื่อนเข้าให้ปากคำอย่างไม่มีกำหนด
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 8 พ.ย. เวลา 12.00 น. จะนำพนักงานสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ ไปตรวจสอบบริเวณบ้านโบราณหลังหนึ่ง ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา ตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ระบุไว้ในรายงานว่าคนร้ายน่าจะใช้บริเวณบ้านหลังนี้ปาระเบิดใส่กลุ่มทหาร เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรอง เสธ.พล.ร.2 รอ. และพวกเสียชีวิต โดยพนักงานสอบสวนต้องการทราบว่าจุดนี้สามารถโยน หรือปาวัตถุใดๆ ออกมาได้หรือไม่ และมีระยะเท่าไหร่