ผลสำรวจสวนดุสิตโพลระบุว่า ประชาชนให้ความสนใจการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ยิ่งกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่น่าจับตาคือการรับมือของรัฐบาล
การประชุมพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 12 พ.ย. แสดงความวิตกหลายประการต่อการชุมนุม ที่จะเริ่มต้นในเวลา 09.01 น. วันที่ 24 พ.ย. ณ ลานพระบรมรูปทรงม้ารวมถึงความกังวลว่า อาจถึงขั้น เข้าควบคุมตัวนายกรัฐมนตรีที่น่าจับตา คือการรับมือผู้ชุมนุมในครั้งนี้ มีลักษณะเป็นการตั้งรับในเชิง "เทค นิค"โดยถอดบทเรียน ใช้เหตุการณ์ในอดีตเป็นตัวตั้ง
บทเรียนหนึ่ง มาจากระยะก่อนปี 2549 ที่ลงเอยด้วยการรัฐประหาร เป็นเรื่องของ "ทุน" หลังจากมีข่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า ได้โทรศัพท์ไปคุยกับนายทุนคนดังกล่าว เป็นคนเดียวกับที่เคยสนับสนุนการชุมนุมเมื่อก่อนปี 2549 ว่าบ้านเมืองกำลังสงบ แล้วมาทำเช่นนี้ทำไม แต่บุคคลดังกล่าวให้การปฏิเสธ อีกบทเรียนหนึ่ง จากการสลายม็อบ 7 ต.ค.2551 มีการนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ ร.ต.อ. เฉลิมเผยว่า จะไม่มีมาตรการความรุนแรงอย่างเด็ดขาด จะใช้หลักสากล รัฐบาลไม่ได้มองว่าผู้เข้ามาร่วมชุมนุมเป็นศัตรู แต่มองเป็นการใช้สิทธิในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมอบหมายตำรวจแล้ว รัฐบาลจะไม่ยุ่งเกี่ยว จะให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้รับผิดชอบ หากมีอะไร พล.ต.อ.อดุลย์สามารถสั่งการได้ทันที "ไฮ ไลต์" คือ การที่มอบนโยบายให้ พล.ต.อ.อดุลย์ และคณะทำงาน เชิญ "องค์กรอิสระ" ทุกองค์กร เข้ามาร่วมรับทราบการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ด้วย องค์กรอิสระมีใครบ้าง ต้องย้อนกลับไปดูข่าวการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 พ.ย.
ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า ให้เชิญตัวแทน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด (มติชน 13 พ.ย.)
ทําไมจึงต้องเชิญตัวแทนองค์กรอิสระ เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากนัก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ออกแบบการ "ตรวจสอบ" ไว้อย่างละเอียด โดยมี "องค์กรอิสระ" เป็นกลไกสำคัญ การสั่งการของฝ่ายการเมือง การปฏิบัติของฝ่ายข้าราชการประจำ หากพลาดพลั้ง อาจกลายเป็นปัญหาเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรอิสระได้ กรณีตัวอย่าง จากเหตุการณ์ชุมนุม และสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อ 7 ต.ค.2551 หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมาด้วย การไปออกรายการทีวีของ ผบ.เหล่าทัพ ในวันที่ 16 ต.ค.2551 เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "ปฏิวัติหน้าจอ"
ต่อมาวันที่ 7 ก.ย.2552 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกับการสลายม็อบ มีตั้งแต่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. ขณะนั้น
สุดท้าย เดือน ต.ค.2555 อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องบุคคลทั้ง 4 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วย และประกาศจะฟ้องคดีเอง
การตั้งรับของรัฐบาลรอบนี้ สะท้อนสภาพทางการเมืองที่ซุกซ่อนกลเกมยอกย้อน ต่อสู้กันด้วยเทคนิคของการใช้พลังผู้ชุมนุม และที่สำคัญคือ เทคนิค และกับดักของข้อกฎหมายที่เอื้ออำนวยและใช้ได้ผลมาแล้ว