รร.อมารีเอเทรียม 7 ต.ค.- “จาตุรนต์” มองรายงาน คอป. โดยนำไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 ระบุ มีทั้งข้อดี-บกพร่อง แนะศึกษาเพิ่มเติม เร่งเปิดกระบวนการรับฟังความเห็นหรือทำประชามติประเด็นที่ยังเป็นปัญหาทั้งแก้ รธน. ปรับปรุงองค์กรอิสระ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงข่าวโดยใช้หัวข้อว่า "เรื่อง จาก 6 ตุลา ถึงรายงาน คอป.” ว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 กับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีความเหมือนกันคือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยรวมมีข้อดีไม่น้อย มีหลักการในการทำงานพอสมควร มีข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์ แต่ก็มีข้อผิดพลาดและข้อจำกัดอยู่พอสมควร ซึ่งข้อจำกัดนี้ไม่น่าจะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองได้ เพราะ คอป. ไม่ได้ศึกษารากเหง้าและปัญหาที่จำเป็นที่ทำให้เกิดวิกฤต สังคม จึงไม่สามารถฝากความหวังที่จะทำให้เกิดความปรองดองได้
“เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. รายงาน คอป. ยังสืบหาความจริงไม่ครบถ้วน ข้อเท็จจริงอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผย สังคมได้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่ คอป. เลือกมาเปิดเผย คอป. งดเว้นในการค้นหาความจริงเหมือนกับเหตุการณ์ปี 2553 เหมือนกับมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดไปหมดแล้ว รายงาน คอป. จึงไม่ตอบประเด็นข้อสงสัยในเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเหตุแห่งการตั้ง คอป. ขึ้นมา” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รายงานของ คอป. พูดถึงความจริงที่เป็นรากเหง้าความขัดแย้ง ปัจจัยความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์อย่างกว้าง ๆ เป็นการนำประเด็นมาเรียงกันแต่ไม่มีข้อสรุป คอป. เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร 2549 อย่างหนักแน่น แต่เมื่อถึงเรื่องรัฐประหารกลับพูดเพียงสั้นๆ และไม่ชัดเจนว่ารัฐประหารเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คอป. มุ่งให้ความเห็นที่ตนต้องการ แต่ไม่นำความเห็นของฝ่ายต่างๆ มาเสนอ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร ทำให้เป็นปัญหาในการวิเคราะห์องค์ความรู้ของ คอป. เอง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ข้อเสนอของ คอป. แม้จะมีข้อเสนอที่ดีหลายจุด แต่ก็ขาดน้ำหนัก และไม่ตรงจุด ทำให้ข้อเสนอที่ดีลดความสำคัญลง เช่น ไม่ควรทำรัฐประหารอีก แต่ไม่ได้เน้นความเลวร้ายของการรัฐประหาร คอป. เสนอว่าไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญ แต่เปิดช่องให้ทำได้ในระยะยาว คอป. กล่าวถึงการคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงข้อเสนอในบทสรุปกลับเรียกร้องให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการผิดหลักนิติธรรมต้องเสียสละ
“ถ้านำข้อเสนอของ คอป. ไปปฎิบัติ ทุกข้ออาจเป็นอุปสรรคของความปรองดอง ผมจึงเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องว่าไม่ต้องทำตามข้อเสนอของ คอป. ทุกข้อ แต่ให้ใช้วิจารณญาณพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอเสนอให้ คอป. ส่งเสริมให้เกิดการค้นหาความจริงเพิ่มเติมต่อไป ทั้งเหตุการณ์ความรุนแรง และปัญหารากเหง้า การหาความจริง ส่วนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากให้ทำไปเลย ส่วนประเด็นนิรโทษกรรมควรดูบทเรียน 6 ตุลา ที่น่าสนใจคือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ใช่แกนนำทุกฝ่าย ส่วนเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่ยังเห็นต่างกัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงบทบาทองค์กรอิสระ โดยควรมีกระบวนการรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นหรือการทำประชามติ เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องระยะยาวอย่างที่ คอป. เสนอ”นายจาตุรนต์ กล่าว