การพุ่งเป้าเจาะจงยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจไปที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป้าใหญ่เป้าเดียวครั้งนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประชาธิปัตย์ ที่ปรับแผนมาเพื่อให้เข้าเป้าแบบจังๆ
ศึกซักฟอกหลายครั้งก่อนหน้านี้ หลายรัฐบาลที่ผ่านมา “ประชาธิปัตย์” แม้จะไม่ถึงกับหว่านแหยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายตำแหน่ง แบบเน้นปริมาณ เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็น เปิดให้บรรดาขุนพลขึ้นมาถล่มการทำงานของรัฐบาลได้แบบภาพกว้างชนิดไม่ต้องเสียดายข้อมูลในมือ
การเน้น “ปริมาณ” ให้สมาชิกขึ้นรุมถล่มรัฐมนตรีแต่ละคนที่ผ่านมา หวังผลสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
ที่สำคัญยังหวังผลพลอยได้สร้างรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล หาก “รัฐมนตรี” ในพรรคร่วมรัฐบาลที่สะบักสะบอมจากแผลซักฟอก จนเกิดปรากฏการณ์เสียงแตกมีบางกลุ่มบางมุ้งไปโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากบางพรรคที่จะเพาะเชื้อกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันปั่นป่วน
แต่สำหรับศึกซักฟอกครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา
การพุ่งเป้าเจาะจงถล่มไปที่ “จุดอ่อน” แถมยังเป็น “กล่องดวงใจ” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจความรับผิดชอบควบคุมทุกสรรพางค์ในกลไกการบริหารประเทศ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเวลานี้
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นายกฯ มือใหม่ ที่ก้าวสู่ถนนการเมืองเพียงปีกว่า ยังขาดประสบการณ์ ลีลาความเก๋า ชั้นเชิง ยากจะไปต่อกรเปิดศึกวิวาทะกับ “ประชาธิปัตย์” ที่มีแต่นักการเมืองเขี้ยวลากดินรอรุมทึ้ง
ยังไม่รวมกับบุคลิกส่วนตัวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารชี้แจงทำความเข้าใจในข้อมูลต่างๆ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายครั้ง และยังเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้น
จุดอ่อนตรงนี้ทางเจ้าตัวและทีมงานรับรู้รับทราบมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่สามารถแก้ไขได้ ก็เอาตัวรอด ทำได้แค่หลบเลี่ยง
ไม่ว่าจะเป็นหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ การตอบโต้ชี้แจงทางการเมืองในเวทีต่างๆ ไปถึงหลีกเลี่ยงการมาตอบกระทู้ ชี้แจงญัตติต่างๆ ในสภา หรือหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะใช้ตัวช่วยเป็นรัฐมนตรีขาประจำมาเป็นผู้ชี้แจงแทน
แต่ศึกซักฟอกเที่ยวนี้ ไม่เหมือนกับที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายค้านตั้งเป้าเจาะจงอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แบบไม่พ่วงรัฐมนตรีคนอื่นให้มาเป็นตัวช่วยคอยชี้แจง จึงเป็นการบังคับกลายๆ ให้เจ้าตัวต้องชี้แจงทุกเรื่องด้วยตัวเองในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ต้องรับรู้รับทราบในทุกเรื่อง
ว่ากันว่าเวทีจะไม่ต่างจากการจับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มาขึงพืดกลางสภาให้ฝ่ายค้านได้รุมถล่มไล่เรียงไปทีละเรื่องร้อนต่างๆ
ที่สำคัญไม่ว่าฝ่ายค้านจะ “ตั้งธง” อภิปรายเรื่องเงื่อนงำความไม่โปร่งใส ทุจริต ความล้มเหลวในการบริหารราชการ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ทุกความรับผิดชอบล้วนแต่อยู่ในมือของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ “ประชาธิปัตย์” ต้องพ่วง “รัฐมนตรี” คนใดคนหนึ่งขึ้นมาบัญชีอภิปราย ซึ่งมีแต่จะเบี่ยงเป้าความผิดไปยังรัฐมนตรี แทนที่จะตกอยู่กับนายกรัฐมนตรีโดยตรง
เพราะรู้ทั้งรู้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จบลงสุดท้ายไม่ว่าฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดขนาดไหน ก็ไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้ เมื่อการลงมติสุดท้าย เสียงข้างมากฝั่งรัฐบาลกว่า 300 เสียง อย่างไรก็ต้องโหวตประคองรัฐบาลให้บริหารงานต่อไปอยู่ดี
เป้าหมายการอภิปรายของฝ่ายค้านเที่ยวนี้ จึงอยู่ที่การรุมถล่มนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลางสภา แบบไม่อาจมีตัวช่วยมาชี้แจง ซึ่งหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็จะถูกเชือดคาสภา
นั่นจึงเป็นอีกผลที่ไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อรัฐมนตรีที่บริหารงานล้มเหลวขึ้นมาในศึกซักฟอก เพราะถึงสุดท้ายฝ่ายค้านจะมีหมัดน็อกที่ทำให้ “รัฐมนตรี” คว่ำกลางสภาได้จริง แต่จากนั้นอย่างมากก็แค่ถูกปรับพ้น ครม.ตัดตอนความรับผิดชอบในที่สุดอยู่ดี
ดีไม่ดีรัฐบาลอาจจะแก้เกมแบบตลบหลังด้วยการปรับ ครม. ที่ตั้งเค้าว่าจะปรับใหญ่อยู่แล้ว ดักหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตัดตอนรัฐมนตรีที่กำลังจะถูกเข็นขึ้นเขียง ด้วยการปิดปากไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปราย
ส่องดูประเด็นซักฟอกรอบนี้ทุกเรื่องล้วนแต่อยู่ในความรับผิดของนายกฯ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องแรก ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ได้จริง ทั้งค่าแรง 300 บาท เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ที่นอกจากไม่สามารถทำได้จริง แล้วฝ่ายค้านจะใช้เวทีถล่มผลกระทบความเสียหายต่อภาคธุรกิจที่เกิดขึ้น
รวมไปถึง “ค่าครองชีพ” ที่รัฐบาลไม่สามารถกระชากลงมาได้จริง หนำซ้ำยังเป็นภาระประชาชนมากขึ้น จากนโยบายที่ผิดพลาด ทั้งการลอยตัวก๊าซ พลังงาน ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและย้อนกลับมาเป็นภาระประชาชนในที่สุด
ถัดมาปมปัญหาทุจริต ไล่มาตั้งแต่งบกลาง 1.2 แสนล้านบาท ในส่วนของการแก้ไขป้องกัน ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่มีเรื่องร้องเรียนความไม่โปร่งใสเรียกหัวคิวสูงถึง 40% ซึ่งฝ่ายค้านเคยไล่บี้ขอข้อมูลรายละเอียดจากรัฐบาลเพื่อจะนำมาประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อครั้งสภาพิจารณางบ ประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด
ระหว่างนี้ “ประชาธิปัตย์” ไล่บี้เก็บข้อมูลต่อเนื่องผ่านกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่อยู่ระหว่างรอเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
ถัดมาเรื่องที่ “โครงการจำนำข้าว” ที่ว่ากันว่าจะเป็นหมัดเด็ดถล่มรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านแบ่งคณะทำงานลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ เชื่อมโยงกับการทำงานของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เริ่มฉายหนังตัวอย่างความไม่โปร่งใสในแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่รับจำนำจนระบายออกไปยังต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อกลไกการค้า และยิ่งทำให้งบประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ที่ลงไปมีแนวโน้มว่าจะขาดทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะข้อมูลการระบายข้าวที่ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา
ประเด็นสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลต้องสั่นคลอนเมื่อฝ่ายค้านกำลังเร่งเก็บรวบรวมข้อมูลบริษัทที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการเวียนเทียน ยังไม่รวมกับประเด็นอื่นๆ ที่มีเงื่อนงำความไม่โปร่งใส
คงต้องรอดูต่อไปว่าศึกซักฟอกเที่ยวนี้จะเป็น “หลักประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์” อย่างที่ประชาธิปัตย์ออกมาประกาศหรือไม่