ปชป. จัดหนัก รัฐบาลจัดเต็ม

ข่าวสด 14 ตุลาคม 2555 >>>




เปลี่ยนจากโหมดตั้งรับ กลับมาเป็นฝ่ายรุก หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ไม่รับคำร้องของนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ยื่นขอให้ศาลฯ วินิจฉัย "คว่ำ" โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการยกคำ ร้องว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการระงับยับยั้ง หรือยุติโครง การที่เป็นนโยบายของรัฐ ประกอบกับผู้ร้อง ยังมิใช่เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ
วันรุ่งขึ้น นายกฯยิ่งลักษณ์ ที่นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมมอบนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ต้อนรับปีงบประมาณใหม่ 2556 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
กำชับทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุก ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ฉับไวต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่
ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติด บ่อนพนัน หรือของเถื่อน ให้ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯ กับผู้บังคับการตำรวจภูธรในพื้นที่
แต่ที่นายกฯปู เน้นย้ำเป็นพิเศษกับผู้ว่าฯและผู้การจังหวัด คือการลงพื้นที่สุ่มตรวจหน้างานโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ป้องกันไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้นเด็ดขาด
ยิ่งถ้าพบว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมขบวนการทุจริตก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายและลงโทษทางวินัยอย่างเฉียบขาดทันที ห้ามละเว้นหรือปกป้อง สะท้อนอารมณ์ให้เห็นนายกฯ และรัฐบาลรู้ดีว่า ถึงโครงการรับจำนำข้าวจะรอดพ้นสันดอนศาลรัฐธรรมนูญมาได้
แต่ฝ่ายตรงข้ามที่ประกอบด้วย พรรคฝ่ายค้าน ส.ว. บางส่วน นักวิชาการบางกลุ่ม กรรมการองค์กรอิสระบางคน ก็ยังไม่หมดมุขเล่นเสียทีเดียว
โดยเฉพาะปัญหาทุจริตในโครงการ ที่ทั้งฝ่ายกองเชียร์และกองแช่งต่างมองตรงกันว่าเป็น "จุดอ่อน" ที่สุดของโครงการ ที่รัฐบาลต้องเข้มงวด ทั้งการป้องปรามและปราบปราม
ล่าสุดจากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันมติที่ประชุมพรรคฝ่ายค้านว่า พรรคฝ่ายค้านเตรียม "จัดหนัก" ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อให้ประธานสภาบรรจุวาระอภิปรายได้ราวกลางเดือน พ.ย.
ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าหัวข้อการอภิปรายจะมีเรื่องใดบ้าง หรือรัฐมนตรีคนใดจะเป็นผู้โชคดีร่วมกับนายกฯ ได้รับการใส่ชื่อไว้ในญัตติเชือด
แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน แทบจะแบเบอร์ได้เลยว่า โครงการรับจำนำข้าวจะถูกตั้งไว้เป็นหัวข้อหนึ่งในการอภิปราย เผลอๆ ยังจะเป็นหัวข้อหลักประจำศึกซักฟอกเสียด้วยซ้ำ ในประเด็นจำนำข้าว ยังมีจังหวะคั่นโฆษณาก่อนหนังฉายจริง
กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ว. จำนวน 81 คน ยื่นต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงโครงการรับจำนำข้าว ในวงเงินงบประมาณกว่า 4 แสนล้าน
กับอีกกลุ่มหนึ่ง นำโดยนายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็ได้นำรายชื่อ ส.ว. 62 คน ยื่นต่อประธานวุฒิสภาเช่นกัน ขอเปิดอภิปรายให้รัฐบาลชี้แจงใน 4 เรื่อง
นอกจากปมปัญหาการรับจำนำพืชผลการเกษตร ยังครอบคลุมถึงปัญหาไฟใต้ การบริหารจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การศึกษา การปรองดอง และ ยาเสพติด
แม้แต่กลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภา อย่างกลุ่มของ "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ประกาศระดมพลนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 28 ต.ค. นี้ ก็ยังโหนกระแสจำนำข้าว หยิบยกมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการขับไล่รัฐบาล เช่นกัน แต่จะ"จุดติด"หรือไม่ ยังน่าสงสัย
ในประเด็นโครงการรับจำนำข้าว หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของอาจารย์นิด้า รัฐบาลก็เริ่มตั้งหลักได้และหันกลับมาเปิดเกมรุกมากขึ้น ไม่ยอมเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายตรงข้ามพับสนามบุกอยู่ข้างเดียว
สังเกตได้ว่านายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการชี้แจงตัวเลขการซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี
ที่ว่ามีการทำสัญญาไปแล้ว 7.32 ล้านตัน จากปริมาณที่รัฐบาลลงนามบันทึกความเข้าใจกับหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย จีน โกตดิวัวร์ ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ
ทั้งยังได้ทยอยส่งมอบแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ในปริมาณ 1.46 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณการทำสัญญา และคาดว่าจะส่งมอบได้เพิ่มในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. อีก 3 แสนตัน ที่เหลือ 5.56 ล้านตันจะทยอยส่งมอบไปจนถึงปี 2556
ขณะที่ขุนพลฝ่ายบู๊ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ซึ่งได้รับดาบอาญาสิทธิ์จากนายกฯปู มาไล่ฟาดฟันขบวนการทุจริตจำนำข้าว ก็ออกมาเปิดเผยตัวเลขว่ามีการสอบสวนจับกุมดำเนินคดีทุจริตรับจำนำข้าวแล้วทั้งสิ้น 25 คดี มีผู้เสียหายเป็นเกษตรกร 760 คน ผู้ต้องหา 53 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท
แต่ที่ต้องจับตามากกว่านั้น คือเกมโต้กลับของรัฐบาลไม่ได้หยุดอยู่แค่เฉพาะเรื่องการจำนำข้าว แต่ยังเปิดเกมรุกเข้าใส่ฝ่ายตรงข้ามแบบ "จัดเต็ม"
ไม่ว่ากรณีคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับ 8 คดีสำคัญเป็นคดีพิเศษ โดยมีอยู่ 2 คดีที่เกี่ยวพันกับพรรคประชาธิปัตย์โดยตรงคือ
การต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส 30 ปี ให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม และคดีบริษัทอีสท์ วอเตอร์ บริจาคเงินช่วยน้ำท่วมผ่านบัญชีพรรคประชาธิปัตย์
ยังไม่นับกรณี "หนีทหาร" ที่ใกล้จุดไคลแม็กซ์เข้าไปทุกที จากที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม มีคำสั่งตั้ง 6 นายพลทหารมาเป็นคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการถอดยศและริบเงินเดือน
แต่ที่ยังเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่อง
คงหนีไม่พ้นคดี 98 ศพ จากเหตุการณ์สลายม็อบเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น ผอ.ศอฉ.
ตามที่ศาลอาญาชี้ว่าการตายของนายพัน คำกอง เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะนั้น
เป็นแค่การโหมโรง ฉากตื่นเต้นของจริง มีการส่งซิกมาแล้วว่าให้อดใจรอ "ลอยกระทง" ปีนี้ รัฐบาลมีของดีมาโชว์แน่นอน