"ปลัดฯ พาณิชย์" ย้อน "นิด้า" จำนำข้าวไม่ผิด รธน. และชาวนาถูกกดราคามาตลอด

GO6TV 2 ตุลาคม 2555 >>>




นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วยที่นักจากวิชาการจากสถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยื่นหนังสือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ระงับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะโครงการดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 84 (1) ที่ระบุว่ารัฐบาลต้องสนับสนุเศรษฐกิจอย่างเสรี และเป็นธรรมตามกลไกตลาด แต่ที่ผ่านมาระบบการค้าข้าวของไทยแม้จะเสรี แต่ไม่เป็นธรรม โดยชาวนาถูกกดราคารับซื้อ เนื่องจากตลาดข้าวเป็นของผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ขาย
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนา ถือเป็นการทำให้ระบบการค้าข้าวเกิดความเป็นธรรม จึงไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ในทางกลับกันโครงการรับจำนำข้าวกลับสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (8) ที่ระบุว่ารัฐต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกร เพราะโครงการรับจำนำข้าวได้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวนาไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ถูกกดราคาข้าวจากพ่อค้าคนกลางทั้งผู้ส่งออก และผู้ค้าข้าวในประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของความเหมาะสมของนโยบายจำนำข้าวในปัจจุบัน ต้องมองว่าคนกลุ่มใหญ่หรือคนกลุ่มน้อยได้ประโยชน์ หากคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นชาวนาที่มีมากถึง 15 ล้านคนไทยประโยชน์จากการรับจำนำข้าว นโยบายดังกล่าวก็ถือว่าเหมาะสม เพราะที่ผ่านนโยบายการแทรกแซงตลาดข้าวมีจุดอ่อนหลายจุด โดยนโยบายรับจำนำข้าวได้แก้ไขปัญหาตรงนี้ และบอกได้ว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมและถูกต้องเมื่อเทียบกับนโยบายการแทรกแซงราคาของรัฐบาลที่ผ่านๆมา
นางวัชรี กล่าวว่า หากดูในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ พบว่าโครงการรับจำนำข้าวสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำปีละ 2% และชาวนาที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระบบ 1.4 แสนล้านบาท คำนวณจากปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าโครงการรับจำนำ 16 ล้านตัน เทียบส่วนต่างระหว่างราคาจำนำและราคาตลาด ส่วนชาวนาที่ไม่ได้นำข้าวมาเข้าร่วมโครงการรรับจำนำยังได้ประโยชน์จากราคาข้าวในตลาดสูงขึ้นคิดเป็นมูลค่า 5.7-6 หมื่นล้านบาท คำนวณจากปริมาณข้าวในตลาด 15 ล้านตัน เทียบกับราคาตลาดปัจจุบันกับราคาตลาดก่อนที่มีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเงินเหล่ามากถึง 2 แสนล้านบาท ได้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และชาวนาระบุว่าหากดำเนินโครงการรับจำนไปอีก 2 ปี ชาวนาก็จะปลดหนี้สินได้ทั้งหมด ส่วนการระบายข้าวนั้น ยืนยันที่จะระบายอย่างต่อเนื่องออกมาให้มากและเร็วสุด แต่ส่งผลกระทบต่อระบบให้น้อยสุด
นอกจากนี้ หากเทียบกับโครงการประกันรายได้จะพบว่าราคาข้าวในตลาดช่วงที่มีโครงการรับจำนำสูงขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 1.1-1.2 หมื่นบาท ขณะที่ราคาข้าวในตลาดช่วงประกันรายได้ขายได้ 6,000-7,000 บาท พร้อมกันนี้ราคาส่งออกข้าวของไทยก็เพิ่มสูงขึ้น โดยห่างจากเวียดนามตันละ 200 เหรียญสหรัฐ เป็นอย่างต่ำ ถือว่าสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบข้าวไทย เพราะคุณภาพข้าวไทยดีกว่าเวียดนาม ส่วนเรื่องปริมาณส่งออกข้าวไทยปีนี้ลดลงหลังดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ไม่ใช่มาจากสาเหตุโครงการรับจำนำอย่างเดียว แต่เกิดจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น และมีการดัมพ์ราคาข้าวขายต่ำ เพื่อหวังชิงส่วนแบ่งตลาด
   “ตอนนี้กระทรวงอยู่ระหว่างเตรียมแผนเพื่อเร่งการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้าย ตามนโยบายของรมว.พาณิชย์ ซึ่งจะมีการหารือกับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กำหนดแนวทางและโปรโมชั่นที่จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกข้าว โดยเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้ว่าจะมีปริมาณ ขอทบทวนตัวเลขก่อน แต่ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะชาวนาระบุว่าหากดำเนินโครงการรับจำนไปอีก 2 ปี ชาวนาก็จะปลดหนี้สินได้ทั้งหมด ส่วนการระบายข้าวนั้น ยืนยันที่จะระบายอย่างต่อเนื่องออกมาให้มากและเร็วสุด แต่ส่งผลกระทบต่อระบบให้น้อยสุด” นางวัชรี กล่าว