สืบทอดเจตนารมณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ และภารกิจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด เปลวเทียน ส่องทาง

ประชาไท 31 ตุลาคม 2555 >>>


31 ตุลาคม 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อร่างประวัติศาสตร์ของสามัญชน ผู้คัดค้านอำนาจเผด็จการรัฐประหาร พิทักษ์ประชาธิปไตย
สำหรับคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย คงไม่มีใครลืมประวัติศาสตร์ของสามัญชนที่ชื่อ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ผู้คัดค้านอำนาจเผด็จการรัฐประหาร พิทักษ์ประชาธิปไตย
คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 นายนวมทองผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้
ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ ที่ว่า

ตื่นเถิดเสรีชน
อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน
หรือทนคลื่นกระแสเรา
แผ่นดินมีหินชาติ
ที่ดาดาษความโฉดเขลา
ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา
ประโยชน์เข้าเฉพาะตน

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 นายนวมทอง ซึ่งเป็นอดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และได้รับบาดเจ็บสาหัส
นวมทอง ไพรวัลย์ ได้สละชีพกระทำอัตวินิบาตรกรรม เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความหมายสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ความอัปยศอัปลักษณ์ของอำนาจรัฐประหาร
นวมทอง ไพรวัลย์ จึงเป็นสัญญลักษ์แห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ปรารถนาถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่มี ‘เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ’ ไม่ต่างไปจากความใฝ่ฝันของคณะราษฎร เมื่อปี 2475 แต่อย่างใดเลย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความขัดแย้ง ระหว่าง ‘ฝ่ายอำนาจอำมาตยาธิปไตย’ กับ ‘ฝ่ายพลังประชาธิปไตย’ ก็ยังไม่จบสิ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากปัญหารากเหง้าของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจาก ‘ระบอบอำมาตยาธิปไตย’ โดย ‘อำมาตยาธิปไตย’ และเพื่อ ‘อำมาตยาธิปไตย’
แม้ว่า ภายหลังจากการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลตามหลักการประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่จบสิ้น เนื่องด้วยมีการเคลื่อนไหวของ ‘ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย’ เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน รวมทั้งรัฐบาลพลเรือนก็ยังไม่สามารถควบคุมกองทัพได้โดยตรงเนื่องจากมี พรบ.กลาโหม เป็นอุปสรรคขัดขวาง
ขณะเดียวกัน ‘คณะนิติราษฎร์’ ได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขผลพวงของการรัฐประหาร ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ต้องแก้ไขมาตรา 112 เพื่อสอดคล้องกับหลักการความยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยดั่งอารยะประเทศ ซึ่งรวมทั้ง พรบ.คอมพิวเตอร์ ที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย เพื่อมิให้เกิดกรณีเช่น ‘อากง’  ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ และอีกหลายคน  จึงต้องยึดหลักนิติรัฐคู่กับนิติธรรม มิใช่ปล่อยให้บุคคลใดฟ้องร้องกล่าวโทษก็ได้ ควรกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสิทธิ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยุคโลกาภิวัฒน์มิใช่ ยุคป่าเถื่อนอีกแล้ว  รวมทั้งเพื่อมิให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายผู้รักชาติรัก ประชาธิปไตยเหมือนเช่นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา    ตลอดทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป
ดังนั้น ภารกิจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนยังไม่เสร็จสิ้น ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้
1. ปล่อยผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุมคุมขังทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข และ ต้องให้สิทธิประกันผู้ต้องขัง ตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่กระบวนการยุติธรรมพึงมีดั่งอารยะประเทศ เช่น กรณี ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ และอีกหลายคนทั้งหมด เพราะพวกเขามิใช่อาชญากร เพียงแต่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และพวกเขาถูกใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง
2. นำคนสั่งฆ่าสังหารประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 53 มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคมและเพื่อมิให้ ‘ฆาตรกรลอยนวล’ เหมือนเช่นที่ผ่านมาตลอดอีกทั้งเพื่อทำ ‘ความจริง’ให้ปรากฎ มิใช่ ‘ปรองดอง’ อย่างไร้ความยุติธรรม
3. รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องแก้ไข พรบ.กลาโหม และดำเนินการปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตยสอดรับกับยุคสมัยสันติภาพเพื่อนไร้พรมแดน พร้อมกับลดงบประมาณให้เหมาะสม
4. ขอสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ รวม ทั้งข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหารากเหง้าทั้งมวลของปัญหาการเมืองไทยที่ไม่เป็น ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภาระกิจที่รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนินกระบวนการต่างๆตามกลไกรัฐสภา ให้บรรลุเป็นรูปธรรม
5. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550  โดย มีหลักการสำคัญของ ‘ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา’ ‘อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน’ ‘เคารพสิทธิเสรีภาพและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ คือรูปธรรมต้องลดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยเฉพาะอำนาจขององคมนตรี กองทัพและกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมและสร้างเงื่อนไขให้สถาบันพรรคการเมืองพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสิทธิพื้นฐานของสถาบันต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน องค์กรเกษตรกรและอื่นๆด้วยเช่นกัน
6. ขอเรียกร้องให้ฝ่ายนิยมอำมาตยาธิปไตย ยอมรับกติกาประชาธิปไตย ตามหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง คนเท่ากัน เสียงส่วนน้อยต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยตามหลักอารยะประเทศประชาธิปไตย ก่อนที่ความขัดแย้ง ความเกลียดชังจะนำไปสู่ความล่มสลายของสังคมไทยอย่างที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น