"โอ๊ค" เปลี่ยนแนว อธิบาย "ประกันราคาข้าว-จำนำข้าว" ปล่อย ปชช. ตัดสินนโยบายใครดีกว่าก็เลือกตั้งพรรคนั้น

มติชน 4 ตุลาคม 2555 >>>




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร  บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Oak Panthongtae Shinawatra อธิบายถึงความแตกต่าง ข้อดี-ข้อเสีย ระหว่างการรับจำนำข้าว ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยขณะนี้ และการประกันราคาข้าว ซึ่งเป็นแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้การรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องของการใช้งบประมาณ ที่อาจมีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งที่ช่วยให้ชาวนาได้เงินเยอะขึ้นและได้ทันที รวมถึงรัฐขาดทุนเท่าเดิม แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อครั้งสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นมากมายในโครงการประกันราคาข้าว ทำให้2 ปีที่ผ่านมา รัฐจ่ายเงินค่าประกันชดเชยไปร่วมแสนล้านบาท และชาวนาก็ได้เงินน้อย
อย่างไรก็ตาม นายพานทองแท้ได้ขอร้องอย่าเพิ่งโจมตีนโยบายทั้งสองนโยบายดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่ได้มีการทุจริตเกิดขึ้น เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวิถีทาง ดังนั้นจึงอยากให้มาช่วยหาวิธีการป้องกันจะดีกว่า และหากประชาชนเห็นว่า วิธีประกันราคาข้าวดีกว่า ครั้งหน้าก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์ หากเห็นว่า การจำนำข้าวดีกว่า ก็ให้เลือกพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจง่ายขึ้น ทั้งนี้เนื้อหาที่นายพานทองแท้ อธิบายถึง มีใจความดังนี้
การรับจำนำ กับการประกันราคาข้าว ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง 2 แนวทางครับ แน่นอนว่าทั้ง 2 แนวทาง ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ผมอธิบายสั้นๆให้เข้าใจง่ายๆดังนี้ครับ
การประกันราคาข้าว เป็นแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ วิธีการเช่นรัฐประกันราคาข้าวไว้ที่ 1 หมื่นบาท ราคาจริงก็ตามที่โรงสีรับซื้อ อาจจะ 7-8 พันบาท ส่วนต่าง 2-3 พันบาทรัฐจ่ายชดเชยให้ชาวนา โดยที่รัฐไม่ได้เห็นหรือพิสูจน์ทราบว่าข้าวดังกล่าวมีจริงหรือไม่ แต่จะใช้วิธีประเมินตามจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวที่ชาวนาแจ้งไว้ว่ามีจำนวนกี่ไร่เท่านั้น ซึ่งสามารถทำการทุจริตได้ง่าย โดยการแจ้งพื้นที่เพาะปลูกเกินความเป็นจริง โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ได้นำเงินภาษีไปจ่ายชดเชยให้กับการประกันราคาแล้วร่วมแสนล้านบาท
การรับจำนำข้าว เป็นแนวทางของพรรคเพื่อไทยครับ รัฐจะรับจำนำข้าวไว้ที่ราคา 15,000 บาท แทนที่ชาวนาจะไปขายที่โรงสี 7-8 พันบาท ก็จะนำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลเพราะได้เงินมากกว่า และรัฐบาลก็สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าข้าวดังกล่าวนั้นมีจริงหรือไม่ การทุจริตทำได้ยากกว่าเพราะต้องนำข้าวจริงๆมาจำนำ ไม่สามารถแจ้งพื้นที่เพาะปลูกเกินจริงได้ การตั้งวงเงินงบประมาณย่อมสูงกว่าการประกันราคา เพราะรัฐต้องจ่ายเงินทั้งหมดไปก่อน แต่เมื่อรัฐบาลขายข้าวออกไปได้ก็จะได้เงินกลับคืน โดยอาจมีกำไรหรือขาดทุน ตามราคาข้าวในตลาดโลก
ผมมีวิธีการนำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นและเข้าใจได้ โดยใครที่ชอบดูรูปภาพและคำอธิบายเปรียบเทียบ ก็ดูในเวปไซต์ไทยรัฐตามนี้ครับ

http://www.thairath.co.th/page/price_guarantee

ส่วนใครที่ชอบดูเป็นคลิปวีดีโอก็ตามนี้ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=5JYuIT0ybRc

ขณะนี้ฝ่ายค้านกำลังโจมตีว่ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ในการรับจำนำ แต่ไม่ได้บอกว่าเงินจำนวนนี้จะได้คืนตามราคาข้าวที่ขายได้ ถ้าตั้งสมมุติฐานว่าเดิมการประกันราคาที่1หมื่นบาททำให้รัฐต้องขาดทุนปีละประมาณ 5 หมื่นล้าน หากการจำนำซึ่งอาจต้องใช้วงเงินนับแสนล้าน แต่เมื่อขายข้าวออกไปแล้ว ถ้าขาดทุน 5 หมื่นล้านเท่าเดิม เท่ากับว่าภาครัฐขาดทุนเท่าเดิม แต่ชาวนาหลายล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ได้เงินทันทีและมากกว่าสมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลถึงตันละ 5,000 บาท
แต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป โดยมีพื้นฐานในการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติที่ต้อง "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" ปลูกข้าวให้พวกเรากิน เราอย่าพึ่งมาโจมตีกันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ จะต้องไม่ดีมีการทุจริตเลยครับ ถ้าจะทุจริตมันทำได้ทุกวิธีแหละ มาหาทางช่วยกันป้องกันดีกว่า ส่วนวิธีไหนดีกว่ากันให้ประชาชนช่วยตัดสินแบบง่ายๆครับ
ใครชอบประกันราคาข้าว เลือกตั้งคราวหน้า เลือกประชาธิปัตย์ ใครชอบจำนำข้าว เลือกตั้งคราวหน้า เลือกพรรคเพื่อไทย แบบนี้ดีกว่า พี่น้องประชาชน ตัดสินใจง่ายครับ"