เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงปัญหาของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีนักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายค้านออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงบทความของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกฯ ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 15 สิงหาคม 2554 ที่เขียนคัดค้านมาตรการนี้เอาไว้ก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นับเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ออกมาชี้แจงและยืนยันมาตรการนี้ต่อสื่อมวลชน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
คงต้องเรียนเหมือนเดิมว่านโยบายรับจำนำข้าว เราต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกร เป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับโดยตรงจากนโยบายรับจำนำข้าว นั่นคือวัตถุประสงค์ใหญ่ อีกทั้งเมื่อมีการจำนำข้าวรายได้เกษตรกรสูงขึ้น ก็จะกลับมาสะท้อนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เดิมทีราคาข้าวที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าราคาข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพ
การรับจำนำในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดจะทำให้เกิดปัญหาในการระบายข้าวหรือไม่
ต้องเรียนว่าการระบายในประเทศอาจจะไม่ได้ราคาสูงมาก เราจึงใช้วิธีการระบายไปยังต่างประเทศ โดยการขายแบบจีทูจี (รัฐต่อรัฐ) ในราคาที่เหมาะสมกับราคาตลาดมากกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูปริมาณในประเทศด้วย เพราะบางครั้งการที่เราบอกว่าระบายที่ไหน
1. ดูจากฐานราคาที่ดีที่สุด เพื่อที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลต้องการกำไร
2. การระบาย ถ้าเกิดเราระบายแล้วปริมาณการบริโภคในประเทศไม่ได้มากอย่างนั้น เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าทั้งประเทศบริโภคข้าวต่อปีเท่าไร
ดังนั้น ผลผลิตที่เหลือก็แน่นอน ถ้าข้าวเหลือจะทำให้เกิดความเสียหาย ราคาก็ตก อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามจะสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณอุปสงค์และอุปทาน แล้วรวมถึงราคา ช่วงนี้เป็นช่วงของรอยต่อ แน่นอนอาจจะมีผลกระทบบ้าง ได้ให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นัดประชุมกับผู้ส่งออกข้าว เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขต่อไป เรียนว่าเป็นข้อห่วงใยต่างๆ ที่หลายหน่วยงานให้ความคิดเห็น ทุกอย่างที่เริ่มต้นมันก็ต้องมีปัญหาอุปสรรคบ้าง เราพยายามเก็บข้อมูลต่างๆ ไปแก้ไข การตรวจสอบก็ทำในเชิงรับเชิงรุกทุกอย่าง ขอเวลาในการที่จะค่อยๆ ทำงานไป
นายวีรพงษ์ระบุว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่เกษตรกร แต่จะเป็นนักการเมืองและเจ้าของโรงสี
อันนี้ต้องดูและต้องไปถามคำถามกับเกษตรกรโดยตรงว่าวันนี้การรับจำนำข้าวคลอ บคลุมจำนวนเกษตรกรทั้งหมดเท่าไร พืชไร่เท่าไร อันนี้เป็นเรื่องหลักมากกว่า ส่วนโรงสีนั้นเป็นกลไกที่จะทำงาน เขาก็จะได้ในเรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ถ้าเป็นส่วนอื่นก็ต้องตรวจสอบ ยืนยันว่าด้วยนโยบายเราต้องการให้ประโยชน์ส่งถึงเกษตรกรหรือชาวนาโดยตรงอยู่ แล้ว
นายวีรพงษ์เกรงว่าจะทำให้รัฐบาลพังเพราะการตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทำได้ลำบาก
จริงๆ นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีมาแล้ว ได้รับการตอบรับจากประชาชนอยู่แล้ว ส่วนแรกเราต้องได้รับความร่วมมือจากการทำงานร่วมกัน อยากให้สื่อมวลชนไปถามในพื้นที่ ลงไปถามเกษตรกร ว่าโครงการนี้เกษตรกรมีความต้องการอย่างไร และได้รับประโยชน์อย่างไร อยากขอให้ถามให้ครบทุกกลุ่มด้วย
รู้สึกโกรธนายวีรพงษ์หรือไม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นดังกล่าว
ไม่โกรธหรอกค่ะ เพราะว่าทุกคนมีสิทธิห่วงใยได้ เราเองก็ต้องชี้แจง มีหน้าที่ชี้แจง เราถือว่าทุกท่านมีความห่วงใย เราก็ต้องอธิบายแล้วก็ลงไปดู ดิฉันพร้อมน้อมรับและรับฟัง แต่เราเองก็มีกลไกในการตรวจสอบ
ข้าวที่ส่งออกไปมีส่งออกไปยังประเทศใดบ้าง
เมื่อมีการระบายเสร็จแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะแถลงเอง เบื้องต้นเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาต่างๆ จะมีขั้นตอนการให้ข้อมูลเป็นลำดับอยู่แล้ว
ฝ่ายค้านระบุว่าตัวเลขการส่งออกกับข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกัน และไม่มีการส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ขายในประเทศไทย
รายได้ของการส่งออกบางส่วนเป็นการขายภายใต้จีทูจี จะมีการทยอยส่งมอบ จะโชว์ตัวเลขเมื่อมีการส่งมอบจริง จำนวน 7 ล้านตัน ที่ขายได้คือจำนวนตัวเลขที่มีการตกลงแล้ว มีสัญญาแล้ว แต่การส่งมอบไม่ได้ส่งทั้งหมด 7 ล้านตัน จึงมีการทยอยส่ง ถามว่าจะเห็นตัวเลขได้จากไหนก็จะเห็นได้จากตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์จ่ายเงิน กลับคืนเข้าคลังงบประมาณ จึงจะจ่ายเป็นรอบเข้าไป ดังนั้น วิธีการเลยไม่เห็นเหมือนปีที่ผ่านมา ปีที่ผ่านมาถ้าขายในประเทศเมื่อขายเสร็จแล้วระบายก็รับรู้ตัวเลขเลย วันนี้มีการขาย มีการส่งออก มีการส่งมอบ ก็ต้องไปดูตัวเลขส่งมอบที่จะมาจากตัวเลขของการส่งออก
เบื้องต้นประมาณได้หรือไม่ว่าจะมีการขาดทุนหรือกำไรจำนวนเท่าไร
(นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ตอบแทน) การทำโครงการจะจบปีหน้า หลังจากที่เราระบายครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ตัวเลขที่เราจะต้องรับภาระในส่วนของรัฐบาลก็ยังยืนยันว่ายังไงก็ไม่มากไป กว่าโครงการที่ทำในปีที่ผ่านมา
มีการมองว่าจะเป็นการทำลายโครงสร้างข้าวภายในประเทศ
ต้องกลับไปดูว่าโครงสร้างที่ผ่านมาสะท้อนราคาข้าวหรือไม่ วันนี้เราเห็นว่าข้าวเราคุณภาพดี แต่ราคาที่เราขายได้เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านราคาเราไม่ได้สูงขึ้น นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะให้ข้าวของเรากลับไปสู่ราคาที่เหมาะสมและสะท้อน ความเป็นจริงด้วย
บุญทรง เตริยาภิรมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
มีการหยิบยกเรื่องที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อปีที่แล้ว มาขยายความทำนอง รัฐบาลจะพังเพราะโครงการรับจำนำข้าวแน่ เพราะใช้เงินมาก
ประเด็นของอาจารย์โกร่งทางเรายินดีรับฟัง สิ่งที่เราดำเนินการคือให้เกษตรกรชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว เกรงว่าในส่วนที่เรารับจำนำมาทั้งหมด แล้วก็ใช้เงินไป รัฐบาลก็นำข้าวไปขาย ในกรณีที่เกษตรกรไม่มีเงินมาไถ่ถอนแล้ว เราก็ดำเนินการขายมาตลอด ขณะนี้ปริมาณที่เราขาย ขายในระบบจีทูจี ได้ตั้งล้านกว่าตัน แล้วเราก็มีการรับจำนำเพิ่ม
ในมือรัฐบาลที่มีสต๊อกข้าวอยู่ได้ระบาย มาตลอด ในระบจีทูจี เราก็ขายไปได้ตั้ง 7 ล้านกว่าตันแล้ว จากที่ส่งมอบแล้ว เราก็เก็บเงินผู้ซื้อมา การที่เรานำเงินที่ขายได้มาก็จะส่งคืนกระทรวงการคลังเพื่อที่จะเอาไว้ใช้ หมุน แล้วก็ในส่วนนี้มันเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล เป็นภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางอย่าง เหมือนกับช่วยเหลือค่าครองชีพทั่วๆ ไป เช่น โครงการรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี
ผมยืนยันว่ารายจ่ายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่สูงไปกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลก่อนหน้าใช้ในโครงการประกันรายได้ แต่ละปีที่ใช้เงินในโครงการประกันรายได้เป็นเงินสูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยกระทรวงพาณิชย์ ที่รับผิดชอบโครงการจำนำข้าวก็มีการตรวจสอบดูเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องรับภาระ มั่นใจว่ารัฐบาลคงจะรับภาระไม่มากไปกว่า 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันเม็ดเงินที่รับภาระเท่ากันหรือว่าน้อยกว่าทำให้โครงการรับจำนำมี เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่าโครงการประกันรายได้ เม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เกษตรกร ชาวนาเป็นเงินตั้ง 300,000 กว่าล้านบาท ในรอบปีที่ผ่านมา แล้วชาวนาก็ขายผลผลิตของตัวเองได้ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ข้าวในตลาดก็มีราคาดีขึ้น แล้วเรายังดันราคาเฉลี่ยของข้าวทุกๆ ชนิด ที่ส่งออกไปต่างประเทศให้สูงขึ้นได้มากกว่าปีที่ผ่านมา
ตัวเลขตรงนั้นคือวงเงินรวม เช่น 300,000-400,000 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วก็มีเงินที่ได้จากการระบายข้าวมาหมุนเวียนเข้าออก?
คือการขายข้าวได้แล้วนำเงินมาใช้ใหม่ในปีถัดไป อย่างในปี 2554/2555 ใช้เงินไป 300,000 กว่าล้านบาท ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง เงิน 300,000 กว่าล้านบาท ไม่ได้เป็นเงินค่าใช้จ่ายสูญเปล่า เราใช้ออกไปแล้วยังมีข้าวกลับมาอยู่ในมือของรัฐบาล ข้าวเหล่านั้นก็นำไปขาย ก็ได้เงินกลับคืนมา เป็นการหมุนเวียนเงินที่ใช้อยู่ ดังนั้น ในรอบปีนี้ ในฤดูการปลูกปี 2555/2556 ยอดรวมปริมาณข้าวเปลือกที่เราคาดไว้โดยกระทรวงเกษตรฯ โดย ธ.ก.ส. ว่า จะมีข้าวเข้ามาในโครงการรับจำนำประมาณ 25 ล้านตัน จาก 25 ล้านตัน น่าจะใช้เงิน 405,000 ล้านบาท แต่จะไม่ใช่เงินใหม่ทั้งหมด เงินที่เราขายข้าวได้ก็จะนำไปหมุนเวียน ดังนั้น ยอดสูงสุดจะใช้ในช่วงของเดือนธันวาคม-มกราคม เราจะใช้เงินประมาณ 240,000 ล้านบาท
ในช่วงเงิน 240,000 ล้านบาท เราน่ามีเงินหมุนเวียนให้กระทรวงการคลังในปลายปีนี้ประมาณ 85,000 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2556 ประมาณ 40,000 ล้านบาท น่ามีเงินคืนสักประมาณ 120,000 ล้านบาท ดังนั้น คำนวณดูแล้วจำเป็นต้องให้กระทรวงการคลัง
ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 150,000 ล้านบาท ในรอบปีหน้าเงิน 405,000 ล้านบาท คือเราจะใช้ใหม่แค่ประมาณ 150,000 ล้านบาท เท่านั้น
คนตกใจตัวเลขรวมๆ ว่าต่อไปอาจสะสมพอกไปเรื่อยๆ
ถ้าสมมุติว่าเราไม่ขายข้าวเลยสักเม็ดเดียว แล้วเอาข้าวไปเททิ้งทะเล เราก็จะเสียหายในมูลค่าเต็มประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาท ความเป็นจริงรัฐบาลมีการระบายข้าวอยู่เสมอๆ ผ่านระบบจีทูจี ผ่านวิธีการประมูลให้กับพ่อค้าเอกชนทั่วไป อีกทั้งเราระบายผ่านหน่วยงานของรัฐที่มาขอซื้อข้าวจากรัฐบาล ไปใช้ในเหตุผลต่างๆ เช่น นำใช้ช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติ เอาไปจำหน่ายให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการระบายออกทุกช่องทาง ประมาณ 8,000,000 ตัน
เรื่องการตกจากการเป็นแชมป์ส่งออกข้าว เราถือว่าเป็นสาระสำคัญหรือไม่ อย่างไร ?
สำหรับรัฐบาลนี้เป็นความสำคัญระดับรองๆ ลงไป ถ้าเราจะเป็นแชมป์ แล้วขายได้ในราคาต่ำกว่า คงต้องเรียกว่าเป็นแชมป์ราคาถูก เราต้องการให้ชาวนาขายข้าวในราคามากขึ้นให้เหมาะสมกับคุณภาพของข้าวไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าข้าวไทยดีที่สุด
นายวีรพงษ์ มองว่าตรงนี้เป็นการปั่นราคามากกว่า ?
ข้าวที่ผลิตได้จากเมืองไทยมีคุณภาพหลากหลาย ข้าวที่ดีที่สุดคือข้าวหอมมะลิชั้น 1 เรามีการจัดระดับมาตรฐานขึ้นมาใหม่เพิ่มเติม จากเดิมขายข้าวหอมมะลิ เป็นข้าว 92% เราก็อาจจัดมาตรฐานเพิ่มเติมหรืออาจจะเป็นข้าว 95% หรือ 98% จะทำให้มีตลาดที่ต่างกันขึ้นมาอีก ส่วนข้าวขาวมีหลายเกรด เรามีทั้งข้าวถูกและข้าวแพง ข้าวแพงก็ควรขายในราคาที่แพง อย่างข้าวขาว 5% หรือว่าข้าวขาว 100% ของประเทศไทยควรขายได้ในราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นที่มีการส่งออก เพราะเรามีคุณภาพดี
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ควบคุมการคอร์รัปชั่นโครงการนี้ได้ยาก
รัฐบาลได้ทำโครงการนี้ และนายกฯ สั่งการคณะรัฐมนตรีให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เรื่องเปิดช่องว่างให้มีการคอร์รัปชั่น เรามีการตรวจสอบ ตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการประจำจุดรับจำนำและมีการเพิ่มเติมในเรื่อง ของกล้องวงจรปิด อีกทั้งนายกฯ สั่งการให้ใช้ระบบไอทีและระบบดาวเทียมมาตรวจสอบพื้นที่การปลูกข้าว คำนวณปริมาณข้าวให้ชัดเจน และจะเอาข้อมูลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือตัวปลอม
เสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกประการหนึ่งคือ ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับผู้ส่งออกกับโรงสี ถ้าเผื่อว่าผู้ส่งออกหรือโรงสีที่จะมีรายได้ในการรับจำนำข้าว จะมีในแง่ไหน และมีรายได้พิเศษอะไรหรือไม่
ส่วนของโรงสี เมื่อสมัครเข้ามาร่วมมีหน้าที่รับข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วเอามาสีแปรสภาพเป็น ข้าวสาร และส่งให้กับรัฐบาล โรงสีจะได้ค่าดำเนินการ ค่าสีแปรสภาพ และค่าส่งเท่านั้น ไม่มีสิทธิไปเรียกร้องค่าอื่นๆ จากชาวนา ถ้าเกิดเรียกร้องขึ้นมาเราก็จะดำเนินคดีอาญา
นอกจากจะมีข้อดีที่ยกตัวอย่างมาแล้ว มีช่องโหว่ตรงไหนบ้างที่จะต้องแก้ไขกันต่อไปกับโครงการรับจำนำข้าว ?
ที่ปรากฏให้เห็นมา เรื่องของโรงสีไปโกงชาวนา อาจจะมีการโกงตาชั่ง หรือกดดันโดยอ้างว่าขณะนี้ไม่มีสถานที่เพียงพอที่จะเก็บข้าว ชาวนาก็ไม่อยากรอ เลยโดนบีบให้ขายโดยไม่เข้าโครงการ ตรงนี้เราได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งมีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกจุดรับจำนำจะมีตำรวจประจำอยู่อย่างน้อย 1 นาย ส่วนการแอบอ้างเอาข้าวจากที่อื่นมาสวมสิทธิ ได้ออกระเบียบไม่ให้เคลื่อนย้ายข้าวข้ามเขต และการโกงใบประทวน ออกใบประทวนปลอม เราได้ออกแบบใบประทวนกันใหม่ ง่ายต่อการตรวจสอบ
กลุ่มชาวนาบอกว่าอยากได้อีกสัก 2 ปี เพื่อที่จะให้ลืมตาอ้าปากได้ ?
ผมคิดว่าอีก 2 ปี ชาวนาลืมตาอ้าปากได้แน่นอน ในความหมายก็คือในปีนี้จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม เมื่อจบสิ้นแล้วก็อาจจะต่ออีกปีหนึ่ง หลังจากนั้นเมื่อชาวนาสามารถจัดการกับหนี้สินได้แล้ว เข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นระบบ ในระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องไปช่วยชาวนา แต่ว่าสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการประเมินโครงการนี้อีกครั้ง