เป็นอันว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ซึ่งรัฐสภาได้พิจารณาจบวาระสอง และรอการพิจารณาลงมติในวาระสาม รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยกคำร้องและถอนคำสั่งที่ให้รัฐสภาชะลอการลง มติวาระสามไว้ก่อน ก็ได้ถูกแขวนไว้เพื่อรอการพิจารณาของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะได้ข้อยุติว่าจะให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติในวาระ สามต่อไปหรือไม่ และเมื่อไร หรือจะปล่อยให้ค้างเติ้ง คาระเบียบวาระไว้อย่างนั้นจนกว่าจะปิดสมัยประชุม แล้วก็แขวนต่อไปเรื่อยๆ แบบเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ คปพร.ถูกดองไว้ในระเบียบวาระเรื่องด่วนลำดับที่ 1 เป็นเวลากว่าสองปี ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้ประชาชนทั้งประเทศรอการพิจารณาของคณะทำงานและการตัดสินใจของคณะ รัฐมนตรีและรัฐสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไปอย่างนี้เรื่อยๆ โดยมองไม่เห็นฝั่งเห็นฝาเสียที ก็คงจะไม่ได้เพราะเท่าที่ดูการเคลื่อนไหวของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็น ข่าวออกมาแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ดี การตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานก็ดี หรือแม้แต่ล่าสุดที่ให้เชิญนักวิชาการและองค์กรที่เคยเกี่ยวข้องกับการแก้ไข รัฐธรรมนูญมาให้คำแนะนำแก่คณะทำงานก็ดี ทั้งหมดล้วนเป็น "มุขเก่าๆ" ที่ทำกันมาแบบซ้ำๆ ซากๆ หลายครั้งหลายหนในอดีต ก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกฉีกทิ้งด้วยซ้ำไป
ว่าไปแล้ว มันก็เหมือนย้อนไปซ้ำรอยกับความคิดและกระบวนการที่เคยเกิดขึ้น ในตอนปลายสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เชิญอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมาให้คำปรึกษา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ของสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รัฐธรรมนูญของรัฐสภา ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งทั้งหมดที่ไล่เรียงมานี้ ล้วนแล้วแต่เงียบหายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปทุกครั้ง
จนกระทั่งเกิด เหตุการณ์ปราบปรามและสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 98 ศพ บาดเจ็บ 2,000 คน และถูกจับกุมคุมขังอีกหลายร้อยคนหลังจากนั้น จึงได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังและร้อนแรงขึ้น เป็นลำดับ และเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยจึงได้ประกาศนโยบายให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทุกเวทีที่เปิดการปราศรัยของพรรค
และหลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายถึง 265 เสียง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเสียงถึง 300 เสียง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะดำเนินการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วจะนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยในการแถลงนโยบายดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี
จนในที่สุดคณะ รัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและเมื่อผ่านการรับหลักการวาระแรกแล้ว ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา กว่าจะเสร็จก็เป็นแรมเดือน
เมื่อเสร็จแล้ว ส่งให้รัฐสภาพิจารณาในวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรา ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีเพียงสิบกว่ามาตรา เท่านั้น แต่ใช้เวลาอภิปรายในการสงวนคำแปรญัตติของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และการสงวนความเห็นของกรรมาธิการฝ่ายเสียงข้างน้อย เป็นแรมเดือนเช่นกัน แต่ก็จบวาระสองไปจนได้
แต่แล้วเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น โดยที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว.สรรหา และตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐสภาที่พิจารณาจนจบวาระสองและรอการพิจารณาในวาระสามอยู่นั้น เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็รับวินิจฉัยแบบไม่เห็นรัฐธรรมนูญอยู่ในสายตา เพราะไม่ได้ผ่านอัยการสูงสุด พร้อมกับสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระสามไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งเท่ากับเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการทำงานและการใช้อำนาจของฝ่าย นิติบัญญัติโดยตรง แต่รัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานรัฐสภาซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยดี แบบไม่รักษาศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของชาติเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง แต่ได้แถมข้อเสนอแนะเล็กน้อยพอเป็นพิธี ซึ่งทำให้ฉงนสนเท่ห์กันไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน แต่ถึงกระนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังรัฐสภาในที่สุดว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ถอนคำสั่งที่ให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระสามไว้ก่อน ความหมายก็คือ รัฐสภาสามารถเดินหน้าลงมติวาระสามได้เลย ถือเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะตัดสินใจเอง จะมาอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญหน่วงเหนี่ยวไม่ได้อีกต่อไป
แต่ก็แปลก แทนที่คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาจะดีใจ เพราะสามารถเดินหน้าทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาอย่างราบรื่น พูดง่ายๆ คือ อีกคืบเดียวก็จะถึงฝั่งแล้ว แต่ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยกลับมีมติให้ชะลอการลงมติวาระสามต่อไปอย่างไม่มี กำหนด พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อยืดเวลาการตัดสินใจที่กระทบต่อผล ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปอีก โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ข้อยุติ และโดยไม่สนใจว่าประชาชนที่เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ก่อนที่รัฐ ธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ และพากันไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง จนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายจะรู้สึกอย่างไร
ราวกับจะส่งสัญญาณว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญรอไว้ก่อนก็ได้ ขอให้รัฐบาลอยู่รอดไปนานๆ ก็พอแล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ?
การตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและยืดเวลาออกไป เหมือนกับการทำซ้ำหลายๆ ครั้งของรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยการให้ชะลอการลงมติวาระสามออกไปเรื่อยๆ นั้นนอกจากจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้ว ยังเป็นการสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไปแล้วอีกด้วย
ที่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็คือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ผ่านการพิจารณาวาระสองแล้วให้รอไว้สิบห้าวัน หลังจากบ้านก็ต้องลงมติในวาระสาม นี่ก็ครบสิบห้าวันมาหลายเดือนแล้ว ยังไม่เห็นว่ารัฐสภาจะทำอะไรสักอย่าง
ที่สำคัญกว่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องตามมาตรา 68 และสั่งถอนคำสั่งที่ให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระสามไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยไปแล้ว แล้วยังจะมีเหตุผลอะไรอีกที่ทำให้รัฐสภาไม่สามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่าง ใดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่กล่าวไปแล้ว ?