ศาลนัดชี้อีกศพแดง

มติชน 25 ตุลาคม 2555 >>>



26 พ.ย. ฟังคำสั่ง คดีชาญณรงค์


ศาลไต่สวนจบแล้ว คดีชันสูตรศพ "ชาญณรงค์" ก่อการร้ายหนังสติ๊ก เหยื่อปืน พ.ค. 53 "เทือก" เบิกความนัดสุดท้าย อ้างสลายม็อบตามหลักสากล ยังยันมีกองกำลังในกลุ่มผู้ชุมนุมใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง ด้าน "ณัฐวุฒิ" ให้การย้ำไม่มีอาวุธ "ศอฉ." ไม่ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง ส่ง ฮ. โปรยแก๊สน้ำตา สลายม็อบกลางคืน ใช้สไนเปอร์ซุ่มยิงบนตึกสูง ไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน ศาลนัด 26 พ.ย. ฟังคำสั่ง อีกคดี "ลุงบุญมี" บ่อนไก่ พยานยันกลางศาล ชี้วิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ส่วนจุดเจ้าหน้าที่ประจำการ กลับไม่พบวิถีกระสุนจากฝั่งม็อบ 

ไต่สวน "ชาญณรงค์" นัดสุดท้าย

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ศาลอาญา ศาลนัดไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 และในวันนี้เป็นการไต่สวนนัดสุดท้ายโดยทนายความญาติผู้ตายนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำผู้ชุมนุมในขณะนั้น
นายสุเทพเบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อระงับการก่อการร้ายใน กทม. เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มนปช. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น จึงตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยแต่งตั้งพยานเป็น ผอ.ศอฉ. และมีคำสั่งให้เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานและหัวหน้าผู้รับผิดชอบ จากนั้นออกคำสั่งเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล ได้แก่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางที่ยิงจากปืนลูกซอง พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

"เทือก" ยันมีกองกำลังในม็อบ

จากนั้นทนายความญาติผู้ตายนำเอกสารที่เกี่ยวกับมาตรฐานการสลายการชุมนุม ตามที่สหประชาชาติกำหนดให้พยานดูว่าได้ปฏิบัติตามนี้หรือไม่ พยานเบิกความว่า เป็นเอกสารที่อัยการสูงสุดเสนอต่อนายกฯ พร้อมมีรายละเอียดการปฏิบัติว่ามีกรณีใดบ้างที่ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้อาวุธ ก็ให้สลายการชุมนุมได้ ส่วนรายละเอียดที่พยานออกคำสั่งนั้น แตกต่างจากเอกสารดังกล่าว แต่ได้ระบุถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน
พยานเบิกความต่อว่า ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 2553 รัฐบาลขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุม เพื่อเปิดช่องทางการจราจรบริเวณถนนราชดำเนิน สะพานพระราม 8 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสลายการชุมนุม หรือให้ประชาชนยกเลิกการชุมนุมแต่อย่างใด ในขณะนั้นทราบว่ามีผู้บาดเจ็บประมาณ 800 คน เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 5 คน และประชาชนเสียชีวิต 5 คน การปฏิบัติการในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล และในการปฏิบัติการตอนกลางวัน ก็ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต กระทั่งในช่วงค่ำมีกองกำลังของผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 อาก้า ระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก 

อนุญาตให้ใช้กระสุนจริง

นายสุเทพเบิกความว่า หลังเกิดเหตุในเวลาประมาณ 21.00 น. จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและประชาชนได้ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และระบุผู้ปฏิบัติการไว้ด้วย ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2553 เป็นต้นมา ศอฉ. จึงเปลี่ยนแผนดำเนินการใหม่ กำหนดแนวทางไว้ว่าจะไม่ไปประชิดตัวกับผู้ชุมนุมต่อไป และตั้งด่านตรวจสกัดถาวร 4 จุด ประกอบด้วย แยกปทุมวัน เพลินจิต พระราม 4 และราชปรารภ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอยู่ในจุดสูงโปร่ง เพื่อป้องกันการใช้อาวุธที่ยิงแบบวิถีโค้งลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ และอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงชนิดลูกปรายที่ใช้กับปืนลูกซอง เพื่อระงับและป้องกันผู้ก่อการร้าย โดยใช้กำลังพลจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ มี พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็น ผบ.พล.1 รอ.
อดีต ผอ.ศอฉ. เบิกความว่า สำหรับการวางกำลังจะมีทั้งทหารและตำรวจ อนุญาตให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ปืนเล็กยาวประจำกายและปืนพกได้ และอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง แต่ได้กำชับให้ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังอย่างเคร่งครัด พร้อมเน้นย้ำว่าต้องใช้เพื่อป้องกันตนเอง และผู้ที่อยู่ในความคุ้มครองเท่านั้น การใช้อาวุธต้องไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต โดยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปฝึกซ้อมการยิงปืนลูกซองให้เล็งต่ำกว่าระดับหัวเข่าลงไป 

ในรายงาน "ศอฉ." ไม่มีเจ็บตาย

อดีต ผอ.ศอฉ. เบิกความต่อว่า จากนั้นจึงมีคำสั่งให้ตัดน้ำตัดไฟ เพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ได้รับความสะดวกสบาย และสลายการชุมนุมไปเอง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2553 เป็นต้นมา มีการใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 และปืนเล็กยาวโจมตีด่านของเจ้าหน้าที่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งพยานจะได้รับการรายงานในที่ประชุมของ ศอฉ. ที่อยู่ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ในตอนเช้าและตอนเย็นของทุกวัน แต่ไม่ได้รับรายงานการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
พยานเบิกความในตอนท้ายด้วยว่า เพิ่งมา ทราบเรื่องจากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข และจากสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการอำนวยการสอบสวนชันสูตร ที่ตั้งโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนการตายของนายชาญณรงค์นั้น พยานเพิ่งทราบหลังจากดีเอสไอสรุปสำนวนว่ามีผู้เสียชีวิต 13 ราย ที่น่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก่อนส่งสำนวนไปให้คณะกรรมการอำนวยการสอบสวนชันสูตร เพื่อชันสูตรพลิกศพ และยื่นเรื่องให้ศาลไต่สวนหาสาเหตุการตายต่อไป ส่วนในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้น พยานได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนกับบุคคลที่กระทำการต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนเท่านั้น 

"ณัฐวุฒิ" ยันผู้ชุมนุมไร้อาวุธ

จากนั้นนายณัฐวุฒิขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า นปช. ชุมนุมใหญ่ในเดือน มี.ค. 2553 โดยมีประชาชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่าแสนคน เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกฯ ในขณะนั้น ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงต้นเดือน เม.ย. 2553 เพิ่มเวทีการชุมนุมที่ราชประสงค์ เนื่องจากรัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง กระทั่งวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตัดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พีเพิล แชนแนล กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเดินทางไปเรียกร้องให้ต่อสัญญาณที่สถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และปะทะกับเจ้าหน้าที่
พยานเบิกความว่า การชุมนุมทั้งก่อนและหลังประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เพราะมีการตั้งจุดตรวจค้นอาวุธก่อนเข้าร่วมชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีตำรวจร่วมกับอาสาสมัครของกลุ่ม นปช. ไม่พบว่ามีการพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 2553 รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือเข้ามาสลายการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน มีทั้งปืนเอ็ม 16 ลูกซองยาว รถหุ้มเกราะ และเฮลิคอปเตอร์โยนแก๊สน้ำตาลงบนเวทีและบริเวณที่ชุมนุม ขณะนั้นก็ไม่เห็นว่ามีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และปัจจุบันก็ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันตัวตนของกลุ่มคนดังกล่าว 

ย้ำ ศอฉ. ไม่ทำตามหลักสากล

แกนนำ นปช. เบิกความต่อว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ภายใต้การกำกับของ ศอฉ. ไม่ตรงไปตามกฎการใช้กำลังสากล อาทิ การใช้เฮลิคอปเตอร์โยนแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม การสลายการชุมนุมในเวลากลางคืน และการใช้อาวุธปืนติดลำกล้องซุ่มอยู่ตามที่สูง ที่พยานเชื่อว่ามีการใช้พลซุ่มยิงนั้น เพราะผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตส่วนมากถูกยิงที่ศีรษะ และอวัยวะสำคัญอย่างแม่นยำ ซึ่งไม่มีรัฐบาลใดในโลกใช้พลซุ่มยิงออกมาจัดการกับผู้ชุมนุม เมื่อมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น พยานจึงประกาศยุบเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ และมารวมตัวกันที่ราชประสงค์
พยานเบิกความว่า ต่อมาวันที่ 14 พ.ค. 2553 รัฐบาลวางกำลังปิดทางเข้าออกพื้นที่การชุมนุม ตัดน้ำตัดไฟ และประชาชนที่ต้องการมาร่วมชุมนุมก็ไม่สามารถเข้ามาได้ และมีรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ว่ามีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตมากขึ้นในแต่ละจุด พยานจึงส่งคนไปดูแลประชาชนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุม แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ยิงสกัด อีกทั้งตลอดการชุมนุมนั้น มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 100 คน ที่สามารถเคลื่อนที่ทำข่าวได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีการพกพาอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุม 

ศาลนัด 26 พ.ย. ฟังคำสั่งคดี

นายณัฐวุฒิเบิกความอีกว่า กระทั่งวันที่ 19 พ.ค. 2553 รัฐบาลใช้รถหุ้มเกราะเข้าผลักดันแนวป้องกันของผู้ชุมนุมที่ทำด้วยไม้ไผ่ ขณะนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นโดยรอบพื้นที่การชุมนุมตลอดเวลา ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียไปมากกว่านี้ พยานและแกนนำนปช.จึงตกลงประกาศยุติการชุมนุมบนเวที ในเวลาประมาณ 15.00 น. เนื่องจากทหารพร้อมอาวุธสงครามเคลื่อนเข้ามาประชิดพื้นที่การชุมนุม พยานก็ประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินไปขึ้นรถที่สนามศุภชลาศัย เนื่องจากรัฐบาลบอกว่าเตรียมรถไปส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา ก่อนที่พยานและแกนนำนปช.จะเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นทราบว่าผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินไปขึ้นรถที่สนามศุภฯ ได้ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ยิงสกัดไว้ ผู้ชุมนุมจึงเข้าไปหลบอยู่ภายในวัดปทุมวนาราม โดยพยานทราบเรื่องการตายของนายชาญณรงค์ในภายหลัง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่การชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. และ พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ซึ่งปัจจุบันเลื่อนขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ไม่ได้มาเบิกความ โดย พล.ต.กัมปนาท ชี้แจงว่าติดภารกิจอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่สามารถมาเบิกความได้ ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทนายความญาติผู้ตายและภรรยาผู้ตายไม่ติดใจที่จะไต่สวนพยานเพิ่มเติม ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 26 พ.ย. เวลา 09.00 น. 

ไต่สวนคดี "ลุงบุญมี" บ่อนไก่

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 68 ปี ถูกยิงหน้าร้านอาหารระเบียงทอง ย่านบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 และเสียชีวิตในอีก 2 เดือนต่อมา โดยพนักงานอัยการนำพยานขึ้นเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.นพสิทธิ์ อัครนพหงส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน พ.ต.ท.วัชรัตน์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจสอบที่เกิด เหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และนายธนพร วงษ์ณรัตน์ ประจักษ์พยาน
พ.ต.ท.นพสิทธิ์ เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2554 บก.น.5 มีหนังสือนำส่งของกลางถึงกองพิสูจน์หลักฐานกลาง พร้อมลูกกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากตัวผู้ตาย ซึ่งกระสุนปืนขนาดดังกล่าว ใช้ในทางราชการเท่านั้น ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้บุคคลทั่วไปได้ ส่วนปืนเอ็ม 16 ขนาด .223 จำนวน 40 กระบอก ที่ส่งมานั้น พยานได้รับมอบหมายให้ตรวจ 5 กระบอก ไม่มีอาวุธปืนกระบอกใดตรงกับกระสุนที่ยิงใส่ผู้ตาย แต่อาวุธปืนเอ็ม 16 สามารถถอดเปลี่ยนลำกล้องได้ 

พยานชี้กระสุนจากฝั่ง จนท.

ส่วน พ.ต.ท.วัชรัตน์ เบิกความโดยสรุปว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบร่องรอยกระสุนปืนขนาด .223 และกระสุนปืนชนิดลูกปรายหน้าบ้านประชาชน ราวบันไดสะพานลอย และตู้โทรศัพท์ใกล้กับที่นายบุญมีถูกยิง การตรวจแนววิถีกระสุนตามหลักวิทยาศาสตร์ คาดว่าลูกกระสุนถูกยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ส่วนการตรวจฝั่งเจ้าหน้าที่นั้น ไม่พบร่องรอยกระสุนจากทางผู้ชุมนุมแต่อย่างใด พยานได้ถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุไว้ และจะมอบให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณาคดี
ขณะที่นายธนพรเบิกความว่า พยานจะเข้าไปร่วมชุมนุมที่ย่านบ่อนไก่ ขณะยืนอยู่ที่ปากซอยงามดูพลี เห็นเจ้าหน้าที่ถืออาวุธปืนยาว จึงตะโกนบอกผู้ชุมนุมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามให้หลบเข้าไปในซอย เมื่อเจ้าหน้าที่เดินมาถึงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. ก็มีชายสูงวัย รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน จึงตะโกนให้หลบเข้าไปในซอย แล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้น ชายคนดังกล่าวถูกยิงล้มลงข้างตู้โทรศัพท์ จึงวิ่งข้ามถนนไปช่วย มีเลือดไหลออกจากหน้าท้อง สักพักมีชาวบ้านวิ่งมาช่วย ขณะจะนำร่างขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้าง มีเจ้าหน้าที่บอกว่า "เลือดออกมากขนาดนี้ คงไม่รอดหรอก เดี๋ยวจะนำไปส่งโรงพยาบาลให้" แต่พยานไม่ยอมจึงรีบนำร่างขึ้นรถไปส่งที่โรงพยาบาล แล้ววิ่งกลับมาในซอยงามดูพลีอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 14 พ.ย. โดยจะนำนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ. เข้าเบิกความในเวลา 13.30 น.