นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐไทยกับความรุนแรง (1)

มติชน 22 ตุลาคม 2555 >>>




ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า รัฐไทยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการปกครองอย่างมาก กระทำทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ ผลประโยชน์และอำนาจนั้นฝังตัวอยู่ในระบบกฎหมาย และการจัดการทางสังคม จนเกิดเป็น "ระเบียบ" ที่ทุกฝ่ายยอมรับหรือต้องยอมรับ (และดังที่นักวิชาการบางท่านกล่าวไว้ แม้แต่การปฏิวัติของผู้ไร้อำนาจ ก็จำเป็นต้องใช้ "ระเบียบ" นี้เป็นเครื่องมือต่อสู้)
แต่จะเปรียบรัฐไทยกับอาณาจักรไรช์ที่สาม, โซเวียต หรือจีนสมัยเหมาไม่ได้ เพราะรัฐไทยอ่อนแออย่างยิ่ง หรือพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ ผู้ถืออำนาจปกครองรัฐไทยอ่อนแออย่างยิ่ง อ่อนแอเสียจนไม่สามารถหาเครื่องมืออื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าได้ ความรุนแรงที่ใช้เป็นเครื่องมือปกครองเกิดขึ้นเพราะเป็นเครื่องมืออย่างเดียวที่มีอยู่
ความอ่อนแอนี้มาจากเหตุสองอย่าง ประการแรกก็คือกลุ่มชนชั้นนำประกอบด้วยหลายกลุ่ม โดยแทบไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจพอจะกำกับกลุ่มอื่นได้อย่างเด็ดขาด ประการที่สองก็คือ ชนชั้นนำทุกกลุ่มไม่มีสายสัมพันธ์แผ่ลงไปถึงมวลชนระดับล่างอย่างแนบแน่นเลยสักกลุ่มเดียว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือทุกกลุ่มไม่มีฐานทางสังคม (รวมแม้แต่พรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ มีนักการเมืองจากพรรคอื่นได้รับเลือกตั้งในบางเขตของภาคใต้ตลอดมา)
ขอไม่กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐในทางอ้อม และใช้ในที่ลับ ซึ่งรัฐไทยใช้อยู่เป็นประจำ แต่จะกล่าวถึงการใช้ความรุนแรงในที่แจ้ง 4 ครั้ง คือ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด และความรุนแรงภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความอ่อนแอของชนชั้นนำไทย นำไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจอย่างไร
14 ตุลามักพาให้นึกถึงบทบาทเด่นของนิสิตนักศึกษา แต่ที่จริงแล้วมีคนอื่นเข้ามาร่วมในการต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาสอีกมาก โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เห็นได้มาเป็นปีก่อน พ.ศ. 2516 แม้แต่แรงกดดันมิให้จอมพลประภาสได้ต่ออายุในฐานะ ผบ.ทบ. จนในที่สุดต้องตั้ง พลเอกกฤษณ์ สีห์วรา ขึ้นดำรงตำแหน่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อต้านในกองทัพบก การสนับสนุนต่อระบอบปกครองจากสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อันตรธานไปให้รู้เห็นได้มาก่อนหน้าเป็นปีแล้วเช่นกัน เทคโนแครตในราชการถอนความภักดีต่อระบอบ นักการเมืองแม้แต่ในพรรคสหประชาไทยเองก็ถอนการสนับสนุน (จนเป็นเหตุให้ต้องยึดอำนาจตัวเองใน 2514) กำลังส่วนใหญ่ในกองทัพบกปฏิเสธที่จะเข้าร่วมปราบปรามนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม 2516
ในภาวะที่ทุกฝ่ายจ้องจะล้มกันเองนี้ ยังมีอีกบางฝ่ายที่ยืนคอยดูอยู่บนรั้ว และพร้อมจะกระโดดไปร่วมกับฝ่ายชนะ ในภาวะที่ล่อแหลมเช่นนี้เอง ที่ฝ่ายถนอม-ประภาสต้องจัดการกับนิสิตนักศึกษาอย่างรีบด่วน เพราะเวลาแห่งความอึมครึมเป็นอันตรายต่ออำนาจของตนเป็นอย่างยิ่ง เขายิงนิสิตนักศึกษาเพื่อเผด็จอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำ (หากเขาชนะ กลุ่มที่ยืนคอยอยู่บนรั้ว ก็จะกระโดดมาร่วมกับฝ่ายเขา)
แม้จะถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดในกลุ่มชนชั้นนำ เข้มแข็งพอจะบีบให้ถนอม-ประภาสยุติอำนาจของตนเองได้ ฝ่ายต่อต้านจึงหันไปสนับสนุนกลุ่มคนชั้นกลางคอปกขาวเป็นหัวหอกในการล้มระบอบเผด็จการนี้ (ซึ่งยิ่งทำให้องค์ประกอบของชนชั้นนำซับซ้อนขึ้น เพราะต้องผนวกเอากลุ่มคนชั้นกลางคอปกขาวเข้าไปด้วย โดยไม่มีฝ่ายใดมีกำลังพอจะกำกับชนชั้นนำได้เหมือนเดิม)
6 ตุลา ก็เช่นเดียวกัน ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ขบวนการนิสิตนักศึกษา (ซึ่งเรียกว่าคนชั้นกลางคอปกขาวก็พอได้ อันเป็นกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของชนชั้นนำไทย) กระทำการสองอย่างที่ขัดกับการจัดอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำ หนึ่งคือพยายามเป็นผู้กำหนดนโยบายหลัก (ความสัมพันธ์กับสหรัฐ, ที่ดิน และกรรมกร เป็นต้น) ทั้งนี้ โดยไม่มีการเจรจาประนีประนอมกับชนชั้นนำกลุ่มอื่น และสอง นิสิตนักศึกษาเสริมอำนาจและบทบาทของตนเอง ด้วยการประสานกับความเคลื่อนไหวของชาวนาและกรรมกร หากปล่อยไว้นาน จะกลายเป็นชนชั้นนำกลุ่มเดียวที่มีฐานทางสังคม ซึ่งน่ากลัวเพราะไม่ประนีประนอมดังกล่าวในข้อแรก ซ้ำยังมีความแข็งแกร่งจนกลุ่มอื่นต่อรองได้ยาก ก่อนหน้านี้ฝ่ายเดียวของชนชั้นนำที่มีฐานทางสังคม เพราะเชื่อมโยงไปถึงมวลชนระดับล่าง (เชื่อมโยงทางกิจกรรม ไม่ใช่ทางนโยบาย) คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่น่ากลัวแก่ชนชั้นนำกลุ่มอื่น เพราะการรับรองจากสถาบัน ย่อมสร้างความเป็นธรรมให้แก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนได้กว้างขวาง
ฉะนั้น เป้าหมายหลักของชนชั้นนำทุกกลุ่มอาจตรงกัน คือทำลายขบวนการนิสิตนักศึกษาลงเสีย เพื่อให้คนชั้นกลางคอปกขาวต้องต่อรองบนเวทีแคบๆ แบบเดิมซึ่งชนชั้นนำกลุ่มอื่นครอบงำอยู่ แต่วิธีการที่จะทำลายดูเหมือนไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษาถูกทำลายลง จะเกิดช่องว่างทางการเมืองอันใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การสถาปนาระบอบถนอม-ประภาส (หรือในชื่ออื่น) กลับมาใหม่ เพราะนั่นคือระบอบที่หลายฝ่ายต่อต้านอย่างออกหน้ามาแล้ว
ทุกฝ่ายจึงอยากชิงลงมือ และรีบเข้ากุมสถานการณ์หลังจากนั้นเอง การล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์และการสังหารหมู่กลางเมืองจึงเกิดขึ้น บางส่วนของกองทัพ, บางส่วนของตำรวจ, บางส่วนของกลุ่มสถาบันนิยม, บางส่วนของทุน, บางส่วนของนักการเมือง ฯลฯ ล้วนมีส่วนร่วมอยู่ในความป่าเถื่อนในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งสิ้น มากเสียจนไม่มีทางลงเอยด้วยการเถลิงอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ในที่สุดกองทัพซึ่งพร้อมที่สุดก็เข้ายึดอำนาจ แต่กองทัพเองก็แตกแยกภายในอย่างหนัก จึงต้องประสานและประนีประนอมกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งทั้งมีและไม่มีบทบาทในความป่าเถื่อนซึ่งเกิดขึ้นตลอดมาทั้งวัน
ในที่สุดก็ได้นายกฯพลเรือนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำบางกลุ่ม แต่กองทัพก็รับนายกฯผู้นี้ไม่ไหวในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ประสานกับความไม่พอใจของชนชั้นนำอีกหลายฝ่าย กองทัพสามารถขจัดนายกฯพลเรือนผู้นี้ไป ท่ามกลางความไม่พอใจและต่อต้านของชนชั้นนำอีกบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ถือว่าการยึดอำนาจของกองทัพใน พ.ศ. 2520 เป็นไปได้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่ผลักให้ต้องใช้ความรุนแรง ความขัดแย้งในระดับชนชั้นนำ เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาต้าอ้วยกันในภายหลัง
เหตุการณ์พฤษภามหาโหดใน พ.ศ. 2535 ก็เกิดจากความอ่อนแอของชนชั้นนำเช่นเดียวกัน คณะ รสช. ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำหลายกลุ่มพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ด้วยความพร้อมเพรียงนัก อย่างน้อยคนชั้นกลางคอปกขาวไม่ต้องการกลับไปสู่การเมืองภายใต้การนำของกองทัพอีก ถึงนักธุรกิจต่างจังหวัดที่อยู่ในวงการเมืองจะยอมรับการนำของคณะทหาร แต่ก็รู้ว่าอำนาจและบทบาทของตนถูกลิดรอนไปมาก
การประท้วงของคนชั้นกลางคอปกขาว จะดำเนินไปเนิ่นนานนักไม่ได้ เพราะจะทำให้กลุ่มชนชั้นนำอื่นซึ่งบางกลุ่มเข้าร่วมอย่างลังเลถอนตัวออกไปได้ ดังนั้นผู้นำ รสช. จึงตัดสินใจใช้ความรุนแรง โดยอาศัยหน่วยกำลังจากส่วนที่ตนไว้วางใจได้ในกองทัพ หากความรุนแรงสัมฤทธิผล ทุกกลุ่มจะต้องยอมรับอำนาจของ รสช.อย่างแน่นอน และแม้ว่าความรุนแรงสามารถขจัดการชุมนุมของคนชั้นกลางคอปกขาวในถนนราชดำเนินลงได้ แต่กลับมีกลุ่มคนชั้นกลางคอปกขาวรวมตัวกันประท้วงในที่อื่นอีก เห็นได้ชัดว่าการต่อสู้กำลังจะยืดเยื้อ กลุ่มที่เคยสนับสนุน รสช. และกลุ่มที่จำยอมต้องรับอำนาจ เริ่มกลับลำ (เช่น นักการเมืองในสภาลงมติจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง)
ในที่สุด รสช. ก็ถูกทิ้ง เพื่อรักษาส่วนอื่นๆ ของชนชั้นนำไว้ แต่ความรุนแรงได้เกิดไปแล้ว และเป็นส่วนที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะที่ ไม่มีกลุ่มใดในชนชั้นนำที่สามารถสร้างเอกภาพ ดึงทุกกลุ่มให้ร่วมอยู่ในแนวทางเดียวกันได้
รัฐบาลประชาธิปัตย์ใน พ.ศ. 2552 และ 2553 ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือกลุ่มชนชั้นนำแตกแยกกันอย่างหนัก ไม่แต่เพียงแตกแยกระหว่างกลุ่มเท่านั้น แม้ในกลุ่มเดียวกันก็ยังมีความแตกแยกกัน ในกองทัพ, ในหมู่นักธุรกิจ, ชนชั้นนำตามจารีต, นักการเมือง (แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์เอง) ฯลฯ การใช้ความรุนแรงเป็นการตัดสินใจของชนชั้นนำบางกลุ่ม ที่ร่วมมือกันเพื่อกีดกันชนชั้นนำกลุ่มอื่น มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐดังต่อไปนี้
1. ไม่มีการใช้ความรุนแรงครั้งใดที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่กลุ่มใดในบรรดาชนชั้นนำ ในทางตรงกันข้าม สองครั้งในสี่ครั้งทำให้กลุ่มชนชั้นนำที่ยึดกุมอำนาจรัฐกลับสิ้นสลายไปทันที ส่วนอีกสองครั้งอาจเป็นชัยชนะใน "การรบ" แต่ไม่ใช่ชัยชนะใน "สงคราม"
หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา สถานการณ์ความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งชนชั้นนำถือครองอยู่) ยิ่งเลวร้ายลง ไม่เคยมีครั้งใดที่ พคท.จะสามารถเชื่อมโยงกับคนชั้นกลางคอปกขาวได้กว้างขวางเท่านี้มาก่อน การสู้รบตามพื้นที่ชายขอบยิ่งรุนแรงขึ้น ในเขตเมืองความอึมครึมแผ่ไปทั่ว เพราะความไม่ไว้วางใจกัน ความแตกร้าวในกลุ่มต่างๆ ของชนชั้นนำไม่ได้บรรเทาลง แม้แต่บางส่วนของกองทัพก็พยายามทำรัฐประหารอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จนในที่สุดรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทันทีหลังจากกองทัพสามารถโค่นล้มเผด็จการพลเรือนที่ไร้เดียงสาที่สุดลงได้ กลุ่มเดียวที่สามารถเกาะเกี่ยวความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลัง 6 ตุลาได้ คือ จปร. รุ่น 7 ซึ่งแม้อาจมีส่วนร่วมในความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่กลับเป็นหนึ่งในหัวหอกที่เปลี่ยนกลุ่มไปร่วมกับฝ่ายที่โค่นล้มเผด็จการพลเรือน
หลังการล้อมปราบอย่างป่าเถื่อนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภามหาโหด สถานะทางการเมืองของประชาธิปัตย์กลับยิ่งอ่อนแอลง การสนับสนุนที่เคยได้จากสหรัฐหลังการใช้ความรุนแรงในเดือนเมษา 2552 หายไป ภายในประเทศ กลุ่มคนชั้นกลางคอปกขาวซึ่งเป็นฐานสนับสนุนแก่พรรคยิ่งแตกแยกกันหนักขึ้น นโยบายประชานิยมไม่ส่งผลเป็นคะแนนเสียงทางการเมือง ในที่สุดก็ต้องยอมยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ความแตกร้าวมากขึ้นปรากฏให้เห็นในกลุ่มต่างๆ ของชนชั้นนำทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มข้าราชการพลเรือน, ทหาร หรือแม้แต่ในวงการกระบวนการยุติธรรม
อันที่จริง ในโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำไทยซึ่งมีกลุ่มต่างๆ คานอำนาจกันอย่างสลับซับซ้อน แต่ไม่มีภาวะการนำ (ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, อุดมการณ์, วัฒนธรรม ฯลฯ) อย่างชัดเจนนักเช่นนี้ การประสานความร่วมมือต้องผ่านการประนีประนอมและต่อรองเท่านั้น การใช้ความรุนแรงเป็นสัญญาณให้เห็นความอ่อนแอของกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจรัฐ แสดงให้เห็นว่าไม่มีพลังในการต่อรองกับกลุ่มอื่นด้วยวิธีปกติธรรมดาได้ อีกทั้งยังเป็นสัญญาณว่ากลุ่มนั้นอาจจะใช้วิธีกินรวบแทนการกินแบ่งอย่างเคย จึงยิ่งทำให้ความแตกร้าวระหว่างกันของชนชั้นนำยิ่งสูงขึ้น
ปัญหามาอยู่ที่ว่า ทั้งความจริงและบทเรียนของการใช้ความรุนแรงก็เห็นได้ชัดเจนดังนี้ เหตุใดชนชั้นนำบางกลุ่มจึงเลือกใช้วิธีนี้ในการชิงอำนาจและผลประโยชน์ คำตอบก็เป็นดังที่กล่าวมาแต่ต้น นั่นคือสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเฉพาะหน้าและที่สะสมมา ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น (นอกจากยอมสละอำนาจและผลประโยชน์ของตน) เหลือไพ่ใบสุดท้ายซึ่งไม่ทิ้งก็ไม่ได้ ทิ้งก็ไม่ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ
2. เครื่องมือของความรุนแรงทั้งสี่ครั้ง กองทัพหรือบางส่วนของกองทัพมีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงทั้งสิ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้จะขอยกไปกล่าวครั้งหน้า