เสวนานิติราษฏร์: การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ

ประชาไท 1 ตุลาคม 2555 >>>


30 ก.ย. 55 นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ร่วมเสวนาหัวข้อ “การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ธีระ สุธีวรางกูร กล่าวในช่วงเกริ่นนำว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารเฉลี่ย 3-4 ปีต่อครั้ง และการรัฐประหารทุกครั้งจะนำมาซึ่งเรื่องใหม่ๆ ทางกฎหมาย ทั้งการมีองค์กรและกฎเกณฑ์ใหม่ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ
การรัฐประหาร 2549 เป็นสาเหตุของการกำเนิดขึ้นของนิติราษฎร์ซึ่งมีข้อเสนอออกมานับตั้งแต่มีการรวมกลุ่ม และมีหลายข้อเสนอที่ก่อให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะค่อนข้างมาก นั่นคือการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร
นอกจากนี้ คือเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยที่นำมาซึ่งการจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แต่ระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์นี้แกว่งไกวมาตลอดแล้วแต่สถานการณ์ แต่ระหว่างการจัดความสัมพันธ์นี้ สิ่งที่เห็นคือ จะมีบรรดานักนิติศาสตร์ที่ทำหน้าที่อธิบายความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นการเทิดพระเกียรติและอำนาจของสถาบันฯ แต่ข้อเท็จจริงนั้น ก่อนการรัฐประหาร 2549 ในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวุ่นวาย กลไกที่ทำหน้าที่หลักในบ้านเมืองตอนนั้นคือสถาบันตุลาการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญค่อนข้างมากในช่วงที่กำลังจะมีการรัฐประหาร
บทบาทสำคัญอีกประการคือ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2549 เรื่องปัญหาการเลือกตั้ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เลือกตั้งใหม่ และต้องเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่คณะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติไม่เลือกโดยอ้างพระราชอำนาจ ตามหนังสือที่ประธานศาลฎีกาเวียนไประบุเหตุที่มีกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยตรงทางตุลาการผ่านพระราชดำรัสวันที่ 25 เม.ย. 2549 เมื่อมีพระราชดำรัสเช่นนั้นการที่ศาลฎีกาไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ธีระกล่าวต่อว่า ที่อ้างมานี้ เพื่อให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ถูกนำมาอ้างอิงเสมอไม่ว่าจากศาลหรือใครก็ตาม และ 30 ปีที่ผ่านมา ก็มีคำอธิบายทางนิติศาสตร์มากในเรื่องพระราชอำนาจและอำนาจอธิปไตย เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามและหาคำตอบ
สุดท้าย สิ่งที่ต้องรำลึกเสมอคือ แม้ว่าปัจจุบันมีการรัฐประหารค่อนข้างยาก แต่การรัฐประหารแบบคลาสสิกคือการใช้รถถังก็ยังมีอยู่ ก่อนหน้านั้นเราไม่มีองค์ความรู้ในการป้องกันหรือแก้ไขการรัฐประหารเลย
ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงการสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบุว่าอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ยุค คือ หนึ่ง ยุคอภิวัฒน์สยามกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม
ในช่วงนี้มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลานั้นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบคณะราษฎรได้ผลิตตำราจำนวนมากเพื่อประกอบการสอน ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม มีเรื่องการแบ่งอำนาจ กษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิดเพราะกษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย ตำราของนักกฎหมายสายคณะราษฎรจะเดินทางนี้
แต่อีกปีกหนึ่งที่เติบโตและรับราชการในราชสำนักในระบอบเก่าก็พยายามอธิบาย แต่ไม่ได้โต้กับคณะราษฎรโดยตรง เพียงพยายามอธิบายว่าระบอบเก่ากับระบอบใหม่สามารถเชื่อมโยงกันได้
ปี 2492 สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การฟื้นฟูอำนาจกษัตริย์ก็เกิดอย่างต่อเนื่องและภายใต้ระบอบเผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญแบบสมัยใหม่ แต่เป็นการปลูกฝังอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเข้าไปผ่านระบอบเผด็จการ
ต่อมายุคประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา 16 รัฐไทยไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่ายุคสมัยปัจจุบันต้องปกครองแบบประชาธิปไตย แต่จะทำอย่างไรให้มีจิตวิญญาณกษัตริย์นิยมสถิตอยู่ ก็มีการผลิตคำอธิบายเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่เหนือการเมือง แต่มีกติกาพระราชอำนาจบางประการและไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง ส่วนปี 2475 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางระบอบอย่างยิ่งใหญ่ แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจไปใช้ในทางที่ผิดและก่อให้เกิดรัฐประหารซ้ำไปซ้ำมา และ 2475 เป็นกรณีกษัตริย์พระราชทานอำนาจโดยพระองค์เอง
นักกฎหมายสายนี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตความคิด หากพิจารณาปีเกิดของนักกฎหมายสองกลุ่มจะพบว่าสายคณะราษฎร เกิดในช่วงปี 2443-2453 ศึกษากฎหมายในระบอบเก่าแล้วต่อมาได้ไปศึกษากฎหมายระหว่างประเทศในภาคพื้นยุโรป
ในขณะที่นักกฎหมายชุดหลังเกิดช่วงปี 2490-2500 เติบโตช่วงทศวรรษ 2510 เป็นช่วงระบอบเผด็จการเฟื่องฟู ฟื้นฟูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม การศึกษาในมหาวิทยาลัยจะไม่ผูกพันกับคณะราษฎร แล้วก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศ จากนั้นกลับมาทำงานให้ระบอบที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยมสร้างสำเร็จ คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นักกฎหมายที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตเรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็คือวิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
บวรศักดิ์แสดงจุดยืนว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ โดยวิจารณ์ว่าสถาบันของอังกฤษเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติ แต่สถาบันกษัตริย์ของไทยนั้นเป็นศูนย์รวมอย่างแท้จริง
ใน "กฎหมายมหาชน" เล่ม 2 บท 7 ความต่อเนื่องในกฎหมายมหาชนไทย ขยายความว่า ความเป็นรัฐชาติมีอยู่เพราะคนมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเชื่อมโยงความเป็นรัฐชาติเอาไว้ เคียงคู่สังคมไทยมาตลอดตั้งแต่โบราณ เป็นสถาบันเดียวที่แสดงให้เห็นความต่อเนื่องของไทย นักกฎหมายสายนี้ได้สร้างคำอธิบายที่น่าสนใจและครอบงำแวดวงนิติศาสตร์
ประเด็นที่ 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ร่วมกับประชาชน โดยบวรศักดิ์สร้างทฤษฎีว่า ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์และประชาชน ด้วยเหตุผลทางประเพณีวัฒนธรรมที่สั่งสมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกษัตริย์และประชาชน และเหตุผลทางนิติศาสตร์ที่แต่ไหนแต่ไรมาอำนาจอธิปไตยอยู่ที่กษัตริย์ แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้พระราชทานอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ลดตัวเองลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังใช้อำนาจแทนประชาชน
ความเห็นนี้อาจจะวิจารณ์ได้สองลักษณะ ลักษณะแรก วันที่ 24-26 มิ.ย. 2475 อำนาจสูงสุดอยู่ที่คณะผู้รักษาพระนครแล้วปล่อยให้กับประชาชน วันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยเขียนว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร การอ้างว่าอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์นั้นไม่ถูกต้อง
พระปกเกล้าเป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่คณะราษฎรให้เกียรติไปถามท่านว่ายังยินยอมกลับมาเป็นกษัตริย์หรือไม่ ถ้าไม่ตกลงจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ไทยจึงเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้นกษัตริย์กลายเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่ง เหมือนสถาบันการเมืองอื่นๆ โดยวางให้เป็นประมุขของรัฐ
แต่ก็มีคำโต้แย้งว่า ทำไมต้องเอาธรรมนูญฉบับแรกไปให้พระปกเกล้าลงนาม แล้วทำไมต้องไปขอพระราชทานอภัยโทษ อธิบายได้ว่า ในประกาศคณะราษฎรก็แจ้งชัดแล้วว่า ให้ตอบว่าจะกลับมาเป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่หรือไม่ แสดงว่าพระปกเกล้ายอมเปลี่ยนตัวเองจาก อำนาจอัน “ล้นพ้น” มาอยู่ใต้ระบอบใหม่ ส่วนการขอขมานั้นเป็นธรรมเนียมแบบไทย เพื่อเดินหน้าสู่การปรองดองและอยู่ร่วมกันตามระบอบใหม่
   “ผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือการเริ่มต้นชีวิตของรัฐแบบใหม่ กษัตริย์คือตำแหน่งทางการเมืองที่ระบอบใหม่อนุญาตให้อยู่ต่อ” ปิยบุตร กล่าว
ลักษณะที่สอง ในสังคมการเมือง อำนาจถูกแย่งชิงเสมอ หากเราต้องการย้อนกลับไปหาความเป็นเจ้าของอำนาจ ท่านจะเจอประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอยู่ดี การอ้างว่าไม่อาจขาดกษัตริย์ได้เลย เป็นประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกับประชาชน นักวิชาการฝรั่งเศส กล่าวว่า เพราะอำนาจเป็นของประชาชนตลอดเวลา สภาวะที่กษัตริย์แย่งชิงอำนาจจากประชาชนนั้นก็ผิดโดยตัวเองอยู่แล้ว คำประกาศของคณะราษฎรนั้นก็ระบุเช่นกันว่า
   “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเสมอมา และเป็นตลอดกาล เพียงแต่บางช่วงบางตอนถูกแย่งชิงไป อย่างไรเสียวันหนึ่งประชาชนก็จะเอากลับคืนมาจนได้” ปิยบุตร กล่าว
เขากล่าวถึงประเด็นที่ 2 เรื่องสถาบันกษัตริย์กับการรัฐประหาร โดยยกตัวอย่างอิตาลีที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์มาสู่ประชาธิปไตยโดยมีการตกลงกันว่าจะไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป นับแต่นั้นสถาบันกษัตริย์ก็ปลาสนาการไปจากอิตาลี กรณีสเปน มีการตกลงกันแล้วให้กษัตริย์ลี้ภัย
สำหรับไทยนั้นมีการรัฐประหารหลายครั้ง ปัญหามีอยู่ว่าจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับคณะรัฐประหารอย่างไร แล้วเหตุใดต้องให้สถาบันกษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
เขายกว่า อ.บวรศักดิ์ อธิบายว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลง 2475 อำนาจอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ หลังจากนั้นพระราชทานอำนาจให้ประชาชน เมื่อมีการรัฐประหาร อำนาจอธิปไตยจึงกลับไปที่สถาบัน แต่การอธิบายเช่นนี้ แทนที่จะส่งผลดีกลับส่งผลร้ายต่อสถาบัน เพราะคนคิดต่อไปได้ว่ารัฐประหารไปเพื่ออะไร เพื่อใคร แทนที่จะอธิบายว่าคณะรัฐประหารทำกันเอง แล้วไปบังคับให้สถาบันฯ ลงนาม แต่พออธิบายเรื่องอำนาจย้อนกลับไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์แบบนี้เป็นผลร้ายต่อสถาบัน
ประเด็นที่ 3 ธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ บวรศักดิ์อธิบายว่าการอธิบายแบบอังกฤษ คือธรรมเนียมปฏิบัติ จริงๆ ว่ากันอย่างเคร่งครัด ธรรมเนียมกับจารีตนั้นต่างกัน ประเพณีทางรัฐธรรมนูญต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างสม่ำเสมอและขัดแย้งกับกฎหมายลายลักษณ์ไม่ได้
แต่บวรศักดิ์อธิบายอีกแบบเพื่อเพิ่มอำนาจสถาบันให้มากกว่าที่ปรากฏตามลายลักษณ์อักษร และยังอธิบายต่อไปด้วยว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้เปลี่ยนแปลงได้อีกตามพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์แต่ละพระองค์
การเปลี่ยนแปลง 2475 ทำให้พระราชอำนาจใดที่เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณไม่ว่าเรื่องจริงหรือถูกสร้าง ต้องถูกจัดวางใหม่ พระราชอำนาจมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับประชาธิปไตยตามระบอบใหม่ การเพิ่มพระราชอำนาจตามประเพณีโดยเฉพาะเพิ่มแล้วขัดต่อหลักประชาธิปไตยนั้นไม่ถูกต้อง
ทำไมจึงมีนักกฎหมายแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะเขาไม่เคยให้ความสำคัญกับ 24 มิ.ย. 2475 เลย เหตุการณ์นั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรอบใหม่ ระบอบเก่านั้นเชื่อมโยงมาตลอดไม่เคยถูกปรับเปลี่ยน และการศึกษาสายนิติศาสตร์บัณฑิตไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้
ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ไล่ย้อนไปถึงอยุธยา สุโขทัย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ การประยุกต์กฎหมายในสมัย ร.5 เพื่อความทันสมัย แล้วมาจบที่ ร.7 แทบไม่มีการกล่าวถึง 24 มิ.ย. 2475 ในฐานะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยกเลิกอำนาจล้นพ้นของสถาบันฯ ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้ทรงสิทธิ มีอำนาจ ไม่ขึ้นกับใคร มีอัตวินิจฉัย ฐานคิด 2475 ต้องการตีความกฎหมายตามระบอบใหม่ แต่เมื่อนักกฎหมายตีความและใช้กฎหมายตามระบอบเก่า การใช้และตีความจึงบิดเบี้ยวอย่างทุกวันนี้ เมื่อเราประกาศตัวเป็นนิติรัฐ กฎหมายเป็นใหญ่ นักกฎหมายจึงเป็นใหญ่ตาม บรรดานักกฎหมายจึงพยายามช่วงชิงว่าตัวเองเป็นผู้ผูกขาดการใช้ การตีความกฎหมาย ถ้าพูดกันเรื่อง 24 มิ.ย. 2475 ก็พูดนอกวง แต่ในวงนักกฎหมายเขาไม่พูดกัน
การปลุกฝังอุดมการณ์ของคณะราษฎรให้กลับไปสู่นักกฎหมายให้มากเป็นเรื่องสำคัญ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การออกแบบรัฐธรรมนูญ การอธิบายเรื่องนี้อาจจะดูล้าสมัยแต่จำเป็นสำหรับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ฝ่ายกษัตริย์นิยมเขาปรารถนาให้กลับไปใกล้เคียงกับระบอบราชาธิปไตยมากที่สุด เพราะการสู้แบบเปิดหน้าสู้หลัง 2475 นั้นเสี่ยงที่จะถูกทำลายไปเหมือนยุโรป จึงปรารถนาให้สังคมไทยกลับไปใกล้เคียงระบอบเก่ามากที่สุด แต่ตระหนักดีว่าในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นไปได้ยากเพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ก็เป็นเผด็จการแบบหนึ่ง ถ้าให้ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมพูดออกมาชัดเจนว่าให้เพิ่มพระราชอำนาจก็แลดูจะโง่เขลามากเกินไป สถานการณ์ไม่เอื้อให้ทำอย่างตรงไปตรงมา และไม่ต้องการให้สถาบันรับผิดชอบ ปัญญาชนจึงต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งต้องทำในรูป Norm ทำแบบลายลักษณ์ไม่ได้ เพราะจะเห็นชัด เขาจึงสร้างผ่านธรรมเนียมประเพณี ศาสนา เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจและบทบาทให้สถาบัน โดยเปิดทางด้วยว่าอำนาจเหล่านี้เปลี่ยนไปตามสมัย แล้วแต่บารมีของกษัตริย์แต่ละพระองค์
ปิยบุตรจบท้ายการอภิปรายโดยอ้างนักวิชาการกฎหายมหาชนฝรั่งเศสว่า “ความเก่าแก่ของกฎไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย หากจะมีการพิสูจน์ก็เพียงแต่ว่ากฎหมายนั้นเก่าแก่ เราอาศัยประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่กฎหมายของเรา”
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวถึงทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ถูกอธิบายมานานแล้ว ตั้งแต่พระองค์เจ้าธานีนิวัต แต่คำอธิบายเช่นนี้สมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด และมีปัญหาในตัวเองหรือเปล่า
ทฤษฎีนี้มาจากพระไตรปิฎกอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย สุตตันตปิฎก สาระสำคัญคือ ชนชั้นต่างๆ นั้นเป็นการกำเนิดขึ้นตามธรรมชาติของโลก จักรวาล และมวลมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมาในหมู่มนุษย์ซึ่งก่อปัญหาการคุกคามการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นความจำเป็นในการคัดเลือกบุคคลผู้หนึ่งขึ้นทำหน้าที่ใช้อำนาจปกครอง แต่พอเลือกแล้ว สถานะก็มีต่างๆ กันไป เช่น มหาชนสมมติ กษัตริย์ และราชา ซึ่งมหาชนสมมติเป็นกรณีที่ประชาชนมีมติร่วมกัน กษัตริย์คือผู้เป็นใหญ่ ราชาคือผู้ที่ทำให้เป็นที่พอใจแก่ผู้อื่น
ประเด็นสำคัญของอัคคัญญสูตร คือ เมื่อเกิดปัญหาก็มีการร่วมประชุมกัน “พวกเราจะสมมติผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ...ส่วนพวกเราจะเป็นผู้แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น”
สรุปประเด็นได้ว่า หนึ่งคือเรื่องราวในอัคคัญญสูตร สองคือประเด็นนี้ถูกนำมาอธิบายเป็นทฤษฎีที่เรียกว่าอเนกนิกรสโมสรสมมติ ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ประเด็นที่สาม “พวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น” ซึ่งหายไป ถูกเน้นเพียงประเด็นที่สอง แต่ประเด็นที่สาม เลือกแล้วน้อมศิโรราบหรือ เป็น “ข้อตกลง” ที่ผู้อยู่ใต้ปกครองไปทำหน้าที่ตามที่กำหนดแล้วผู้ถูกปกครองจะเลี้ยงดูด้วยข้าวสาลี
อย่างไรก็ตาม หลักอัคคัญญสูตรนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีมาก่อนผู้ปกครอง เหมือนน้ำมีอยู่ก่อนเรือ และผู้ปกครองขึ้นไปนั่งอยู่ได้เพราะได้รับมอบอำนาจ จึงมีภารกิจและความรับผิดชอบต่อผู้อยู่ใต้ปกครองแล้วถ้าไม่ทำหน้าที่นี้จะจำเป็นต้องให้ข้าวสาลีต่อไปหรือไม่ นักวิชาการที่เสนอประเด็น อเนกสิกรสโมสรสมมตินั้นอ่านพระสูตรไม่ครบหรือเปล่า