ทีมข่าว นปช.
6 ตุลาคม 2555
วานนี้ (14 ต.ค. 55) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ, พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา (บุตรชายพระยาพหล), วัฒน์ วรรลยางกูล, อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคนเสื้อแดงที่มีชื่อเสียงหลายคนร่วมงาน "79 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฎ" ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฎ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพ
งานเริ่มด้วยการกล่าวสดุดีวีรกรรมของทหาร-ตำรวจ 17 คนที่ต้องพลีชีพเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพียง 1 ปีเศษ แต่ถูกทหาร-ข้าราชการที่ฝักใฝ่อำมาตย์พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับไปเป็นเหมือนในอดีตอีกครั้ง
คณะทำงานฯยืนยันว่า ต่อไปนี้จะจัดงานรำลึกอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นประจำทุกปี พวกเราถูกทำให้หลงลืม โดยฝ่ายอำมาตย์พยายามเปลี่ยนชื่ออนุสาวรีย์จาก "ปราบกบฎ" เป็น "พิทักษ์ รธน." เพื่อให้ประชาชนลืมเลือนที่มา
อ.ธิดา เชื่อว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการวางพวงมาลาให้กับอนุสาวรีย์แห่งนี้ เพราะอนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกทำให้ลืมมาตลอด อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของทหาร-ตำรวจกล้า ซึ่งพลีชีพเพื่อปกป้อง รธน. ตนเองจึงต้องขอแสดงความขอบคุณต่อคณะทำงานที่ริเริ่มการจัดงานในวันนี้
กบฎบวรเดชเริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2476 หลังจากที่ ปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับจากต่างประเทศเพียง 10 วัน จึงถือเป็นการกบฎครั้งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากฝ่ายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายอำมาตย์ต้องพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาชน
หลายคนพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์แห่งนี้ ด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียกจาก "ปราบกบฎ" เป็น "พิทักษ์ รธน." ทุกวันนี้คงไม่มีการรัฐประหารด้วยอาวุธ เพราะฝ่ายอำมาตย์ได้ยึดกุมกลไกรัฐเอาไว้ เหตุการณ์ปี 53 เปรียบเสมือนการหมุนวงล้อประวัติศาสตร์กลับไปก่อนปี 2475
นอกจากนี้ วัฒน์ วรรลยางกูล ยังได้อ่านกลอนสดุดี เพื่อเป็นเกียรติ์แก่วีรชนเหล่านี้ และตัวแทนวงไฟเย็น ยังได้ร้องเพลงที่แต่งขึ้นเพื่องานสดุดีครั้งนี้โดนเฉพาะด้วย
หลังจากนั้นมีการนำพวงมาลาขึ้นไปวางที่หน้าอนุสาวรีย์ ตามมาด้วยประชาชนทยอยนำดอกกุหลาบสีแดงไปวางไว้ที่หน้าอนุสาวรีย์ ก่อนที่จะเดินข้ามถนนไปยังสวนหย่อมหน้าหมู่บ้านอัมรินทร์นิเวศน์ 1 เพื่อปราศรัยรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ 79 ปีที่ผ่านมา
อ.ธิดา กล่าวชมเชยประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ที่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์แห่งนี้ ทั้งที่อำมาตย์พยายามที่จะทำลายอนุสาวรีย์แห่งนี้
อัฐิของคณะราษฎรถูกบรรจุรวมกันอยู่ในช่องบรรจุอัฐิต่างๆเจดีย์ของวัดพระศรีมหาธาตุ แม้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาอาจจะต้องแยกออกจากกันทางความคิด จนเป็นเหตุให้ชัยชนะของพวกเขาต้องสิ้นสุดลงหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงกว่า 20 ปีก็ตาม คณะราษฎรต้องสูญสิ้นหลังจากปี 2500 อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็น "ชัยชนะ" ของประชาชน แต่เป็น "ความอัปยศ" ของฝ่ายอำมาตย์