ข้อหาฆ่า !?

ข่าวสด 6 ตุลาคม 2555 >>>


คืบไปอีกก้าวสำหรับคดีสลายม็อบแดง 98 ศพ  กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมหารือกับตำรวจ และอัยการ ถึงสำนวนการสอบสวนคดี นายพัน คำกอง แท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงตาย เพื่อตั้งเป็นคดีฆาตกรรม !?
เป็นผลต่อเนื่องจากคำสั่งของศาลอาญาที่ชี้ว่าการตายของ นายพัน คำกอง เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
โดย พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่จากเหตุการณ์ชุมนุม ปี 2553 จำนวน 98 ศพ ระบุชัดเจนว่า
   "หลังจากศาลมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นคดีฆาตกรรมโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสำนวนคดี เพื่อตั้งเป็นคดีฆาตกรรม"
ขั้นตอนต่อไปพนักงานสอบสวนก็ต้องสอบปากคำทหารที่ประจำการตรงจุดที่นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิต สอบให้ชัดเจนว่าวันเกิดเหตุได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร ใครเป็นคนสั่งการ ทำตามคำสั่งของ ศอฉ. อย่างไร แล้วเป็นเพราะเหตุใดที่มีผู้เสียชีวิต
เป็นการไล่สอบไปตามลำดับการบังคับบัญชาของทหาร เพื่อเป้าหมายคือ "ผู้สั่งการสูงสุด" ให้ทหารนำอาวุธสงครามเข้าปฏิบัติหน้าที่จนเกิดการเสียชีวิตขึ้น
คดีนายพัน คำกอง ถือเป็นคดีแรกที่ตั้งเป็นคดีฆาตกรรม มีอีกเกือบ 40 สำนวนที่มีการยื่นฟ้องว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่นับสำนวนคดี "พยายามฆ่า" ที่ต่อแถวเข้าคิวรออยู่อีกจำนวนมาก
ต้องไม่ลืมว่าจากเหตุการณ์สลายม็อบแดง 98 ศพนั้น มี ผู้บาดเจ็บถูกยิงเกือบ 2 พันราย บางรายทุพพลภาพ บางรายสูญเสียอวัยวะ
ฉะนั้น ผู้บาดเจ็บเหล่านี้ถือเป็นพยานปากสำคัญในคดีพยายามฆ่า มีความหนักแน่นกว่าพยานแวดล้อมทั้งหมด ทั้งคดีฆาตกรรมและคดีพยายามฆ่าจึงเป็นกลไกสำคัญ ในการเอาผิดผู้สั่งปราบปราบประชาชน