การประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา
ถือเป็นการแสดงสปิริตครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกใช้สถานที่วัดสระเกศโชว์ต่อมจริยธรรม แถลงสละเก้าอี้ใหญ่ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เมื่อวันที่ 28 ก.ย. มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นมา
ยุติปัญหาข้อกฎหมายจากปมคดีที่ดินอัลไพน์ ที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งไล่ออกจากราชการ
ตามการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงสมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวง
เท่ากับว่าภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ นายยงยุทธได้สลัดทุกตำแหน่งทุกหัวโขนออกจากตัวจนหมดสิ้น เหลือเพียงเก้าอี้สมาชิกพรรคเพื่อไทยไว้สำหรับเป็นใบเบิกทางเข้าร่วมกิจกรรมพรรคเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. และหัวหน้าพรรคครั้งล่าสุด เป็นคนละบรรยากาศและคนละอารมณ์กับการไขก๊อกในครั้งแรก
โดยครั้งแรกนั้น ต้องยอมรับว่าแรงบีบมาจากทั่วสารทิศ ทั้งภายใน ภายนอก รวมถึงนอกประเทศด้วย
โดยภายในพรรคเพื่อไทย หลายกลุ่มหลายก๊วนที่แม้บางคนจะไม่ค่อยกินเส้นกันด้วยซ้ำ ก็ทนยอมกัดฟันจูบปากกันชั่วคราว หันมาแท็กทีมรุมทึ้งเก้าอี้ "มท.1" ซึ่งเป็นตำแหน่งในฝันของนักการเมือง
เป้าหมายเพื่อให้มีการปรับ ครม. บีบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยุติเกมยื้อ หลังจากเคยส่งสัญญาณจะปรับ ครม. ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการกลับมาของตัวจริงจากบ้านเลขที่ 111
แต่นายกฯ ก็เลื่อนมาเรื่อยๆ ไม่แสดงทีท่าว่าจะปรับเสียที เพราะไม่อยากให้เกิดแรงกระเพื่อม และเห็นใจบรรดาตัวสำรองทั้งหลายในครม. ที่กอดคอทำงานร่วมกันมา 1 ปี อยากจะให้โอกาสทำงานต่อมากกว่า
ขณะที่ภายนอกพรรคเองก็เจอแรงบี้ขั้นเทพจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไล่จิกนายยงยุทธว่าขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 นำมาใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ เพราะไม่เคยรับโทษมาก่อน
แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ไม่ว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตลอดจนปลัดกระทรวงมหาดไทย
ยืนยันว่ากรณีนายยงยุทธซึ่งเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2545 อยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 และไม่มีผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน
แต่ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นำโดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รวมถึงแกนนำพรรคที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หารือกันแล้วชักเริ่มไม่มั่นใจในสถานะการดำรงตำแหน่งของนายยงยุทธ
ยิ่งได้ยินคำขู่จากพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะเอาผิดนายกฯ ด้วยตามมาตรา 157 ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากยังฝืนมอบหมายให้นายยงยุทธนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมครม.
แกนนำดังกล่าวจึงตัดสินใจ โทร. แจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งมีการปรับแผนให้นายยงยุทธเดินทางไปตรวจน้ำท่วม จ.ปราจีนบุรี แทน ป้องกัน ครม. ติดบ่วงความผิดกฎหมายยกชุด รัฐบาลโดนคว่ำทั้งกระดาน
ส่วนแรงบีบนอกประเทศนั้น อย่างที่รู้กันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ปลื้มนักกับการที่น้องสาวพยายามกระเตงคนใกล้ชิดตลอดเวลา ทั้งที่แต่ละคนมีปัญหาและผลงานก็ไม่เข้าตา
ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเสนอให้ปรับเก้าอี้ รมว.มหาดไทย แล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังยื้อ
ขนาดล่าสุดแม้นายยงยุทธจะประกาศลาออกจากเก้าอี้บริหาร ก็ยังไม่ตั้งคนใหม่ แต่ใช้วิธีการเกลี่ยงานและมอบหมายรัฐมนตรีคนอื่นมาดูแลแทน
สำหรับการโชว์สปิริตครั้งหลังไม่ได้เกิดจากแรงบีบการเมืองภายในแล้ว เพราะตำแหน่ง ส.ส. และหัวหน้าพรรคไม่ใช่ "เป้า" ของคนในพรรค
แต่เป็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมายล้วนๆ ภายหลังจากพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายยังตามจิกไม่เลิก ไม่ว่าการเข้าชื่อ 50 ส.ส. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. และ รมต. ของนายยงยุทธ
รวมถึงการจัดฉากของกลุ่มแดงเทียม ยื่นร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ กระทั่งนายยงยุทธต้องส่งคนชิงยื่นสอบตัวเองตัดหน้า
การไขก๊อกครั้งนี้แท้จริงแล้วก็เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ลามถึงพรรค สกัดไม่ให้มีการตีความคุณสมบัติ เพราะหาก กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายยงยุทธขาดคุณสมบัติ ส.ส. และหัวหน้าพรรค จะทำให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ต้นจนถึงเรื่องที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงรับเลือกตั้ง จะต้องมานั่งตีความกันอีกว่า เรื่องที่นายยงยุทธได้ทำมานั้นชอบหรือไม่
อีกทั้งหากยังทำหน้าที่ งานในส่วนของหัวหน้าพรรคก็จะสะดุดลงด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าจะเซ็นเอกสารสำคัญได้หรือไม่ โยงโทษยุบพรรคกันได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ตามการออกจาก ส.ส. ของนายยงยุทธ ทำให้นางมาลินี อินฉัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 71 เลื่อนขึ้นมาแทน
ขณะที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่พ้นไปนั้น ส่งผลให้กรรมการบริหารทั้ง 18 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่จะทำหน้าที่รักษาการจนกว่า กกต. รับรองผล
จากนั้นพรรคจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 60 วัน
โดยระหว่างนี้กรรมการบริหารพรรคจะเรียกประชุม เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่รักษาการแทนนายยงยุทธ
ในส่วนของ กกต. เองนั้น นางสดศรี สัตยธรรม ระบุถึงการยื่นสอบคุณสมบัติของนายยงยุทธว่า
ก่อนหน้านี้ได้รับคำร้อง ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และหัวหน้าพรรคของ นายยงยุทธรวม 3 คำร้อง
โดยในจำนวนนี้ คำร้องที่นายยงยุทธเป็นผู้ยื่นขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติตนเอง กกต. คงจะยุติการสอบสวน และสั่งจำหน่าย เพราะไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา
แต่ที่ผู้อื่นร้องขอให้ตรวจสอบนายยงยุทธ กกต.จะยังคงเดินหน้าตรวจสอบต่อไป เพราะมีการร้องให้ตรวจสอบในหลายกรณีนอกเหนือจากการเป็น ส.ส. และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เช่น การส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง และการยุบพรรค
"ดังนั้นไม่ใช่ว่าเมื่อนายยงยุทธประกาศลาออกจากการเป็นส.ส.และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ทุกเรื่องที่มีการร้องกกต.จะต้องสั่งจำหน่าย" นางสดศรี ชี้
ต้องลุ้นกันต่อว่าสปิริตทั้ง 2 ครั้ง พอจะหวังผลได้รึเปล่า ?